ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ปรึกษาอาวุโส IHRI ระบุ โครงการแข่งขันชิงรางวัล “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว” ระดับประเทศ เป็นการกระตุ้นให้แต่ละจังหวัดหาวิธีให้ผู้ติดเชื้อ-พฤติกรรมเสี่ยงเข้าสู่กระบวนการตรวจ-รักษาได้เร็ว หวังเป็นอีกหนึ่งวิธียุติเอดส์ภายในปี 2573 ด้าน จังหวัดพิษณุโลกคว้ารางวัลชนะเลิศ จาก 13 จังหวัด


เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565  นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานมอบรางวัล “โครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว” ระดับประเทศ รอบที่ 1 ให้แก่ 13 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กรุงเทพมหานคร (กทม.) เชียงใหม่ อุดรธานี สุโขทัย พัทลุง เชียงราย ชัยภูมิ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ภูเก็ต นครปฐม และลำปาง โดยจังหวัดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ พิษณุโลก

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ในฐานะเจ้าของโครงการฯ เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า วัตถุประสงค์ของโครงการฯ เป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้โรงพยาบาล หรือสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ หาวิธีที่จะทำให้คนที่ติดเชื้อ หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อเชื้อเอชไอวีเข้าสู่กระบวนการตรวจเร็ว และเข้ารับการรักษาได้ทันที ก่อนที่จะป่วยหรือมีภูมิกันที่ต่ำมากจนอาจจะทำให้แพร่เชื้อต่อผู้อื่นได้

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า หากรู้เร็วและเข้าสู่การรักษาเร็วก็จะทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่แพร่เชื้อ ซึ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยได้ภายในปี 2573 และหวังว่าจะเป็นบทเรียนหรือเป็นโมเดลแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมการแข่งขัน หรือแม้แต่ประเทศอื่นสามารถทำตามได้

สำหรับโครงการฯ เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีจังหวัดที่เข้าร่วม 13 จังหวัด ซึ่งในช่วงระหว่างการแข่งขันจะมีเกณฑ์พิจารณาดูระดับภูมิกันของผู้ที่เข้ามาตรวจว่าดีขึ้นหรือไม่ หรือคนที่รอรับยาจากเดิมหลายอาทิตย์ สามารถรับยาได้เร็วขึ้นหรือไม่เมื่อเทียบกับข้อมูล 6 เดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ ในเดือน ม.ค. 2566 จะเริ่มต้นโครงการรอบที่ 2 คาดว่าจะมีจังหวัดที่เข้าร่วมประมาณ 12 จังหวัด ขณะเดียวกันก็จะมีการกำหนดเกณฑ์เล็กน้อย เช่น จังหวัดที่จะเข้าร่วมจะต้องมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างน้อยเดือนละ 10 คน ฯลฯ เพื่อที่จะสามารถคำนวณและติดตามความก้าวหน้าได้

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวอีกว่า จังหวัดพิษณุโลกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้น สืบเนื่องจากมีความร่วมของภาคประชาสังคมค่อนข้างมาก และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ให้ความสนใจโดยให้ทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์ รณรงค์หาผู้ติดเชื้อ ซึ่งก็เป็นเครดิตจากผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด และภาคประชาสังคมในจังหวัด

“เรามีคณะกรรมการพิจารณาอย่างละเอียด เช่น เมื่อเข้าไปในโรงเรียน เรือนจำ หรือกลุ่มเสี่ยงเป็นอย่างไร และระดับภูมิคุ้มกันที่ตรวจเจอดีขึ้นกว่าเดิมจริงมากน้อยแค่ไหน เราเอาข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่มีข้อมูลเหล่านี้อยู่มาคำนวณได้” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าว

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมียาต้านไวรัส และคนไทยทุกคนสามารถตรวจหาเชื้อได้ฟรีปีละ 2 ครั้ง ผ่านสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งบริหารจัดการโดย สปสช. แต่ก็พบว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มาตรวจและเจอเชื้อ หรือเข้ามารับยาจะมีภูมิต่ำมาก (ค่า CD 4 ต่ำกว่า 200) ทำให้มีโอกาสป่วยและเสียชีวิตได้

“ตรวจเจอเร็วก่อนที่จะป่วย และรักษาเร็วอันนี้ก็คือจุดประสงค์ รวมไปถึงให้จังหวัดต่างๆ มีความสนใจทำเรื่องเอดส์ให้กลับมาฟื้นคืนชีพใหม่ คือตอนนี้ซาไปเยอะตั้งแต่มีโควิด-19” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ระบุ

อนึ่ง โครงการแข่งขันชิงรางวัล “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว” ระดับประเทศ มีกลยุทธ์สำคัญคือ การขับเคลื่อน “จังหวัดยุติเอดส์” โดยสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายระดับจังหวัด ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม และเอกชน เพื่อป้องกันควบคุมโรคเอดส์ในพื้นที่ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังช่วยให้กลุ่มเป้าหมายที่มีพฤติกรรมเสี่ยงผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงทุกกลุ่มประชากรสามารถตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี ทราบผลได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงบริการสุขภาพ และเข้าถึงกระบวนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ทันทีและต่อเนื่อง