ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผ่านมาแล้วกว่า 10 วัน นับตั้งแต่มีการคิกออฟนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) สามารถเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลทุกระดับ ทั้งในและนอกระบบกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อันเป็นการต่อยอดความสำเร็จจาก “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่กลายเป็นนโยบายชูโรงของพรรคเพื่อไทยเมื่อ 20 ปีก่อน 

ฉะนั้นภายใต้การยกระดับที่ว่าจึงเสมือนเป็นการตอกย้ำความเป็น “แบรนด์” ให้ขยับไปอีกขั้นของการให้บริการที่ดูแลครอบคลุมประชากรในประเทศกว่า 47 ล้านคน รวมถึงจะเป็นเรื่องหลักที่จะดำเนินการด้านสาธารณสุข ของรัฐบาลในปัจจุบัน เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ให้คำมั่นไว้ในครั้งแถลงนโยบายอย่างชัดเจนว่าเป็นนโยบาย “พัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” ผ่านการยกระดับบัตรทอง 30 บาทด้วยการ “ใช้บัตรประชาชนใบเดียว” เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ

จนกระทั่งจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็น รมช.สธ. เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.สธ. และได้ชูการยกระดับ 30 บาทเป็นนโยบายเรือธงในการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขในยุคปัจจุบันโดยกำหนดเป็น 13 ประเด็นหลัก และแบ่งออกเป็น 10 ประเด็นขับเคลื่อนผ่านแผนเร่งรัดภายใน 100 วันแรก หรือ “Quick Win 100 วัน” เพื่อให้ประชาชนสามารถจับต้องได้มากที่สุด 

“The Coverage” ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก นพ.ชลน่าน รมว.สธ. ในฐานะหัวเรือใหญ่แห่งกระทรวงหมอ ในการพูดคุยถึงการขับเคลื่อนการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ตั้งแต่การเบื้องหลังภายในพรรคก่อนจะประกาศเป็นนโยบาย ตลอดจนการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อประชาชน บนความหวังที่อยากเห็น “คนไทย” ได้รับการยกระดับคุณภาพชีวิต และมีสุขภาพที่ดีตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาเอาไว้

1

1 สัปดาห์ หลังคิกออฟ ‘30 บาทรักษาทุกที่’

หลังจากการคิกออฟนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ไปในวันที่ 7 ม.ค. 2567 นั้น นพ.ชลน่าน บอกว่า เมื่อประกาศแล้ว สธ. เองก็ไม่ได้นิ่งเฉย และมีการเดินหน้าตั้งคณะทำงานตั้งเป็น “วอร์รูม” ในการติดตามปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมถึงสิ่งที่ยังต้องปรับแก้ก่อนจะเข้าสู่ “เฟส 2” อีก 8 จังหวัดในเดือน มี.ค. 2567 ที่จะถึงนี้ 

นพ.ชลน่าน บอกต่อไปว่า โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์ และการเข้ามาใช้บริการของประชาชนที่ไม่ได้เป็นไปตามที่หลายคนกังวล เช่น การเลือกเข้าโรงพยาบาลจนทำให้เกิดความแออัด อย่างกรณีของ จ.เพชรบุรี ที่มีประชาชนเพียง 5% เท่านั้นที่เข้ามาใช้บริการในลักษณะนี้ ขณะที่พื้นที่ อ.ชะอำ สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการเข้าถึงบริการของประชากรต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ ต่างจากเดิมที่ไม่สามารถรับบริการได้ เพราะไม่ได้ย้ายมาขึ้นทะเบียนในพื้นที่

ภาพที่ นพ.ชลน่าน ต้องการเห็นคือเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนให้เป็นธรรม เสมอภาค และเท่าเทียม โดยเป็นการต่อยอดจากนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ได้ทำไว้เมื่อ 22 ปีก่อน ที่มีการเข้าถึงสิทธิ 95% ของประชาชน จากอดีตที่มีเพียง 50-60% เท่านั้น 

ฉะนั้นภาพที่เห็นจากนโยบาย เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความจำเป็น สามารถเข้าถึงบริการได้จริงอย่างทั่วถึง 

สำหรับการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ จากการประเมินพบว่ามีความสุขมากขึ้น เพราะภาระงานไม่ได้เพิ่มตามแนวโน้มที่คาดว่าจะเพิ่มตามผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ ขณะเดียวกันก็เริ่มขยายเข้าไปในชุมชนภายใต้การมีส่วนร่วมของการจัดการสุขภาพ โดยใช้เทคโนโลยีอย่าง “โทรเวชกรรม” หรือ “Telemedicine” เข้ามาช่วยเรื่องการให้คำปรึกษาทางไกล (Teleconsult) ระหว่างพื้นที่ และผู้เชี่ยวชาญ ทำให้บริการมีความครอบคลุมมากขึ้น 

4

“เมื่อ 22 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะทำได้อย่างน่าพึงพอใจ แต่ก็ยังเกิดปัญหาเรื่องความแออัด ล่าช้า การส่งต่อ หรือการที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้ในกรณีที่มีความจำเป็น เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่บริการ จึงได้นำส่วนนั้นมาปรับปรุง ประกอบกับการพัฒนาของเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากขึ้นในยุคดิจิทัล เป็นโอกาสที่จะนำมาใช้ในด้านสุขภาพ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนอย่างทั่วถึง เสมอภาค มีมาตรฐาน และเป็นธรรม” 

นพ.ชลน่าน อธิบายว่าการประเมินงานนั้นจะต้องทำให้ครบทุกด้าน ได้แก่ 1. ประชาชน ที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วางระบบสายด่วน สปสช. 1330 เอาไว้รองรับประชาชน รวมถึงมีการตั้งคณะติดตามปัญหา ข้อร้องเรียน และต่อไประบบจะมีความชัดเจนขึ้นในเรื่องของความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการ 2. ผู้ให้บริการ พบว่าหลังเริ่มคิกออฟในช่วง 7 วันแรก ยังไม่ได้รับเสียงบ่นจากบุคลากรทางการแพทย์เหมือนช่วงแรกที่ทำ 30 บาทรักษาทุกโรค 

อย่างไรก็ตาม ก็ยังได้รับเสียงสะท้อนเรื่องการติดขัดเล็กน้อย แต่ถึงอย่างไรก็จะต้องมีการติดตามว่าภาระงานของบุคลากรเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร มีข้อติดขัดส่วนไหน หรือมีสิ่งใดที่จะสามารถเติมเต็มได้บ้าง และ 3. ระบบ แม้ว่าจะมีระบบยืนยันตัวตนเพื่อตรวจสอบสิทธิ แต่บางครั้งก็ยังจำเป็นที่จะต้องไปห้องบัตรเพื่อยืนยัน ตรวจสอบสิทธิอย่างครอบคลุม และใช้วางแผนในการเข้ารับบริการ เช่น การเลือกรับยา ซึ่งในเฟสที่ 2 จะพยายามลดส่วนนี้ลง 

ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายนั้น สปสช. เองพยายามปรับระบบให้เร็วขึ้น เช่น สามารถจ่ายค่าบริการได้ภายใน 3 วัน และเปิดช่องทางการตรวจสอบสิทธิได้ถึง 7 ช่องทาง ซึ่ง 4 จังหวัดนำร่องก็ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว ส่วนระบบนั้นค่อนข้างรองรับได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะสถานพยาบาลภาครัฐ

ขณะที่ภาคเอกชน จะใช้วิธีการเบิกจ่ายตามรายการจ่ายจริง (Fee Schedule) เช่น การให้บริการทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) จำนวน 22 รายการ 

“แต่ในส่วนของคลินิก และโรงพยาบาลเอกชนก็อาจจะยังมีปัญหาบ้าง เพราะขณะนี้ สปสช. ใช้วิธีเหมาจ่ายเป็นรายครั้งที่ไปรับบริการ (Per Visits) ซึ่งตอนนี้ก็ได้ดู และคุยกับ สปสช. เหมือนกันถึงแนวทางการจัดการส่วนนี้” 

