ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ แนะ ผู้ป่วยโรคหัวใจเข้ารับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ระบุ ช่วยลดอาการเหนื่อยหอบและการเกิดโรคซ้ำได้


นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคหัวใจประเภทต่างๆ เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง ฯลฯ ที่ได้รับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ จะมีอาการเหนื่อยหอบลดน้อยลง และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคซ้ำได้ด้วย

สำหรับกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ คือบริการสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจโดยมีทีมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ คอยดูแล จัดโปรแกรมออกกำลังกายและติดตามอาการต่างๆ รวมถึงสัญญาณชีพที่สำคัญ อาทิ สัญญาณชีพที่สำคัญ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และระดับร้อยละของออกซิเจนในเลือด

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยมีการฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำให้ผู้ป่วยทราบและตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง น้ำหนักตัวที่มากกว่าปกติ การสูบบุหรี่ ทราบถึงข้อห้ามและข้อควรระวังต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทสำคัญในการลดความเครียดและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยโรคหัวใจ

ด้าน นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูหัวใจด้วยการกายภาพบำบัด ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสมรรถภาพร่างกายในการออกกำลังกาย และกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถกลับมาปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เหมือนปกติ ป้องกันการเกิดซ้ำของโรคหัวใจ ช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้กลับมาใกล้เคียงกับก่อนป่วยมากที่สุด

นพ.เอนก กล่าวว่า ไม่เพียงคำนึงถึงสภาพหัวใจของผู้เข้ารับการฟื้นฟูเท่านั้น แต่ยังใส่ใจต่อปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยแต่ละคนด้วย ดังนั้นในการทำกายภาพบำบัดผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลสุขภาพตามความเป็นจริง ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และนักกายภาพบำบัดอย่างเคร่งครัด