ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การประชุมวิชาการ Pre-congress Meeting: MIS.S. Transgender The Reproductive Medicine Training course 2023 เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2566 ซึ่งจัดขึ้นภายในธีม 'Infertility Et Cetera' โดยภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีไฮไลท์สำคัญคือเวทีเสวนา หัวข้อ “FERTILITY POLICY IN 2023 AND BEYOND”

เวทีเสวนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของบุคลากรทางการแพทย์ในด้านการเจริญพันธุ์ การแก้ไขปัญหาการมีบุตรยาก การดูแลประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นในเชิงนโยบาย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมอภิปราย ประกอบด้วย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านวิชาการ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ภาควิชาการเงิน สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เข้าร่วม 

รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวถึงสถานการณ์ประชากรในประเทศว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเกิดของประชากรไทยเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และต้องกังวลร่วมกัน เพราะด้วยตัวเลขอัตราการเกิดที่น้อยกว่าอัตราการเสียชีวิต ซึ่งเป็นสัดส่วนการเกิดน้อยกว่าการตายมากกว่าแสนคน หากไม่มีการแก้ไข หรือวางระบบเพื่อแก้ปัญหา จะทำให้อีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรจะเหลือครึ่งหนึ่ง และจะลดลงไปอีกเรื่อยๆ 

รศ.ดร.ฉันชาย กล่าวอีกว่า ผลของการเกิดน้อยทำให้ประชากรวัยแรงงานลดน้อยลงไปตามธรรมชาติ และจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด และคาดว่าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มากกว่าค่าเฉลี่ยที่เป็นเกณฑ์วัดจากทั้งโลก ซึ่งประเด็นนี้สำคัญอย่างมาก ที่ทางการแพทย์ก็ต้องติดตามเพื่อที่จะได้ร่วมกันวางแผนดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะไม่รู้จักแนวทางที่ถูกต้องสำหรับดูแลตัวเอง 

1

“ไทยกำลังเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในเอเชีย ในอนาคตเราอาจต้องนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างจริงจังสำหรับการแพทย์ที่จะดูแลผู้สูงอายุ ทั้งระบบ AI นวัตกรรมต่างๆ เป็นต้น แต่ต้องเป็นการนำมาใช้ เพื่อทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมจริงๆ โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมนั้นๆ ในการเข้ามาเสริมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว 

ผศ.ดร.ปิยะชาติ กล่าวว่า อัตราค่าเฉลี่ยการเกิดของประชากรไทยอยู่ที่ 1.3 คนต่อแสนประชากร ขณะที่หากเป็นสัดส่วนที่จะแก้ปัญหาเรื่องของจำนวนประชากรได้ ประเทศนั้นจะต้องมีอัตรากาเรกิดอยู่ที่ 2.1 คนต่อแสนประชากร เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในประเทศ และทำให้การพัฒนาทุกด้านเกิดขึ้นและเดินหน้าตามระบบที่ควรจะเป็นได้ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการเกิดในประเทศไทยที่จำนวนน้อยลงแต่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นนั้น หากมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดให้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงและทำงานได้แม้จะเกษียณไปแล้ว และเสริมเรื่องของนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เป็นชุดสิทธิประโยชน์ในด้านการส่งเสริมสุขภาพที่ช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ทำงานได้ต่อไป ก็จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนาประเทศทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม ให้ได้ไปต่อบนเงื่อนไขที่เราต้องเผชิญ 

"ทุกปีของประเทศไทย จะมีผู้สูงอายุที่เกษียณจากงานปีละ 1 ล้านคน แต่เราเอาคนจำนวนนี้กลับเข้าสู่ระบบแรงงานได้แค่ 10% เท่ากับว่า เราเสียกำลังคนไป 9 แสนคนต่อปี ถ้า 10 ปี เราก็เสียกำลังคนไปถึง 9 ล้านคน ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้ยังทำงานได้ มีกำลัง แต่ต้องเสริมแรงช่วยเขาอย่างเป็นระบบ" ผศ.ดร.ปิยะชาติ กล่าว 

ผศ.ดร.ปิยะชาติ ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ที่มีสตาร์ทอัพผลิตชุดช่วยพยุงร่างกาย ที่ช่วยทำให้ผู้สูงอายุยืนได้ แต่ในความจริงแล้วผู้สูงอายุกำลังนั่งอยู่ ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานที่ต้องยืนได้ต่อไป เช่น แคชเชียร์ หรือทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือในบางประเทศ มีการเปิดคอร์สให้ผู้สูงอายุสอนผู้สูงอายุด้วยกัน ทั้งในด้านการดูแลสุขภาพร่างกาย ด้านการประกอบอาชีพ และมีรายได้ส่วนแบ่งจากการเปิดคอร์สอบรมต่างๆ 

"ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับภาคนโยบายที่ต้องดูแลประชากรสูงอายุ จำเป็นต้องปรับแนวคิดใหม่เกี่ยวกับคุณค่าของผู้สูงอายุ เพราะพวกเขาแม้เกษียณไปแล้วก็ยังเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า หรือต้องคิดหาโรลโมเดลที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ได้เสริมคุณค่าของตัวเองเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับภาคส่วนอื่นๆ ได้เดินตาม" ผศ.ดร.ปิยะชาติ กล่าว 

4

ขณะที่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า แนวโน้มประชากรไทยลดลงตลอด 10 ปีที่ผ่านมามีเด็กไทยเกิดน้อยลงกว่า 1 ล้านคนต่อปี พบว่า ปี 2565 เป็นปีแรกที่มีประชากรเกิดน้อยกว่าประชากรที่เสียชีวิต และกำลังเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญและต้องใส่ใจร่วมกันในการช่วยกันแก้ไข 

ทั้งนี้ หากมองมาที่ สปสช. ก็มีส่วนในการพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ทางสุขภาพให้กับประชาชนอย่างครอบคลุม แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า บางชุดสิทธิประโยชน์ก็อาจทำให้ประชาชนอีกบางส่วนไม่ได้ประโยชน์นี้เช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ สปสช.จะต้องเข้าไปแก้ไข 

อย่างไรก็ตาม สปสช. ยินดีอย่างยิ่งที่จะรับฟังข้อคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบริการสุขภาพให้กับประชาชน เพื่อนำไปขบคิดต่อและประยุกต์ใช้กับแนวคิดของ สปสช. ที่ต้องการให้ทุกคนเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิประโยชน์ของตัวเองอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม 

"ในเรื่องของสังคมสูงวัย และการกระตุ้นการเกิดที่จะทำเป็นชุดสิทธิประโยชน์ต่างๆ สปสช. ยินดีที่จะดำเนินการตามข้อเสนอแนะต่างๆ แต่ก็ต้องทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ด้วย ยกตัวอย่างหากจะใช้ทางการแพทย์ช่วยให้มีลูก คนจนที่อยากมีลูกก็ต้องเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ด้วย สปสช. ยินดีเอาเงินไปจ่ายให้ หากว่ามีความคุ้มค่าต่อทั้งระบบได้จริง และทำให้ประเทศได้ผลกำไรจากประชากรที่เพิ่มขึ้น" นพ.จเด็จ กล่าวตอนท้าย