ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอวิวัฒน์’ เผย การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชน-อัตราการติดเชื้อซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ทุกวัยมีแนวโน้มมากขึ้น เพราะมีเพศสัมพันธ์โดย ‘ไม่ป้องกัน’ แนะรัฐ ควรกระจาย ‘ถุงยางอนามัย’ ให้ถึงประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนให้มากที่สุด 


นพ.วิวัฒน์  โรจนพิทยากร กรรมการผู้ทรวงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า จากข้อมูลโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นตัวชี้วัด พบว่าการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) มากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย 

นอกจากนี้ ในอนาคตเมื่อเยาวชนเข้าสู่วัยที่สามารถมีครอบครัวได้ อาจส่งผลให้มีการแพร่เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคด้วย โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถติดต่อไปสู่ลูกได้ เพราะจากข้อมูลขณะนี้การติดเชื้อซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีตที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่เชื้อจนได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าเป็นประเทศที่สามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้สำเร็จเป็นอันดับที่ 2 ของโลก เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา 

“การที่จำนวนการติดเชื้อซิฟิลิสของหญิงตั้งครรภ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตัวเลขอาจจะไม่มากแต่ก็น่ากลัว เพราะถ้าหากติดเชื้อซิฟิลิสได้ก็อาจจะสามารถติดเชื้อเอชไอวีได้ เนื่องจากติดโดยวิธีเดียวกัน อาจจะส่งผลต่อการพิจารณาการรับรองเรื่องการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกที่กำลังจะพิจารณาอีกครั้งในเร็วๆ นี้เพื่อใช้เป็นการรับรองในอีก 5 ปีข้างหน้าได้” นพ.วิวัฒน์ ระบุ 

มากไปกว่านั้น อาจส่งผลไปยังเป้าหมายการยุติโรคเอดส์ และเอชไอวีที่กำหนดไว้ในปี 2573 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้าได้ เนื่องจากการไม่ได้ป้องกันทำให้กลายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ได้ นอกเหนือจากการติดเชื้อของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

นพ.วิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าขณะนี้จะมีการคัดกรองซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ แต่ก็อาจจะยังไม่ทั่วถึง ด้วยอาจจะมาจากการฝากครรภ์ไม่ครบเกณฑ์ หรือเป็นไปได้ว่าสถานพยาบาลบางแห่งเคยชินกับการที่ตรวจแล้วผลเป็นลบจึงไม่ได้ตามต่อ หากสามารถเสริมความแข็งแกร่งตรงนี้ขึ้นได้ มีโอกาสที่ปัญหาลดลงได้ 

รวมถึงมาตรการของรัฐในอื่นๆ ที่อาจจะยังใช้ไม่ได้ผลในกลุ่มเยาวชน เพราะตอนนี้ภาครัฐกำลังมุ่งไปในเรื่องของการรักษามากกว่าการป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย แม้ว่าจะมีการให้ยาป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนที่จะมีความเสี่ยง (PrEP) หรือป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังสัมผัสเชื้อ (PEP) แต่การให้ยังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ขณะที่เยาวชนถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงปานกลาง หรืออาจถูกมองว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่จะติดเชื้อทั้งจากกามโรค และเอชไอวี

“เคยมีผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) เคยมาประเมินเรื่องการป้องกันโรคเอดส์ในเมืองไทยเมื่อปี 2562 หรือปี 2019 ว่าหากจะยุติปัญหาเอดส์ได้ ต้องมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยเกินร้อยละ 90 ซึ่งในตอนนี้อัตราการใช้ถุงยางเรายังต่ำมาก” นพ.วิวัฒน์ ระบุ 

นพ.วิวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า มาตรการของรัฐค่อนข้างเข้มแข็ง แต่อาจให้ความสำคัญเรื่องของการรักษามากกว่าการป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย รวมไปถึงการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีนโยบายแจกถุงยางอนามัย ในบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น (PP) ในแง่ปริมาณมีความเพียงพอ แต่การกระจายอาจยังไม่ดีพอ ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญคือจะกระจายไปให้ถึงประชาชนได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนได้อย่างไร