1

มี.ค. ขยายเพิ่ม 8 จังหวัด และทั่วประเทศภายในสิ้นปี

จากการประเมินสถานการณ์นับแต่วันที่เริ่มมีการคิกออฟนโยบาย เพื่อดูผลการดำเนินงาน และอุปสรรคที่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุง โดยในระยะถัดไป หรือเฟส 2 ที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 เดือน ซึ่งเป็นขยายพื้นที่นำร่องเพิ่มใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สระบุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จะมีการ “พัฒนาเชิงเทคนิค” อยู่พอควร 

ตัวอย่างเช่น การต้องทำบัตรใหม่ โดยได้มีการให้ สปสช. ที่มีข้อมูลสิทธิของผู้รับบริการในระบบบัตรทอง 30 บาทเกือบทั้งหมด ปรับปรุงปัญหาที่อาจจะทำให้การดึงข้อมูลยังไม่ตอบสนอง รวมถึงการปรับระบบการตรวจสอบสิทธิการรักษาให้ครอบคลุมทั้ง 3 สิทธิ (บัตรทอง 30 บาท ประกันสังคม และ สวัสดิการข้าราชการ) เพราะเป้าหมายคือต้องการให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียว 

“เราทำระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน (Financial Data Hub) หากทำเองระบบข้อมูลจะถูกยิงเข้ามาที่ส่วนกลางของเราทั้งหมด และค่อยต่อไปยัง สปสช. ตามสาขา ตามสิทธิเพื่อให้ทำการเบิกจ่าย ตรงนี้เราเตรียมแก้ไว้แล้วในเฟสที่ 2 ฉะนั้นพี่น้องประชาชนในพื้นที่นำร่องทั้ง 2 เฟส จะได้รับความสะดวกมากขึ้น” 

นพ.ชลน่าน ยังคงมั่นใจว่าจะสามารถขยายนโยบายดังกล่าวไปทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะหากทำให้ภาคเอกชนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการเชื่อมั่นในระบบการเชื่อมข้อมูล หรือระบบการเบิกจ่าย รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งขณะนี้ สปสช. เองก็ปรับตัวมากในเรื่องของการสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคเอกชน ทั้งร้านยาที่จ่ายผ่านรายการจ่ายจริง รวมไปถึงบริการแล็บ บริการทันตกรรม ฯลฯ 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่า อีกภาพที่อยากเห็นคือการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการของเอกชน ยกตัวอย่าง ร้านขายยา ซึ่งขณะนี้ สธ. พยายามจะช่วยสำหรับการซื้อยาภายใต้ระบบยารวมเพื่อต้นทุกที่ถูกลง และมียาไปในทิศทางเดียวกันกับที่จ่ายในแต่ละจังหวัด ทำให้ร้านขายยามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่ขณะนี้ ยังเป็นการใช้วิธีที่ผสมผสานทั้งจ่ายยาที่มีในคลังอยู่แล้ว กับใช้ยาของโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยเดินทางมารับได้ที่ร้านขายยาใกล้บ้านของเขา ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ สธ. กำลังพัฒนา

มากไปกว่านั้น เมื่อพูดถึงคลินิกเทคนิคการแพทย์ นพ.ชลน่าน มองว่า ส่วนนี้จะทำให้วิชาชีพเข้มแข็งขึ้นได้ เพราะนักเทคนิคการแพทย์จะเข้ามามีส่วนในการดูแลผู้ป่วย เกิดการสร้างรายได้ และอาจจะส่งผลให้คนเข้ามาเรียนทางด้านนี้มากขึ้นด้วย

รวมถึงอีกสิ่งสำคัญคือบริการ “ทันตกรรม” ที่ในอดีตการเข้าถึงอาจจะไม่ง่าย แต่เมื่อมีการเปิดโครงการดังกล่าวขึ้นมา ทำให้ผู้ป่วยที่มีสิทธิอยู่ในแต่ละพื้นที่ไม่ต้องไปรอที่โรงพยาบาล ท้ายที่สุด “1 ทันตแพทย์ 1 ผู้ช่วยทันตแพทย์” จะเกิดขึ้นจริงได้โดยอาศัยภาคเอกชน 

