ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“We are the champions, my friends and we’ll keep on fighting till the end.” ท่อนหนึ่งจากเพลง “We are the Champions” จากวง Queen ถูกเปิดขึ้นหลังจากจบการเสวนา “ถึงเวลาให้ชุมชนนำทางมุ่งสู่การยุติเอดส์” ที่จัดขึ้นโดยโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNAIDS) ร่วมกับภาคีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่ 24 พ.ย. 2566 

เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกัน แก้ไขปัญหาเอดส์มุ่งสู่ “เป้าหมายในการยุติปัญหาเอดส์ในปี 2573” หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า โดยใช้ “ภาคประชาชน” หรือ “ชุมชน” ที่อยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มเป้าหมายเข้ามาช่วยถือคบเพลิงนำทางในการยุติปัญหาเอดส์ ตลอดจนกะเทาะปัญหาอุปสรรคที่ยังเกิดขึ้น รวมถึงแนวทางหนุนเสริมจากภาครัฐที่เข้ามาทำให้การบรรลุเป้าหมายเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น 

1

ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้ว ‘ชุมชนพร้อมนำ’

สุรางค์ จันทร์แย้ม ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาด้านเอดส์ กล่าวในฐานะผู้แทนชุมชนถึงความพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการยุติเอดส์ว่า หลังจากที่ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานานในด้านการยุติเอดส์ รวมถึงได้คิดวิธีการทำงานและนวัตกรรมอีกราว 9 ปี เหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า “ชุมชนมีความพร้อม” และยินดีที่จะร่วมเดินทางดำเนินงานในการยุติเอดส์ร่วมกับภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ รวมไปถึงในระดับนานาชาติ 

“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับในบทบาทของชุมชน ให้ร่วมกันนำพาประเทศยุติเอดส์ สิ่งสำคัญมากๆ ที่จะทำให้ธีมงานวันเอดส์โลกในปีนี้ที่บอกว่าให้ชุมชนนำทางเป็นจริงได้ คือเราต้องช่วยกันด้วยความจริงใจ และตั้งใจที่จะให้องค์กรภาคประชาสังคมสามารถที่จะร่วมเป็นผู้นำได้” สุรางค์ ระบุ 

s

รัฐต้องเป็น ‘ปากเสียง’ ร่วมกับชุมชน

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการวิจัยและนโยบาย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เชื่อมั่นว่าการที่นำชุมชนเข้าไปหาผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ ทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้รับบริการ และเข้าถึงยารวดเร็วจนไม่พบเชื้อ และไม่แพร่เชื้อ จะเป็นกลไกที่ทำให้สามารถยุติเอดส์ได้ ฉะนั้นการเปิดโอกาสให้ชุมชนเป็นแกนนำในเรื่องสุขภาพเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และยังสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกโรค 

ทว่า อุปสรรคที่ทำให้ยังไม่สามารถยุติเชื้อได้นั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย เนื่องจากการเปลี่ยนระดับผู้บริหาร รวมถึงความล่าช้า และกฎ หรือระเบียบบางอย่างที่ทำการให้บริการยังไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร

มากไปกว่านั้น การจะใช้เสียงจากชุมชน หรือภาคประชนเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ดังพอ ฉะนั้น “รัฐจะต้องพูดด้วย” และจะต้องกล้าพูดต่อหน้าสาธารณะ เช่น หญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ร่วมกับเชื้อสามารถรับประทานยาและมีบุตรได้ หรือไม่บังคับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อให้ทำหมัน ฯลฯ 

“ถึงเวลาที่เราจะต้องทำให้เอชไอวีกลายเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนจะได้หยุดการตีตราทั้งตัวเอง และภายนอก ศ.เกียรติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าว 

4

‘กลัวถูกจับ’ อีกปัญหาทำผู้อยู่ร่วมกับเชื้อไม่เข้าระบบบริการ

นิภากร นันตา ตัวแทนมูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้หญิงที่ต้องอยู่ร่วมกับเชื้อ รวมถึงเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อยังมีปัญหาเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ตลอดจนเมื่อต้องเข้าสู่บริการ เพราะจะได้รับคำพูดว่า “ไม่ควรตั้งครรภ์” หรือ “ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์” 

