ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองผู้ว่าฯ ‘ทวิดา’ เชื่อ บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ ใน ‘กทม.’ ทำได้ แต่ห่วง 4 เรื่อง ‘เปลี่ยนระบบ-เชื่อมโยง-ความปลอดภัยข้อมูล-กรณี ปชช. ไม่ใช้บัตร ปชช. ยืนยันตัวตน’


เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ จะเป็นความท้าทายของ กทม. มากกว่าจังหวัดอื่นหรือไม่ ว่า ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ อีกทั้งปัจจุบันเวลาประชาชนมาเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลสังกัด กทม. ก็ต้องใช้บัตรประชาชนในการดำเนินการอยู่แล้ว ยกเว้นเป็นผู้ป่วยเดิม เพียงแต่อาจเป็นการต้องสละคุณสมบัติบางอย่างของเลขประจำตัวผู้ป่วยในโรงพยาบาล (Hospital Number) ที่ใช้อยู่ตอนนี้

ทั้งนี้ เพราะแต่ละโรงพยาบาลจะมีเลขประจำตัวผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยตัวเลขดังกล่าวจะช่วยให้รู้ว่าประชาชนไปรับบริการที่ไหนบ้าง บริการไปถึงขั้นไหนแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการจัดระบบ ทว่า เลขประจำตัวผู้ป่วยในโรงพยาบาลก็มีการเชื่อมกับเลขบัตรประชาชนอยู่แล้ว ฉะนั้น หากดำเนินตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ ซึ่งจะต้องใช้เลขบัตรประชาชนเพียงอย่างเดียว คิดว่าไม่น่ามีปัญหา 

“จริงๆ ตอนนี้ยังคุยกับโรงพยาบาลของ กทม. อยู่เลย 12 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุ ว่าไม่แอสไซน์ HN ใหม่ทุกรอบไหม ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขกับโรงพยาบาลช่วยใช้เลขประจำตัวผู้ป่วยเป็นเลขเดียวกัน ระหว่างนี้เราเลยจะเรียกว่า Health ID ไปก่อน แต่ถ้าเกิดใช้บัตรประชาชนเลยเราก็โอเค” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อเป็นห่วงก็คือ กรณีบัตรประชาชนไม่ได้อยู่กับตัว จำเลขบัตรประชาชนไม่ได้ หรือไมได้ใช้บัตรประชาชน แต่เป็นการใช้เอกสารยืนยันตัวตนอื่นๆ ซึ่งอาจต้องนำเอกสารมาบันทึกใหม่ ใส่รายละเอียด ต่างจากชิปในบัตรประชาชน ที่สำคัญถ้าจะมีการใช้เทคโนโลยี เช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในระบบ แต่การไม่มีบัตรประชาชนมาบันทึกข้อมูล และใช้การใส่ตัวเลขบัตรประชาชนแทน ก็อาจจะใช้ข้อมูลได้ไม่ค่อยสะดวก 

“ระบบจะใช้ได้ดี โรงพยาบาลไหนก็รับและรักษาได้ ต้องหมายรวมถึงข้อมูลของผู้ป่วยนั้นๆ วิ่งตลอดรอดฝั่งกันไปด้วยทุกที่ ดังนั้นการยินยอมของประชาชนก็เรื่องหนึ่ง การทำให้ระบบลิ้งก์กันในเชิงเทคนิคก็อยู่ในเรื่องของการที่โรงพยาบาลเปิดระบบและแลกข้อมูลกันด้วยในการรักษาพยาบาล 

“รวมถึง security ของข้อมูลเหล่านั้น ตรงนี้อาจจะเป็นห่วงพอสมควร เพราะข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมุลที่ส่วนตัวมากๆ แล้วก็เคยมีประสบการณ์ที่ผ่านมาตอนช่วงโควิดว่าเราต้องรักษาความปลอดภัยของระบบข้อมูลกันสูงมาก” รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุ

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นนโยบายดังกล่าวอาจทำให้ กทม. ดูแลประชากรที่มีปัญหาเรื่องเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และอื่นๆ ได้ดีขึ้น แต่ก็อาจจะต้องจัดระบบกับกองที่เหลือที่ไม่ใช่ 13 หลักปกติตั้งแต่ต้น 

“อย่าลืมว่า กทม. มีโรงพยาบาลหลักร้อยกว่าโรงพยาบาล ซึ่งไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่ สธ. ไม่ใช่ กทม. แต่เป็นเอกชน เพราะฉะนั้น ต้องมีการเชื่อมข้อมูลกับเอกชนอีก ซึ่ง กทม. เรามี run pilot อยู่กับโรงพยาบาล เรื่องการลิงก์ข้อมูลร่วมกัน โดยมีโรงพยาบาลเอกชนอยู่ประมาณ 2 แห่งที่มาร่วมทำข้อมูลกับเราอยู่ เดี๋ยวถ้ามีความก้าวหน้าในเรื่องระบบข้อมูลก็อาจจะให้ข้อมูลได้มากกว่านี้” รศ.ดร.ทวิดา กล่าว