ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กทม. หารือ ‘คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็ก’ ลุยช่วยเด็ก 0-6 ขวบ พัฒนาฐานข้อมูล นำเข้าสู่ระบบ-สนับสนุนสวัสดิการ


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังหารือแนวทางการดูแลเด็กเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ ร่วมกับ ดร.สุนีย์ ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า และเครือข่าย เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 ว่า เรื่องเด็กเล็กเป็นเรื่องที่ กทม. ต้องรับผิดชอบดูแล ที่หารือกันวันนี้คือเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ซึ่งเป็นเด็กที่การพัฒนาการสูงมาก แต่ยังไม่ได้เข้าระบบโรงเรียน มีผลทั้งในแง่ของการพัฒนาเด็กและด้านเศรษฐกิจของพ่อแม่ เช่น พ่อแม่เป็นคนทำงานถ้าต้องมาเลี้ยงลูก เพราะไม่มีคนดูแลก็จะทำให้เสียเศรษฐกิจไป 1 คน 

1

ขณะเดียวกันหากศูนย์เลี้ยงเด็กอยู่ห่างไกล พ่อแม่ก็ต้องขับรถหรือต้องนั่งรถไปส่งแล้วกลับมาทำงานก็ต้องเสียค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทาง ก็จะเป็นปัญหามากสำหรับคนที่รายได้ไม่เยอะ นอกจากนี้ อาจมีปัญหาเรื่องเงินสวัสดิการของเด็กแรกเกิดว่าจะได้รับเท่าไหร่ ซึ่งเครือข่ายอยากจะให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าให้เด็ก 600 บาททุกคน ปัจจุบัน กทม. ให้เฉพาะคนที่ยังยากจนอยู่ โดยก็มีคนตกหล่นอยู่ เพราะ กทม. คงไม่สามารถให้บริการทุกคนได้

เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ในส่วนหน้าที่ กทม. คือ ดูแลศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งปัจจุบันช่วยเหลืออยู่ แต่เด็กที่อยู่ในระบบ กทม. อาจไม่เยอะ โดยมีอยู่ประมาณ 2 หมื่นคน เด็กกรุงเทพฯ ที่อยู่ช่วง 0- 6 ขวบ อาจจะเกือบ 1 แสนคน ส่วนหนึ่งก็ไปอยู่ตามสถานดูแลเอกชน ซึ่ง กทม. ยังไม่ได้เข้าไปดูแล ปัจจุบันศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนที่ดูแลอยู่มีการให้ค่าอาหารกลางวัน 12 บาท/คน ค่าอุปกรณ์การเรียน 600 บาท และเงินช่วยอาสาสมัครที่สอน โดยปัจจุบันเครือข่ายของ กทม. มีอยู่ประมาณ 200 กว่าแห่งที่เป็นศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน ทว่า ต้องพยายามขยายตรงนี้ให้มากขึ้น

4

นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า ทางเครือข่ายที่มาวันนี้ก็อยากจะให้เพิ่มสวัสดิการตรงนี้ให้มากขึ้น สำหรับเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าคงต้องใช้เงินเยอะ แต่ถ้าสามารถมีข้อมูลว่าเด็กที่ลำบากอยู่ตรงไหน แต่ละชุมชนมีเด็กเท่าไหร่ ก็ทำให้ช่วยเหลือได้ถูกต้อง ดังนั้นขั้นแรก คือต้องพยายามพัฒนาฐานข้อมูลเด็กในกรุงเทพฯ ให้ชัดเจนก่อน ซึ่งคิดว่าทำได้ไม่ยากเพราะมีกรรมการชุมชนอยู่ 2,017 แห่ง อย่างน้อยก็ให้กรรมการชุมชนนำข้อมูลมาก่อน และจะมีชุมชนที่ยังไม่จดทะเบียนประมาณ 600 แห่ง ต้องหาทางเข้าไปเอาข้อมูลออกมา

4

เพื่อพัฒนาศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนให้ดีขึ้นอาจจะต้องช่วยเรื่องเงินอาสาสมัครครูและขยายออกให้มากกว่าเดิม ให้เด็กเข้าอยู่ในระบบมากขึ้น โรงเรียนในสังกัด กทม. ก็ขยายเวลารับเด็ก อีกทั้งเดิมรับเด็ก 4 ขวบ ปีหน้าจะเริ่มรับเด็ก 3 ขวบ เพราะมีห้องเรียนมากขึ้น ทำให้สามารถเอื้อมมือลงมาช่วยเด็กที่มีอายุน้อยลงได้มากขึ้น

“ศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนของเรามีประมาณ 270 แห่ง ที่เราช่วยดูแลอยู่ ถ้าเกิดต้องขยายหรือลงทะเบียนเพิ่ม เราก็มีงบที่จะลงไปดูแลตรงนี้ได้ เป็นงบที่คุ้มค่า คือ งบเด็กลงทุนน้อยได้เยอะ เราไม่กังวลเลยเรื่องนี้แต่อาจจะต้องปรับระเบียบให้ถูกต้อง เราเสียเงินกับเรื่องอื่นเยอะแยะ เรื่องเด็กไม่ได้ใช้เงินเยอะแต่ว่าได้ผลตอบแทนเยอะ และผลที่ได้ไม่ใช่มิติเด็กอย่างเดียว ได้มิติพ่อแม่ที่จะมีแรงงานได้มากขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางหนึ่ง ถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นตัวเงิน แต่ช่วยเป็นผู้ดูแลลูกให้ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าความคุ้มค่าที่ลงไป ดังนั้นเรื่องเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่เรื่องจะเอาเข้าสู่ระบบอย่างไร มีระเบียบอะไรที่ต้องปรับแก้เพื่อให้สามารถโอบกอดคนได้จำนวนมากขึ้น” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

5