ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมแพทย์-มูลนิธิโรคหัวใจแห่งประเทศไทย ร่วมกับ รพ.จุฬาลงกรณ์-ฟิลิปส์ เปิดโครงการ ‘หัวใจสัญจร’ ปี 65 ส่งทีมแพทย์ตรวจโรคหัวใจ-จัดระบบส่งต่อ ช่วยประชาชนเข้าถึงการตรวจรักษาในพื้นที่ห่างไกล จ.สระแก้ว


สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ (Noninvasive Cardiovascular Lab) ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำ “โครงการหัวใจสัญจรประจำปี 2565 ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว อ.เมือง จ.สระแก้ว เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2565

สำหรับโครงการหัวใจสัญจร เป็นการจัดหน่วยให้บริการตรวจโรคหัวใจโดยแพทย์เฉพาะทางและจัดระบบส่งต่อการตรวจรักษา ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล

1

พญ.กนกพร ทองเลื่อน รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว เปิดเผยว่า ปัจจุบัน จ.สระแก้ว มีผู้ป่วยโรคหัวใจที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 1,368 ราย และมีอายุรแพทย์โรคหัวใจจำนวน 1 คน  ซึ่ง จ.สระแก้ว เป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์การแพทย์ จึงมีผู้ป่วยโรคหัวใจบางส่วนไม่สะดวกหรือมีความลำบากในการเดินทางหากต้องไปรับการตรวจรักษาต่อ จึงเป็นโอกาสอันดีที่โครงการหัวใจสัญจรได้ดำเนินการค้นหาผู้ป่วยโรคหัวใจในชุมชน และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในแต่ละระดับ เพื่อรับการตรวจเบื้องต้น ตรวจเพิ่มเติม ตลอดจนให้รับการรักษาที่เหมาะสมตามประเภทของโรค เสมือนการสร้างเครือข่ายการรักษาในจังหวัด

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้วได้เป็นหนึ่งในหน่วยที่รับส่งต่อในการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยโรคหัวใจอยู่ในความดูแลทั้งหมด 119 ราย แบ่งเป็น เด็ก 9 ราย และผู้ใหญ่ 110 ราย และในวันนี้จะเข้ารับการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจในโครงการด้วย

ผศ.พญ.สมนพร บุณยะรัตเวช สองเมือง หัวหน้าห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาได้ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งเกิดความไม่สะดวกในการนัดหมายผู้ป่วยโรคหัวใจเพื่อเข้ารับการตรวจรักษา จนบางพื้นที่มีผู้ป่วยโรคหัวใจที่ยังไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจำนวนมาก รวมถึงขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลอย่างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้วแห่งนี้

2

ผศ.พญ.สมนพร กล่าวต่อไปว่า ทาง ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาฯ จึงได้ร่วมมือในการจัดทำโครงการ เพื่อส่งทีมแพทย์มาดำเนินการตรวจวินิจฉัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในตอนต้น เนื่องจากโรคหัวใจมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท หากแพทย์สามารถแยกประเภทได้ก็จะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที โดยทีมแพทย์ในวันนี้ประกอบด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจจำนวน 3 คน นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก 3 คน และยังมีกุมารแพทย์โรคหัวใจที่ไม่ได้มาจากทางโรงพยาบาลจุฬาฯ โดยตรงอีก 2 คน

รศ.นพ.สุพจน์ ศรีมหาโชตะ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์มากต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งเมื่อทางสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ ได้เห็นทางมูลนิธิโรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ จะกลับมาจัดทำโครงการในครั้งนี้ ก็ได้ร่วมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในด้านบุคลากรทางการแพทย์  อาทิ กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดหัวใจ ฯลฯ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคหัวใจให้รับรู้ในวงกว้าง

“รวมถึงทางสมาคมแพทย์โรคหัวใจได้ทำหน้าที่เหมือนสื่อกลางในการช่วยส่งต่อคนไข้หรือแนะนำคนไข้ให้ไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องได้ อันนี้ก็จะทำให้การรักษาคนไข้โรคหัวใจของจังหวัดสระแก้วมีความเข้มแข็งขึ้น ประชาชนก็จะได้รับการรักษาที่ดีขึ้น” นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ กล่าว

2

ด้าน นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฟิลิปส์ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ เรามุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น การช่วยเหลือสังคมและสนับสนุนการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของเรา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ร่วมสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ มากมาย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะเราเล็งเห็นถึงความสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีในประเทศไทย

“ถือเป็นอีกครั้งที่เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ด้านโรคหัวใจจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยฯ และจากห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ ในการนำเครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจขั้นสูง (Echocardiography) จำนวน 5 เครื่องและระบบการจัดการข้อมูลภาพและรายงานผลสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ (ISCV) จากฟิลิปส์มาให้บริการผู้ป่วยที่ จ.สระแก้วแห่งนี้ เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น” นายวิโรจน์ กล่าว

4