ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน ระบุ การแข่งขัน-ทุนนิยม เป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจไม่มีบุตร แนะรัฐต้องทำสวัสดิการพื้นฐานให้ดี-ทำให้การเลี้ยงบุตรถูกที่สุด 


ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจไม่มีครอบครัวหรือมีลูกคือการแข่งขันที่ค่อนข้างเสรีตามกระแสทุนนิยม เช่น ด้านการศึกษาที่จะเห็นได้ว่าภาครัฐและเอกชนมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ครอบครัวที่อยากมีลูกต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปอย่างมาก ฉะนั้น ถ้ารัฐทำให้ไม่มีการแข่งขันระหว่างสถานศึกษา หรือไม่ทำให้มีคุณภาพแตกต่างกันจนต้องทุ่มรายได้ส่วนมากไปที่การศึกษา การมีครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น หรือการมีลูกอาจจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ 

รวมไปถึง บริการทางสุขภาพด้วย โดยในปัจจุบันถูกทำให้กลายเป็นสินค้ามากขึ้น เช่น วัคซีนโควิด-19 แต่ละชนิด ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็มีความแตกต่างกัน คนที่มีเงินมากกว่าก็สามารถเข้าถึงได้มากกว่า จึงต้องกลับไปมองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ที่ผลักให้คนมีรายได้น้อยมีความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรได้น้อยกว่า 

  “ผมคิดว่าปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งในสังคมที่ทุกอย่างเป็นสินค้า และการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียม จะผลักให้คนจนไปอยู่กับสินค้าราคาต่ำและไม่ได้คุณภาพ คนรวยเท่านั้นถึงจะได้สินค้าราคาดี เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ซึ่งก็ต่อไปเรื่องของความเหลื่อมล้ำว่าลูกคนรวยเท่านั้นที่เรียนได้ดี พูดภาษาอังกฤษได้เหมือนฝรั่ง ส่วนลูกคนจนก็จะเป็นพลเมืองอีกประเภทหนึ่ง เป็นพลเมืองประเภทสองไปเลย” ศาสตราภิชาน แล ระบุ 

ศาสตราภิชาน แล กล่าวต่อไปว่า หากพูดในแง่ของเศรษฐศาสตร์ รัฐต้องทำให้ค่าเลี้ยงดูบุตรถูกมากที่สุด ได้คุณภาพดีเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน และเป็นภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละครอบครัวน้อยที่สุด เพราะฐานะของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ความจำเป็นที่จะต้องเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคตนั้นเท่ากัน แม้จะมีรายได้สูงแต่รัฐไม่มีสวัสดิการก็อาจจะไม่พอเลี้ยง ยกตัวอย่างปัจจัยพื้นฐาน เช่น การศึกษา หากทำไม่ให้ตกเป็นภาระของบุคคลหรือครอบครัวที่มีรายได้ต่างกัน และรัฐดูแลไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำก็น่าจะดีกว่า 

สำหรับเรื่องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ส่วนตัวมองว่าต้องดูที่หลักคิด เพราะคำว่าถ้วนหน้าหมายถึงสิทธิของพลเมือง แต่ทุกวันนี้บางครั้งต้องพิสูจน์ความจน จึงเป็นเรื่องของสังคมสงเคราะห์มากกว่าสิทธิ์ แต่จะทำอย่างไรเมื่อผลักให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าแล้ว รัฐจะสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงระบบราชการจะช่วยสนับสนุนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งกลไกของระบบทุนนิยมดีตรงที่ทำงานได้เร็ว แต่ไม่ยุติธรรม ขณะที่กลไกของรัฐดูถ้วนหน้า แต่ไม่มีประสิทธิภาพ

ศาสตราภิชาน แล กล่าวอีกว่า เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำใช้เฉพาะกับคนที่เป็นลูกจ้างแรกเข้าไร้ฝีมือ แต่คนส่วนมากไม่ใช่ลูกจ้างแรกเข้าไร้ฝีมือ ฉะนั้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจะไม่ใช่สิ่งที่ช่วยให้คนตัดสินใจมีบุตร ขณะเดียวกันนิยามค่าจ้างขั้นต่ำที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) ประกาศเรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ พ.ศ. 2516 ไว้ว่าครอบคลุมเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ลูกจ้างเพียงคนเดียวจะได้รับและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ จากเดิมที่ตามหลักสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ระบุครอบคลุมค่าครองชีพแรงงานและครอบครัว 3 คน พ่อ แม่ ลูก 

“ค่าจ้างขั้นต่ำคือค่าจ้างที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ เพราะว่าใช้กับลูกจ้างแรกเข้าและไร้ฝีมือ ถ้าลูกจ้างไม่ใช่แรกเข้าและไร้ฝีมือก็ไม่ใช่ลูกจ้างที่จะกินค่าแรงขั้นต่ำ” ศาสตราภิชาน แล ระบุ