ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายใต้สถานการณ์ของการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แน่นอนว่ายังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องศึกษาและพิจารณาหาทางออกร่วมกันอย่างต่อเนื่อง แต่อีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่จะมีความสำคัญต่อการทำงานไม่แพ้กัน นั่นคือประเด็นของ “การกำกับติดตามประเมินผล”

"The Coverage" ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยประเด็นนี้กับ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งยอมรับว่าขณะนี้ สวรส. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยระบบสุขภาพ กำลังมีความกังวลกับการกำกับติดตามประเมินผลการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอน

นั่นก็เพราะการกำกับติดตามประเมินผลการทำงานจะมีความสำคัญอย่างมาก หากแต่ขณะนี้ยังไม่มีกลไกหรือเครื่องมือใดที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะนำไปใช้ได้

1

โจทย์ใหญ่ กองสาธารณสุข อบจ. ไม่มีคนเพียงพอ

ผู้อำนวยการ สวรส. อธิบายถึงหลักการของการกำกับติดตามการทำงาน ซึ่งจะมี 3 วิธี คือ 1. ติดตามกำกับจากรายงาน หรือ Report Monitoring ที่รายงานการดำเนินการตามแผน เช่น ให้บริการสาธารณสุขอย่างไร ภาวะสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างไร เมื่อเป็นข้อมูลก็จะมีการวิเคราะห์จากส่วนกลาง

2. การติดตามกำกับโดยการประชุม หรือ Monitoring by Meeting โดยหลายองค์กรมีการประชุม และมีการรายงานข้อมูลที่จำเป็น ซึ่งหากมีประเด็นปัญหาจะได้สอบถามแลกเปลี่ยน และ 3. การติดตามกำกับโดยการนิเทศติดตาม หรือ Field Monitoring ซึ่งเป็นลักษณะของการลงพื้นที่

ทั้งนี้ ประเด็นของปัญหาคือ แต่เดิมโครงสร้างของ รพ.สต. จะอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในฐานะผู้บังคับบัญชาคอยกำกับติดตามการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการ ที่จะมีระบบและกลไก พร้อมกับทีมบุคลากรคอยทำหน้าที่กำกับติดตาม รพ.สต. ในสังกัดอย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการถ่ายโอนมายัง อบจ. ซึ่งหน่วยงานหลักที่ต้องกำกับติดตามคือ กองสาธารณสุข อบจ. ที่มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 7-8 คน จึงอาจไม่เพียงพอต่อการกำกับติดตาม รพ.สต. ที่ถ่ายโอนมา และจะทำให้มีผลกระทบต่อภาพรวมของเป้าหมายด้านสุขภาพของประเทศ

นพ.ศุภกิจ ระบุว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุข อบจ. ซึ่งมีบุคลากรประมาณ 7-8 คนในแต่ละแห่ง จะรับผิดชอบดูแลแต่เรื่องของระบบสุขาภิบาลในพื้นที่ ซึ่งอาจไม่ได้ดูแลสุขภาพของประชาชนโดยตรงมาก่อน แต่เมื่อต้องมารับหน้าที่กำกับติดตามก็อาจไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะการกำกับติดตามด้วยวิธีการนิเทศ ที่จะมีกำลังคนไม่เพียงพอ

“หากไม่มีการกำกับติดตามที่ดีพอ เราอาจได้ข้อมูลการบริการสุขภาพให้ประชาชนที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งจะมีผลต่อการนำไปวิจัยต่อ เพื่อยกระดับระบบสุขภาพของประเทศ รวมถึงข้อมูลที่ รพ.สต. ดำเนินการไปแล้ว ก็จะไม่มีการวิเคราะห์ว่าดำเนินการได้ตามแผนหรือไม่ และมีปัญหาอุปสรรคใด อย่างไร” เขาให้ภาพ

นี่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งโจทย์ของ สวรส. ที่จะต้องทำการวิจัยและสนับสนุนการวิจัยจนได้หลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ว่าจะมีกระบวนการหรือวิธีการใดที่สามารถเข้ามาเป็นเครื่องมือ เพื่อจัดการในเรื่องของการกำกับติดตามประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ในอีกด้าน กองสาธารณสุข อบจ. อาจจะต้องอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถกำกับติดตามการทำงานของ รพ.สต. เพื่อจัดเป็นข้อมูลรายงานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากมีปัญหาใดจะได้เข้าไปแก้ไขในทันที” ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวเสริม

4

ทางออกสำคัญคือความสัมพันธ์ อบจ. สสจ.

