ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ชี้ รายได้ที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพอาจมีผลต่อการตัดสินใจมีบุตร แนะ รัฐควรเข้ามาดูเรื่องสวัสดิการพื้นฐานให้เหมาะสม-ทบทวนสวัสดิการเด็กเล็ก-พัฒนาศูนย์ดูแลเด็ก รองรับการทำงานหลังลาคลอด 


ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอดีตหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการแรงงาน (กมธ.แรงงาน) สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ค่าครองชีพมีผลต่อการตัดสินใจมีบุตร ฉะนั้นจึงต้องกลับมาดูว่าคนส่วนมากในประเทศมีรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่ ซึ่งจากการสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน แนวทางการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่าที่เคยทำไว้นั้นระบุตัวเลขคร่าวๆ ว่า รายได้ที่เพียงพอต่อการดูแลตัวเองคนเดียว จะอยู่ที่ประมาณ 2.1 หมื่นบาท ขณะเดียวกันหากมีคนอื่นที่ต้องดูแลจะอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นบาท 

อย่างไรก็ดี หากจะมีการยกระดับค่าจ้างที่เหมาะสมหรือมาตรฐานการดำรงชีวิต (Living Wage) ก็จะทำให้นายจ้างมีต้นทุนในการจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้น เพราะส่วนนี้ไม่ได้อิงจากค่าจ้างขั้นต่ำที่สามารถดูแลตัวเองได้เพียงคนเดียว แต่ระดับค่าจ้างที่เหมาะสมยังดูไปถึงสมาชิกในครอบครัวที่อาจจะมีภาวะพึ่งพิง ฯลฯ ทำให้ค่าจ้างอาจจะสูงเกินกว่านายจ้างจะจ่ายไหว 

“ส่วนตัวก็จะบอกอยู่เสมอว่าหากจำเป็นต้องจ่ายเดือนละ 2 หมื่นบาท แต่นายจ้างสามารถจ่ายได้แค่ 1.5 หมื่นบาท ส่วนต่างรัฐจะต้องเข้ามาดูแลว่าจะจัดการกับระบบหลังบ้านอย่างไร เช่น ช่วยเรื่องค่าครองชีพ หรือสาธารณูปโภค หรือควบคุมราคาสินค้าได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ค่าครองชีพสูงแต่รายได้ต่ำซึ่งก็อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจมีบุตรได้” ดร.กฤษฎา กล่าว

ดร.กฤษฎา กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงเรื่องการวางแผนประชากร กำลังแรงงานมาตั้งแต่ประมาณปี 2520 และมองว่าภาครัฐ นโยบายรัฐ หรือนักการเมืองอาจไม่เข้าใจชีวิตของประชาชนจริงๆ ทำให้ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมคนไทยถึงไม่อยากมีลูก รวมไปถึงนโยบายการวางแผนกำลังคนหรือประชากรยังมองในระยะสั้น ซึ่งก็มองต่อไปได้ว่าหากสามารถลดค่าใช้จ่ายของคนในวัยทำงานได้ เช่น การสนับสนุนเงินเด็กเล็ก ฯลฯ จะช่วยให้การเข้าถึงทรัพยากร หรือสิ่งของจำเป็นบางอย่างได้ในระดับหนึ่ง 

นอกจากนี้ ไม่ควรนำงบจากเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดมาเป็นเรื่องของการดูแลเพื่อให้เข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐาน แต่อยากให้มองเป็นเรื่องของสิทธิความจำเป็นของครอบครัวหรือเด็กที่ควรจะได้รับการดูแลอย่างถ้วนหน้า เพราะขณะนี้การพิจารณาการจ่ายเงินอุดหนุนมีเกณฑ์ว่าครอบครัวจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี และไม่ได้ชัดเจนตั้งแต่ต้น 

ขณะเดียวกันก็ยังมีคนจำนวนมากที่รายได้เกิน 1 แสนบาทต่อปีที่อยู่ในระบบ แต่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี ตรวจจับรายได้ไม่ได้ ได้รับเงินช่วยเหลือ เนื่องจากมีการจ้างงานในระบบ 40% แต่อีก 60% เป็นเศรษฐกิจนอกระบบ รวมถึงเงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือน แม้ว่าไม่ได้เป็นจำนวนเงินที่มาก แต่ก็อาจจะพอใช้จ่าย เช่น ค่านม ได้ ซึ่งอาจจะต้องมาทบทวนว่าต้องเพิ่มอีกหรือไม่สำหรับเด็ก

“เราพูดถึงกระแสการพัฒนาทุนมนุษย์ เราพูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่สิ่งนี้เองเราแทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กที่จะเป็นประชากร หรือเป็นกำลังแรงงานในอนาคตที่สำคัญของประเทศชาติด้วยซ้ำ คิดว่าประเด็นนี้อาจจะต้องมาทบทวนกันอีกที” ดร.กฤษฎา กล่าว

ดร.กฤษฎา กล่าวว่า รัฐควรกลับมาดูแลเรื่องการพัฒนาสถานที่หรือศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เพราะไม่ใช่แค่การให้เงินอย่างเดียว แต่ควรต้องมีระบบบริการสาธารณะหรือระบบบริการทางสังคมที่เข้ามาดูแลเด็ก และควรเป็นระบบการดูแลที่มีทุกพื้นที่ ซึ่งจะสอดคล้องกับการที่ผู้ปกครองต้องกลับไปทำงานหลังจากลาคลอดแล้ว 

เนื่องจากแม้ว่าจะลาคลอด 90 วัน หรือมีการขยายออกไป 180 วัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือต้องมีระบบดูแล และไม่ควรผลักภาระให้เอกชนทำอย่างเดียว เพราะคนที่จะฝากดูแลส่วนมากจะเป็นครอบครัวคนทำงาน หรือครอบครัวจน หากไม่ตอบโจทย์กลายเป็นว่าคนชนชั้นกลางหรือคนจนก็จะต้องส่งลูก หลานกลับไปให้คนที่บ้านเลี้ยง 

“สิ่งที่น่าห่วงกว่านั้นคือโครงสร้างประชากรในอนาคตจะไม่เหมือนกับในอดีตที่ส่งลูกกลับไปยังชนบทแล้วจะมีผู้สูงอายุที่บ้านคอยเลี้ยง แต่เรายังไม่รู้เลยว่าหน้าตาโครงสร้างประชากรในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าห่วง” ดร.กฤษฎา ระบุ