1

ข้อกังวลก่อนเป็น ‘30 บาทรักษาทุกที่

ครั้งเมื่อก่อนการกำหนดให้ “30 บาทรักษาทุกที่” เป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน บอกว่า ในการประชุมพรรคมีสิ่งที่เห็นว่าต้องระวัง และเสี่ยงต่อความล้มเหลว นั่นคือ “ความพร้อมของคน” เพราะเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์มาแล้วเมื่อตอนเริ่ม 30 บาทรักษาทุกโรค คือ หากไม่เตรียมความพร้อมให้ดีอาจทำให้เกิดแรงต้าน และเมื่อเกิดก็จะทำให้ปัจจัยที่จะเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จน้อยลง

ขณะเดียวกันเรื่อง “ความพร้อมของระบบ” ทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ก็เป็นสิ่งที่มีการพูดถึงในช่วงนั้น ว่าสิ่งที่จะนำมาใช้นั้นจะมีราคาแพงมากน้อยแค่ไหน รวมถึงความปลอดภัย ฯลฯ แต่เมื่อได้เห็นการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องของ สธ. ทั้งเรื่องคนที่ไม่ได้มีปัญหากับการใช้เทคโนโลยี หรือแม้จะมีก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตรงนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้ นพ.ชลน่านมองว่าจะสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้

“เมื่อได้มาทำงานที่กระทรวงนี้ (สธ.) มีความมั่นใจในบุคลากร ระเบียบวิธี กลไกการทำงาน หน้าที่ความรับผิดชอบ จิตสำนึกที่ถือว่าเข้มแข็งเลยมีความสบายใจ ฉะนั้นเมื่อพร้อมแล้วเติมเต็มเข้าไปในส่วนของนโยบายก็จะสามารถขับเคลื่อนได้”

4

ย้ำเสมอ “ระบบข้อมูล” ต้องไม่มีช่องว่าง

อย่างที่ทราบกันดี ประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่มีเพื่อควบคุมไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ นพ.ชลน่าน ให้ความสำคัญ รวมถึงมีการพูดคุยถึงแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติของกฎหมาย กระทั่งได้รับการยอมรับว่าสิ่งที่ สธ. จะทำนั้นสามารถคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ 

“สธ. ได้ตั้งระบบขึ้นมาจะเข้ามารองรับเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะต้องมีการยืนยันตัวตน และขออนุญาตระหว่างผู้ให้ และผู้ใช้บริการสำหรับการให้ข้อมูล เฉพาะเจ้าของข้อมูลและผู้ได้รับความยินยอมเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้”

อีกทั้งยังรวมไปถึง “ข้อมูลเชิงระบบ” ที่ใช้การรวบรวมผ่านคลาวด์ ซึ่ง สธ. เองตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อตรวจสอบ ดูแล และป้องกันเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์โดยเฉพาะฉะนั้นสิ่งที่ สธ. เน้นย้ำเสมอคือการนำเข้าข้อมูล รวมถึงวิธีปฏิบัติจะต้องชัดเจน และไม่เปิดช่องให้มีการรั่วไหลของข้อมูลที่มาจากความพลั้งเผลอ

นพ.ชลน่าน อธิบายอย่างตั้งใจในเรื่องของการเชื่อมต่อข้อมูลว่า ขณะนี้จากการประเมินข้อมูลมีจำนวน 29 บริษัทที่สามารถบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้านสุขภาพ (Personal Health Record: PHR) ได้ ซึ่งทำให้สามารถเลือกจังหวัดนำร่องที่จะนำไปใช้ได้ เนื่องจากมีฐานข้อมูลหลังบ้านจากระบบเดียวกัน 

เมื่อต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ ใน 4 จังหวัดนำร่อง สธ. จึงได้จัดวอร์รูมเพื่อเฝ้าระวัง และติดตามทุกจังหวัด ขณะเดียวกัน สปสช. ก็ยกระดับสายด่วน สปสช. 1330 ขยายการรองรับ เพื่อรับฟังเสียงจากประชาชนทั้งเสียงสะท้อนของบริการ และข้อมูลความปลอดภัยด้วย 