ทั้งนี้โดยส่วนตัวแล้ว นพ.ศุภกิจ เชื่อมั่นว่าหาก อบจ. และ สสจ. มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน สามารถร่วมมือกันทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันได้ ทาง อบจ. ก็อาจจะขอความร่วมมือให้เข้ามาเป็นทีมสุขภาพร่วมกัน โดยหน้าที่ของ สสจ. อาจจะไม่ใช่การสั่งการหรือกำกับ แต่จะสนับสนุนในเชิงวิชาการเพื่อให้ รพ.สต. ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงการร่วมกันจัดเก็บข้อมูลการให้บริการ ซึ่งจะทำให้การกำกับติดตามมีประสิทธิภาพ

การอาศัยความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน ให้ทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันต่อไป จึงอาจเป็นกลไกที่ดีที่สุดในตอนนี้ แต่ในระยะยาวจะต้องมีงานวิจัย หรือมีต้นแบบในบางพื้นที่ที่มีระบบการกำกับ การติดตามประเมินผลที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ อบจ. แห่งอื่นๆ ได้ศึกษาหรือนำไปปรับใช้ต่อไป” เขาระบุ

นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สะท้อนและย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่าง อบจ. และ สสจ. ที่มีความสำคัญต่อระบบปฐมภูมิ หากความสัมพันธ์ไม่ดีระหว่างกัน ก็จะทำให้การกำกับติดตามการทำงานของ รพ.สต. มีปัญหา ซึ่งก็สอดรับกับงานวิจัยของ สวรส. ที่พบว่า รพ.สต.ถ่ายโอนบางพื้นที่มีการให้บริการลดลง

ดังนั้นหากมีกลไกการกำกับติดตามที่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางใจได้ว่าจะมีการติดตามและได้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยหากมีการกำกับติดตามอย่างใกล้ชิดและเข้มข้น ก็จะสะท้อนข้อมูลการบริการสุขภาพของ รพ.สต. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกันหากไม่มีการกำกับติดตาม ก็จะทำให้ภาพรวมของงานปฐมภูมิทั้งประเทศเกิดปัญหาได้

“ผมคิดว่าหลักบริหารจะต้องอาศัยการกำกับติดตามที่เข้มแข็งตามมา ซึ่งจะทำให้การถ่ายโอน รพ.สต. มีความเข้มแข็ง และเป็นการยืนยันได้ว่าการให้บริการสุขภาพกับประชาชน ที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีประสิทธิภาพ และดำเนินการได้ตามเป้าหมายจริงๆ” ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว

5

บทบาทงานวิจัย ร่วมไขตัวชี้วัด - หาทางออก

ในมุมหนึ่ง นพ.ศุภกิจ มองว่าทาง สวรส. เองก็จะต้องพยายามทำงานวิจัยเพื่อให้เห็นถึงปัญหาของสถานการณ์การถ่ายโอน รพ.สต. โดยหากตั้งเป็น ‘ตัวชี้วัด’ ของการถ่ายโอน ก็จะมีใน 2 ส่วน คือ 1. ตัวชี้วัดกลางระดับประเทศ เพื่อให้แต่ละพื้นที่กำหนดตัวชี้วัดตามเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย 2. ตัวชี้วัดพื้นที่ ที่กำหนดตามความต้องการของพื้นที่เอง ซึ่งตรงกับหลักกการกระจายอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการตั้งตัวชี้วัดอย่างไร แต่หากไม่มีกลไกกำกับติดตาม ก็ย่อมไม่อาจรู้ได้ว่าการดำเนินการนั้นทำไปได้ตามเป้าหมาย

“การกำกับติดตามประเมินผลจึงเป็นกลไกที่สำคัญมาก แต่ทุกวันนี้เรายังไม่เห็นว่ามีกลไกใดที่เข้มแข็งพอ ซึ่งงานวิจัยอาจมาช่วยได้ว่าระบบ หรือกลไกใดในการกำกับติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาใช้กับการถ่ายโอน รพ.สต. ให้ อบจ.” นพ.ศุภกิจ ย้ำ

ขณะเดียวกันในอีกแง่มุมที่มีความซับซ้อน คือการกำกับติดตาม รพ.สต. ในส่วนที่ไม่ได้ถ่ายโอนภารกิจไปยัง อบจ. ซึ่งเขามองว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องวิจัยว่าจะบริหารจัดการอย่างไร แต่ในหลักการใหญ่คือหาก สสจ. และ อบจ. มีความสัมพันธ์ที่ดี ร่วมมือเป็นเครือข่ายหรือพันธมิตรกัน ก็น่าจะแก้ปัญหาการกำกับการติดตามได้

“โดยหลักการแล้ว ท้องถิ่นจะต้องยกระดับและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งระบบ เพราะในอนาคตจะต้องบริหารจัดการเวชภัณฑ์ การจัดเก็บยา ซึ่งต้องมีความเข้าใจทั้งหมด และต้องมีความพร้อมในการยกระดับเพื่อไม่ให้ รพ.สต. ต้องติดขัดในการบริการสุขภาพประชาชน” นพ.ศุกิจ กล่าวทิ้งท้าย