มากไปกว่านั้นเมื่อต้องอยู่ร่วมกับเชื้อและตั้งครรภ์ก็จะได้รับคำพูดอยู่เสมอว่า “เมื่อมีเอชไอวี ทำไมถึงยังตั้งครรภ์?” ซึ่งเป็นชุดคำพูดที่คล้ายคลึงกับอดีตเมื่อ 10 ปีผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหญิงที่อยู่ร่วมกับเชื้อและใช้สารเสพติดก็จะยิ่งถูกตีตรา เกิดเป็นความหวาดกลัว และกังวล ส่งผลให้เข้าไม่ถึงบริการ ซึ่งส่วนนี้จะยิ่งทำให้เด็กที่จะเกิดออกมามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไปด้วย 

นิภากร อธิบายต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนที่ทำให้ผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเชื้อรู้สึกกดดันในการเข้ารับบริการ ในหน่วยบริการ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความซับซ้อนอันเนื่องมากจากการใช้สารเสพติด 

“เขากลัวที่จะฝากครรภ์ เพราะกลัวการถูกจับ และถูกตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องเลิกยา เจอคำขู่ เราคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาหลุดจากระบบบริการ เพราะมีการใช้คำพูดลดทอนคุณค่าของผู้หญิงด้วยกัน” นิภากร ระบุ 

5

สอดคล้องกับสิ่งที่ อัญชณาภรณ์ พิลาสุตา ผู้แทนพนักงานบริการ ที่บอกว่า การจะให้พนักงานเข้าสู่ระบบบริการ หรือได้รับการตรวจเอชไอวียังมีอุปสรรค โดยเฉพาะในด้านกฎหมาย เพราะการทำงานในลักษณะนี้ยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย ทำให้คนกลุ่มนี้กลัวว่าเมื่อเข้าถึงบริการจะมีการเปิดเผยข้อมูล หรือถูกดำเนินคดี รวมถึงบางกรณีเจ้าของกิจการมีการทำข้อตกลงกับคลินิกเอกชน ซึ่งเป็นการให้รับบริการเชิงบังคับ มีการหักเงิน ทำให้การจะเข้ารับบริการอาจจะยังเกิดความ “รู้สึกอึดอัด” ด้วยเช่นกัน 

ที่ผ่านมา “SWING” ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนร่วมดำเนินการทำความเข้าใจกับเจ้าของกิจการ ให้ตระหนักเรื่องของการตรวจสุขภาพ รวมถึงทำความเข้าใจร่วมกับผู้ใช้กฎหมาย หรือตำรวจ โดยเน้นไปที่ด้านสังคมว่าสิทธิในการตรวจสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งตำรวจสามารถมีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ดีขึ้นได้ 

4

ณชา อบอุ่น ผู้แทนเยาวชน กล่าวเสริมว่า แม้ประเทศไทยจะสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ง่าย มียาที่ดี รับประทานง่าย แต่ก็ยังพบว่าผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อส่วนใหญ่ “เลือกที่จะไม่รับประทาน” เพราะกลัวว่าเมื่อหยิบยาขึ้นมาแล้ว คนรอบข้างจะรู้ว่ามีเชื้อเอชไอวี ทำให้ต้องปิดบังสถานะของตนเอง มากไปกว่านั้นในการทำงาน ยังมีบางคนที่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากมีใบตรวจสุขภาพที่ระบุว่ามีเชื้อเอชไอวี 

รวมไปถึงผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แม้จะตั้งครรภ์ได้แต่ก็มีความกังวลว่าคู่ของตนจะทราบว่าอยู่ร่วมกับเชื้อ ทำให้ไม่ไปฝากครรภ์เพราะอาจจะต้องถูกถาม บางคนต้องคลอดฉุกเฉิน ทำให้ความเสี่ยงเกิดขึ้นกับเด็ก

“วันนี้เราจะยุติเอดส์เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ดูแวดล้อมอื่นนอกจากการรักษา ยังมีส่วนที่ทำให้พวกเขาอยู่ในสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่ทำงานและชุมชน ต้องช่วยกันให้รู้ว่าเอชไอวีรักษาได้ และคนรอบข้างจะเป็นส่วนช่วยทำให้เขาเข้าสู่การรักษาต่อเนื่อง” ณชา ระบุ 

ณชา บอกอีกว่าสิ่งที่จะช่วยยุติเชื้อเอชไอวีได้ คือการทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อไม่รู้สึกว่าไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ ตราบใดที่ยังต้องปิดบังสถานะของตัวเอง หรือกลัวความผิดบาปนั่นคือการส่งต่อเชื้อ ขณะเดียวกันก็ยังมีบางคนกลับมารับประทานยาอย่างต่อเนื่อง เพราะคนรอบข้างเข้าใจและไม่มีตีตราว่าเขาเป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ 

4

ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อยัง ‘ตีตราตัวเอง’