ด้วยความเชื่อมั่นในรากฐานที่ได้วางเอาไว้ ทั้งศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเข้าใจเรื่องคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี ทำให้ สธ. กล้าที่ประกาศโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบบริการของโรงพยาบาลทั้งหมด โดยแต่ละโรงพยาบาลจะได้รับการประเมิน หากผ่าน 700 คะแนนขึ้นไปจะผ่านการประเมินในระดับเงิน หมายถึงสามารถเข้าสู่การใช้ดิจิทัลเพื่อสุขภาพได้ และหากผ่าน 900 คะแนนขึ้นไปจะผ่านการประเมินในระดับเพชร หมายถึงการลดใช้กระดาษ (Paperless) ในบริการส่วนหน้า ระบบสนับสนุน ฯลฯ 

“ด้วยเหล่านี้เป็นความพร้อมที่ สธ. มองเห็นภาพ และกล้าประกาศที่จะนำมาใช้รองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว แต่ยังต้องผ่านการนำร่อง เพราะเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนเชิงระบบ ซึ่งสิ่งที่ สธ. กังวลที่สุดนั่นคือเรื่องความปลอดภัย” 

4

ยืนยันตัวผ่าน “หมอพร้อม” เพราะต้องการความพร้อมของข้อมูล

ในช่วงเฟสแรกของการดำเนินการ นพ.ชลน่าน ระบุถึงความพยายามที่จะให้เกิดการใช้ข้อมูลระบบเดียวกัน เพื่อให้เกิดความง่ายในการติดตาม แก้ไข และป้องกัน โดยมีการชวนประชาชนเข้ามายืนยันผ่าน แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ใน 4 จังหวัดนำร่อง เพราะส่วนนึ่งคือต้องการความพร้อมของผู้ใช้บริการ แม้ว่าจะมีข้อมูลอยู่แล้วในฐานระบบ แต่ก็จะต้องยืนยันผ่านระบบ Health ID เพื่อบันทึกข้อมูลสุขภาพ และกลายเป็นกระเป๋าสุขภาพเมื่อมีการเชื่อมต่อสมาร์ทโฟน รวมถึงใช้ในการนัดหมาย หรือแม้แต่การแสดงใบรับรองแพทย์ ฯลฯ ด้วย

ส่วนนี้จึงต้องเป็นสิ่งที่ต้อง “ออกแรง” พอสมควรในช่วงแรกสำหรับการให้ประชาชนเข้ามายืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ มากไปกว่านั้นจะยิ่งตอบคำถามกรณีผู้ป่วยที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ใน 4 จังหวัดนำร่องด้วย เพราะหน่วยบริการจะต้องดู และจะต้องตรวจสอบข้อมูล 

“ในอีก 8 จังหวัดที่จะขยายออกไป สธ. จะแก้ตรงนี้ โดยปรับจากฐานข้อมูลของ สปสช. ให้อัปเดต และสามารถเชื่อมต่อกันได้ และระบบก็จะสามารถเชื่อมต่อได้เลยว่าผู้ป่วยมีสิทธิการรักษาอะไรบ้าง ซึ่งวิธีนี้จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการแก้ไข

“การยืนยันตัวตนมีแนวทางให้หลายแนว หากไม่มีบัตรประชาชนก็สามารถรับบริการได้ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องจำเลข 13 หลักของตัวเองให้ได้ เพื่อที่จะใช้ระบบการยืนยันตัวตนผ่านเลข OTP ของแอปฯ หมอพร้อมเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ” 

ถึงอย่างไรนั้น นพ.ชลน่าน บอกว่า ต่อไประบบจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ แม้จะมีหลายระบบก็ตาม เนื่องจากคณะทำงาน และผู้พัฒนาได้พูดคุยกันแล้ว ฉะนั้นข้อมูลในเครือข่ายไม่ว่าจะใช้ระบบใดก็จะปรับฐานเชื่อมข้อมูลกันได้ 

4

รักษาทุกที่ไม่ใช่ “ตามใจ” แต่ “เพิ่มโอกาส” ให้ประชาชน

นพ.ชลน่าน อธิบายว่า การที่ให้ประชาชนสามารถรักษาที่ไหนก็ได้นั้นไม่ได้เป็นการตามใจประชาชนเหมือนที่บางคนตั้งข้อสังเกต 

