ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอชลน่าน ตอบกระทู้ถามสด ส.ส.ก้าวไกล ย้ำเปลี่ยนโมเดลจ่ายเงินคลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. เป็นแบบเหมาจ่ายรายหัว เริ่ม 1 มี.ค. นี้ พร้อมเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้ค้างจ่ายทั้งส่วนที่ สปสช. ค้างจ่ายคลินิกฯ และคลินิกฯเป็นหนี้ สปสช.


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตอบกระทู้ถามสด ของ น.ส.ปวิตรา จิตตกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 32 กทม. พรรคก้าวไกล ซึ่งสอบถามรายละเอียดการปรับโมเดลการจ่ายเงินค่าบริการแก่คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. จากการจ่ายตามรายการ เป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว แนวทางการแก้ไขหนี้ค้างจ่ายแก่คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. 580 ล้านบาทของ สปสช. และความคืบหน้าการตั้ง Provider board เพื่อบูรณาการการจัดสรรเบิกจ่ายค่าพยาบาลให้เป็นธรรม

นพ.ชลน่าน ตอบคำถามว่า ในส่วนของการปรับโมเดลการจ่ายเงินแก่คลินิกชุมชนอบอุ่นนั้น มติที่ประชุมคณะกรรมการ สปสช. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา เห็นชอบตามข้อเสนอของเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นและเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHostNet) ในการเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายจากเดิมที่เป็นรูปแบบโมเดล 5 หรือการจ่ายตามรายการแบบปลายปิด (Fee schedule with global budget) เป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัว (Capitation) โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567

อย่างไรก็ดี การจ่ายรูปแบบนี้จะเป็นการจ่ายเฉพาะผู้ป่วยนอก (OP) ขณะที่การจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) และกรณีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิกว่า (OP Refer) ยังจะจ่ายแบบ Fee schedule with global budget อยู่ ส่วนเม็ดเงินงบประมาณจากมาจาก สปสช.

ส่วนคำถามเรื่องเงินที่ค้างจ่าย ก่อนอื่นต้องกล่าวถึงภาพรวมวิธีการจัดสรรเงินใน กทม. ตั้งแต่ปี 2564 เป็นแบบ Fee schedule with global budget ซึ่งจะแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ โดยมีเงื่อนไขที่มีข้อตกลงกันว่าจะจ่ายค่าบริการปฐมภูมิเป็นแต้มหรือ Point ไม่เกิน 1 บาท/Point ตามวงเงินเหมาจ่ายรายปี (Point system with global budget) โดยหากปลายปีมีเงินเหลือก็จะคืนเพิ่มให้หน่วยบริการปฐมภูมิหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นทั้งหมด แต่หากวงเงินไม่พอ ก็จะลดอัตราจ่ายลงไม่ถึง 1 บาท/Point

ประเด็นปัญหาที่ทำให้คลินิกชุมชนอบอุ่นไม่ได้รับเงิน 1 บาท/Point เพราะระบบการจ่ายแบบนี้ คลินิกชุมชนอบอุ่นจะต้องรับผิดชอบการส่งต่อ (OPD Refer) กล่าวคือตามไปจ่ายค่าบริการแก่หน่วยบริการที่ตนส่งตัวผู้ป่วยไป ซึ่งส่วนมากจะเป็นสถานบริการระดับตติยภูมิซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก และเงื่อนไขการจ่ายจะต้องจ่ายแก่ OPD Refer ก่อน ส่วนที่เหลือจึงจะนำมากระจายแก่คลินิกชุมชนอบอุ่น ดังนั้น วิธีการจ่ายแบบนี้ไม่มีทางที่คลินิกจะได้ 1 บาท/Point ตัวอย่างเช่นเม็ดเงินในปีที่ผ่านมา คลินิกชุมชนอบอุ่นมีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานบริการระดับตติยภูมิ 35% แต่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นสัดส่วนที่สูงถึง 70% ของงบประมาณ เมื่อหักเงินที่ต้องจ่าย OPD Refer แล้ว เหลือเงินที่คลินิกชุมชนอบอุ่นจะได้รับเพียง 0.57 บาท//Point

ตนได้ให้ความเห็นตั้งแต่เริ่มมีการจ่ายด้วยวิธีนี้ว่าไม่สอดคล้องเหมาะสมกับความเป็นจริงและจะเกิดปัญหา ซึ่งในที่สุดก็เกิดปัญหาจริง เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาลจึงต้องรีบแก้ไขปรับวิธีการจ่าย ส่วนเม็ดเงินที่ค้างจ่าย เป็นหนี้ทางบัญชี ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่ สปสช. เป็นหนี้คลินิกฯ และส่วนที่คลินิกฯ เป็นหนี้ สปสช. โดย และทั้ง 2 ฝ่ายต้องมาหารือในรายละเอียด ซึ่งในตอนแรกการจัดสรรเงินในปีงบประมาณใหม่จะต้องหัก 30% เพื่อนำไปชดเชยหนี้ แต่ตนได้ให้นโยบายว่าอย่าเพิ่งหักเงิน ให้จ่ายเต็มไปก่อน แล้วตนจะไปหาวิธีการว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้อย่างไร ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหานี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางต่างๆ อยู่ หากเป็นกรณีที่ทางคลินิกฯ สมควรได้รับเงิน ทาง สปสช. ก็พร้อมเติมเต็มให้ในส่วนที่ยังขาด แต่ส่วนที่คลินิกฯ เป็นหนี้ สปสช. ก็จะหาแนวทางแก้ไขที่เป็นธรรม และกระตุ้นให้เกิดการบริการทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการรักษาได้

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดตั้ง Provider board ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ สปสช. เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด สปสช. มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก บอร์ด สปสช. ขอให้กลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม ส่วนครั้งที่ 2 บอร์ดขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ก่อน และการประชุมบอร์ด สปสช. วันที่ 21 ก.พ. 2567 ก็ได้มีมติเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ บอร์ด สปสช. เรียกว่า คณะอนุกรรมการสนับสนุนเรื่องหน่วยบริการผู้ให้บริการ มีองค์ประกอบจากตัวแทนของหน่วยบริการทุกส่วน ทั้งหน่วยบริการตามมาตรา 3  มาตรา 45 มาตรา 46  มาตรา 57 เข้ามาอยู่ในองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการ มีหน้าที่ในการประเมิน วิเคราะห์และพัฒนาปัจจัยระบบบริการเรื่องทั้งคน เงิน ของ แล้วเสนอแก่บอร์ด สปสช. โดยขั้นตอนหลังจากนี้ สำนักงาน สปสช. จะเสนอรายชื่อคณะอนุกรรมการให้บอร์ด สปสช. พิจารณาแต่งตั้งและมอบหมายหน้าที่ต่อไป