พงศ์ธร จันทร์เลื่อน ประธานอำนวยการการสำรวจดัชนีการตีตราผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี ประเทศไทย ให้ภาพด้วยข้อมูลจากเครื่องมือการวัด “ดัชนีตีตรา” หรือ Stigma Index ซึ่งเป็นเครื่องมือรวบรวมหลักฐานผลกระทบจากการตีตราผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี (HIV) ตั้งแต่ปี 2565-2566 ในการดำเนินการครั้งที่ 2 (การใช้เครื่องมือชนิดนี้ดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2552-2553) จากกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสุขภาพจิตดี และยินยอมเข้าร่วมการสำรวจ จำนวน 2,500 คน ใน 25 จังหวัด ครบทั้ง 13 เขตสุขภาพ โดยพบว่ายังมี “การตีตราภายในตัวเอง” ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกตีตราจากภายนอก และการถูกเลือกปฏิบัติ ทำให้บางคนยังกังวล กลัวที่ต้องอยู่ร่วมกับเชื้อ 

การสำรวจครั้งนี้พบว่าผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อมียังมีอัตราการตีตราภายในตัวเองสูงถึง 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 40% ของการสำรวจ ถือว่ายังเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง โดยในกลุ่มที่มีการตีตราภายในตัวเองมากที่สุดคือกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย รวมถึงกลุ่มอายุ 18-24 ปี รองลงมาคือกลุ่มหญิงข้ามเพศ (Trans Women) ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อที่ใช้สารเสพติด พนักงานบริการทางเพศ (Sex Workers) เป็นต้น 

4

“การตีตราภายในส่งผลกระทบต่อการยอมรับการเข้าการรักษาของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ และมองว่าเอชไอวีเป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ระบบบริการ” นายพงศ์ธร กล่าว

สำหรับการสำรวจดัชนีการตีตราผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพัฒนาเชิงวิชาการให้กับการทำงานของชุมชน ว่าจะต้องเริ่มต้นดำเนินการอย่างไร บนฐานข้อมูล และข้อเท็จจริงเพื่อที่ให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างตรงจุด

‘กรมควบคุมโรค’ กำหนด 6 ยุทธศาสตร์ยุติเอดส์

นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า ปัจจุบันยังพบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อปีอยู่ราว 9,230 ราย มีผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อประมาณ 5 แสนราย และมีผู้เสียชีวิตต่อปีประมาณ 1 หมื่นราย ซึ่งกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คร. มีเป้าหมายว่าต้องการให้ผู้ป่วยเอชไอวีรายใหม่มีน้อยกว่า 1,000 คนต่อปี รวมถึงลดการเสียชีวิตให้น้อยกว่า 4,000 รายต่อปี ตลอดจนลดการถูกเลือกปฏิบัติให้ได้น้อยกว่า 10% อีกด้วย

นั่นจึงเป็นที่มาของ 6 ยุทธศาสตร์ยุติปัญหาเอดส์ ประกอบด้วย 1. มุ่งเน้นและเร่งรัดการจัดบริการที่มีประสิทธิผลสูงให้ครอบคลุมพื้นที่ และประชากรภาวะเสี่ยงสูง 2. ยกระดับคุณภาพ และบูรณาการป้องกันที่มีประสิทธิผลให้เข้มข้น และยั่งยืน 3. พัฒนา เร่งรัดการรักษา ช่วยเหลือทางสังคมให้มีคุณภาพและยั่งยืน

1

4. ปรับภาพลักษณ์ ความเข้าใจ เสริมสร้างความเข้มแข็งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนรวมทั้งกลไกในการคุ้มครองสิทธิ 5. เพิ่มความร่วมรับผิดชอบ การลงทุน และประสิทธิภาพการจัดการในทุกภาคส่วนทุกระดับ และ 6. ส่งเสริม พัฒนาการเข้าถึง และการใช้ประโยชน์ข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ และการวิจัยที่รอบด้าน 

มากไปกว่านั้น ยังมีสิ่งที่อยากให้ “ชุมชน” นำทางร่วมกันยุติปัญหาเอดส์ใน 4 ประการสำคัญ ประกอบด้วย 1. ค้นหาเชิงรุก เร่งรักษา และเข้าถึงการตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง (Self-Test) หรือรับยาต้านเชื้อไวรัสภายในวันนั้น 2. เป็นพันธมิตรกับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ ดูแลสภาพจิตใจ 3. การป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ รวมถึงการแพร่กระจายเชื้อ และ 4. รวบรวมฐานข้อมูลเป็นภาพทั้งประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ และสามารถเข้าถึงได้เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ได้