รวมถึงได้มีการตอบกระทู้ถามสดของสมาชิกวุฒิสภาไปแล้ว ถึงระบบคัดกรองที่เป็นระดับจะถูกทำลาย หรือส่งเสริมแพทย์เฉพาะทางมากกว่าปฐมภูมิหรือไม่ และทำให้ประชาชนใช้บริการอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่จากโครงการนี้ ว่าประชาชนต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด หากบริการไม่ตอบโจทย์ และไม่สามารถตอบความกังวลของประชาชนได้ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพที่ต้องมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลที่ดี เพราะนั่นเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ และความเป็นความตาย 

ฉะนั้นจึงไม่ได้มองว่านโยบายนี้เป็นการ “ตามใจ” ประชาชน แต่เป็นการ “เพิ่มโอกาส” ให้ประชาชนภายใต้การพัฒนาระบบ หรือการวางแผนการให้บริการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องสปอยล์ เพราะในระบบยังสามารถตรวจสอบกันเองได้อยู่แล้ว

“ต่อไป สปสช. อาจพิจารณาว่า โรคเดียวกันเอง หากรับบริการมากกว่า 1 ครั้งในระยะที่กำหนด อาจไม่ได้รับบริการอีกต่อไป ดังนั้น ระบบจะเข้มข้นในการตรวจสอบอย่างมาก” 

ขณะเดียวกัน นพ.ชลน่าน บอกว่า 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จะเป็นการคัดกรองผู้ป่วยที่ดีหรือไม่นั้น ต้องเข้าใจก่อยว่าขณะนี้อาจจะยังเติมเต็มไม่ได้ แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 ที่ระบุให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงชุมชน และให้เกิดเป็นแพทย์ประจำครอบครัว ซึ่งตรงนี้ก็จะต้องมีการพัฒนาเท่าเทียมกัน

4

“เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องวางระบบให้ดีที่สุด โดยมีระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย ทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเข้ารับบริการ” 

ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาตั้งต้น ตั้งแต่เรื่องการวางระบบ กระทั่งการพยายามเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ เป็นสิ่งที่ทำให้เป้าหมายของหัวเรือใหญ่แห่งกระทรวงหมอรายนี้เป็นจริงได้ เพื่อ ปลายทางของเรื่องนี้ คือให้ “ประชาชนมีสุขภาพที่ดี” และต้องได้รับการ “ยกระดับชีวิต” ตามที่ได้มีการให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สังคม และสติปัญญา 

“การมีระบบบริการเข้ามารองรับ และตอบโจทย์ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ ทั้งในเชิงระบบ และดิจิทัลเฮลท์ที่จะเข้ามารองรับใน 4 มิติข้างต้น และเมื่อระบบสมบูรณ์ก็จะเกิดประโยชน์ในการดูแลประชาชนได้ทั้งหมด ทั้งการดูแลรายบุคคล และการเติมเต็มครอบครัว รวมไปถึงชุมชน ซึ่งเป็นภาพที่หวังเอาไว้” 

อย่างไรก็ดี สธ. คำนึงถึงความเป็นธรรม และความเสมอภาคของทุกสิทธิการรักษา เมื่อพูดถึงข้อเปรียบเทียบระหว่างบัตรทอง 30 บาท และประกันสังคม ซึ่ง นพ.ชลน่าน ระบุว่าอยู่ในขั้นตอนของการประสานว่าจะทำให้ทุกสิทธิการรักษาได้รับบริการที่ไม่แตกต่างกันได้อย่างไร โดยเฉพาะการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่

แม้ว่าประกันสังคมจะดูแลผู้ประกันตนมากกว่าในมิติสุขภาพ เช่น การจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง เงินบำนาญ ฯลฯ แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามาแล้ว อาจจะแยกให้ซื้อบริการทางสังคมเฉพาะเรื่องก็ดูเป็นไปได้ โดย นพ.ชลน่าน บอกว่า หากจะเข้ามาในระบบบัตรทอง 30 บาททั้งหมด “ก็ไม่ว่ากัน”