ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุ ปัญหาชายเป็นใหญ่-ผลักการมีลูกให้เป็นเรื่องของผู้หญิง-สวัสดิการไม่ยังไม่ตอบสนองเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไม่อยากมีลูก แนะ ควรมีกฎหมายการลาเลี้ยงบุตรของผู้ชายในภาคแรงงานและเอกชน-ขยายการลาคลอด 180 วัน-ตั้งศูนย์เด็กเล็กในเขตโรงงาน-ปรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเป็นถ้วนหน้า  


นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า เรื่องการมีบุตรยังอยู่ภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่มาก เนื่องจากเป็นการผลักภาระให้ผู้หญิงมาโดยตลอดว่าถ้ามีลูกจะเป็นแค่เรื่องของผู้หญิงเท่านั้น และทำให้การมีลูกของผู้หญิงกลายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล นายจ้างหรือสังคมไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่แรงงานอย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่อยากลูก เพราะสามารถลาคลอดได้เพียง 90 วัน แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มอื่นด้วย โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับเรื่องที่มีการเรียกร้องให้มีการขยายลาคลอด 180 วัน สอดคล้องกับทางฝั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็เคยได้มีการพูดเรื่องนี้นานแล้ว เพราะตอนนี้ผ่านมา 30 ปี ผู้หญิงก็ยังลาคลอดได้เพียง 90 หรือ 98 วันเท่านั้น 

“ถ้าสังคมมองว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นการทำให้ทรัพยากรมนุษย์เติบโตอย่างมีคุณภาพ อยู่ใกล้ชิด กินนมแม่ แต่เขาไม่ได้คิดแบบนั้น เขามองว่าเป็นภาระผู้หญิงเขาก็เลยไม่ได้เพิ่มให้ มีการบอกว่าควรจะเพิ่มเป็น 180 วันก็ถูกต้องแล้ว” นายจะเด็จ กล่าว 

นายจะเด็จ กล่าวต่อไปว่า อีกทั้งการเลี้ยงลูกไม่ได้จำกัดแค่เพียงเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น แต่ผู้ชายก็มีบทบาทในส่วนนี้เช่นกัน ฉะนั้นจึงควรมีกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ชายสามารถลาช่วยเลี้ยงบุตรได้ด้วยในภาคแรงงานด้วย เพราะตอนนี้มีเพียงข้าราชการเท่านั้นที่สามารถลาได้ 15 วัน แต่ในภาคแรงงาน หรือเอกชนยังไม่มี หรือมีเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น และที่ผ่านมายังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กเกิดมาแล้วก็ต้องมีสวัสดิการรองรับไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ควรผลักให้กลายเป็นถ้วนหน้าอย่างครอบคลุม จากเดิมที่เป็นระบบการลงทะเบียน และควรจะเพิ่มงบประมาณสนับสนุนไม่ใช่แค่เงิน 600 บาทต่อเดือน เช่นเดียวกับการจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กเล็กในเขตพื้นที่อุตสาหกรรมหรือชุมชนรอบอุตสาหกรรม เพื่อรองรับเด็กที่พ่อและแม่จะต้องกลับมาทำงาน ซึ่งสวัสดิการตรงนี้ยังไม่มีการต่อยอด และยังไม่มีสวัสดิการที่ทำให้คนรู้สึกอยากมีลูก

“สำหรับศูนย์เด็กเล็กในเขตโรงงานมีน้อย และไม่มีสวัสดิการแรงงานกับกลุ่มลูกจ้าง ควรจะเป็นกฎหมายออกมาให้ลูกจ้างได้จ่ายในราคาไม่แพงมากและควรจะเกิดขึ้นทุกจุดในเขตอุตสาหกรรม รวมไปถึงเขตใกล้เมือง รัฐควรเข้ามาดูแลร่วมกับเอกชน เพื่อรองรับกรณีเด็กที่คลอดและพ่อแม่ต้องกลับมาทำงาน เพราะในอดีตมีการเรียกร้องจากขบวนการแรงงาน ตอนนี้การเรียกร้องมันเริ่มซา” นายจะเด็จ กล่าว 

นายจะเด็จ ทิ้งท้ายว่า หากสังคมมองเรื่องทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าตั้งแต่เด็กจนโตก็ต้องเปลี่ยน ทั้งให้สิทธิผู้ชายสามารถลาช่วยเลี้ยงบุตรได้ ฝั่งนายจ้างก็ต้องมีสวัสดิการดูแล หรือเปลี่ยนบทบาทงานสำหรับหญิงตั้งครรภ์ให้เหมาะสม รัฐเข้ามาสนับสนุนศูนย์เลี้ยงเด็กให้ในราคาที่ไม่แพง รวมถึงปัญหาแค่แรงขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่ใช่การโทษผู้หญิง หรือบ่นว่าเด็กเกิดน้อยโดยไม่มองปัญหาโครงสร้าง