“ขอบคุณทุกคนทำให้ปัญหาเบาบาง ชุมชนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานขับเคลื่อนได้ ซี่งในส่วนของกองโรคเอดส์ฯ พร้อมร่วมมือและเป็นสื่อกลางในทุกมิติให้ประเทศไทยมุ่งสู่การยุติเอดส์ตามเป้าหมาย” นพ.นิติ ระบุ 

4

กทม. เตรียมขับเคลื่อน ‘หน่วยปฐมภูมิ’ ลดช่องว่างการให้บริการ

นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า การรักษาหากจะใช้แพทย์อย่างเดียวอาจจะไม่พอ ซึ่งจากการร่วมงานกับภาคประชาสังคมใน 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีความก้าวหน้าขึ้นอันเนื่องมาจากการร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากภารกิจของโรงพยาบาลที่แม้จะมีการให้การรักษา แต่ด้วยภารกิจอาจทำให้การดูแลผู้ที่ยู่ร่วมกับเชื้อ หรือผู้ที่สงสัยอาจยังไม่มากพอ จึงทำให้มองถึงหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ อย่าง “ศูนย์บริการสาธารณสุข” 

สำหรับ กทม. มีการการพัฒนาการเริ่มรักษาด้วยยาต้านเอชไอวีภายในวันเดียวกับวันที่ตรวจ วินิจฉัยการติดเชื้อเอชไอวี หรือ Same-Day ART โดยจะเริ่มทำต้นแบบในปีนี้ ซึ่งในขณะนี้ กทม. มีศูนย์บริการสาธารณสุข 48 แห่งที่ให้บริการดังกล่าว โดย 7 แห่งที่สามารถเริ่มยาต้านไวรัสได้ และมี 37 แห่งที่รับส่งต่อ และให้ยาอย่างเนื่อง

“ตอนนี้เรากำลังทำ Same-Day อยู่ 2 ที่ นั่นก็คือที่ตากสิน และธนบุรี ซึ่งกระบวนการนี้จะนำ Telemedicine เข้ามาร่วมด้วย” นพ.สุนทร ระบุ 

มากไปกว่านั้น คาดว่าในปีถัดไปอย่างน้อยศูนย์บริการสาธารณสุข 7 แห่งจาก 48 แห่ง จะสามารถเริ่มให้ยาต้านไวรัสได้ภายในวันเดียว รวมถึงคาดว่าในส่วนการรับส่งต่อตั้งใจให้ได้ 70% ในพื้นที่ทั้งหมดของ กทม. พร้อมทั้งเตรียมพัฒนาผู้ให้บริการเพื่อลดการตีตรา เปลี่ยนความเข้าใจให้รักษาผู้ป่วยเสมือนญาติพี่น้อง 

1

สปสช. พร้อมสนับสนุน ‘บริการ’ ทุกรูปแบบ

ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า

เนื่องจาก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ระบุให้สามารถรับหน่วยบริการภาคประชาชนเข้ามาเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านได้ตามมาตรา 3 ซึ่งในขณะนี้พบว่ามีหน่วยบริการภาคประชาชนอยู่ในระบบแล้วราว 39 แห่ง โดย สปสช. พร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนทั้งหน่วยบริการ และภาคประชาชน

มากไปว่านั้น หากภาคประชนกลุ่มใดเห็นถึงปัญหา และมีนวัตกรรมในการแก้ไขหรือช่วยเหลือได้  สปสช. ก็พร้อมที่จะสนับสนุน เพื่อช่วยให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อสามารถก้าวข้ามการตีตราจากภายใน และพร้อมที่จะเข้าสู่การรักษาในระบบ

“สปสช. พยายามมองหาทรัพยากรในชุมชนเข้ามาปิดช่องว่าง จึงมีแนวคิดที่อยากจะปลุกทั้งเครือข่ายผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ หรือกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการจากการถูกตีตราให้เข้ามารู้จัก สปสช. เพื่อเข้ามาบอกความประสงค์ในการจัดการปัญหา สปสช. พร้อมสนับสนุนในทุกรูปแบบ” ภญ.ยุพดี ระบุ 

อีกทั้งในส่วนของแรงงานข้ามชาติที่อาจจะยังเข้าไม่ถึงบริการ สปสช. ก็ประสานองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องของการพิสูจน์สิทธิ และการขายบัตรประกันสุขภาพให้เป็นไปได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงพยายามหาแนวทางที่ทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วย