ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกรณีอุบัติเหตุคดีเยาวชนวัย 16 ปี ขับรถหรูฝ่าไฟจราจรชนบัณฑิตหนุ่มเสียชีวิต บริเวณสี่แยกไฟแดง ถนนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา เมื่อคืนวันที่ 30 ก.ย. 2565 ได้สร้างกระแสดราม่าและมีการนำเสนอข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ มากมาย

ณ วันนี้ความโศกเศร้าของครอบครัวผู้สูญเสียยังไม่จางหาย ยังทวงถามความยุติธรรมให้กับลูกชายอยู่ เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิด ทัศนคติ และร่วมหาทางออกร่วมกันเพื่อป้องกันความสูญเสียไม่ให้เกิดซ้ำรอย   

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) เปิดเผยว่า การที่เด็กอายุ 15 ปี เกือบ 16 ปี เป็นถึงนักกีฬาทีมชาติ หมายความว่าเป็นเด็กที่มีศักยภาพ มีฝีมือ มีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่กลับตกเป็นทาสของทุนนิยม การที่พ่อแม่มีลูกเก่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่าหลงใหลได้ปลื้มกับความสำเร็จของลูก และตอบสนองด้วยรถราคาแพง ในขณะที่ลูกยังไม่พร้อมทั้งวุฒิภาวะและทางกฎหมาย

“แม้ลูกตัวเองจะเก่งด้านอื่น แต่เรื่องบนถนนไม่มีใครเก่งเกินกว่าอุบัติเหตุ ต้องรู้ว่าถนนประเทศไทยไม่ใช่สถานที่ของคนที่คิดว่าตัวเองเก่ง เพราะคนที่คิดว่าเก่งตายไปกันหมดแล้ว และยิ่งเคสนี้อายุยังไม่ถึงเกณฑ์แล้วมาขับรถ ไม่มีใบขับขี่ ไปชนคนอื่นตาย ยิ่งทำให้เกิดความสูญเสียมากมาย  ผู้ที่เสียชีวิตจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยม เป็นเสาหลักของครอบครัว เมื่อเสียชีวิตลงเปรียบเสมือนครอบครัวพังทลาย  หากมองอีกมุมคืองการเรียนจบ มีงานทำไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าจะรอดจากอุบัติเหตุทางถนน เพราะว่าการเรียนหนังสือเก่ง ได้รับการยอมรับในแวดวงการศึกษา ไม่ใช่คำตอบของการมีชีวิตรอด” นายพรหมมินทร์ กล่าว

นายพรหมมินทร์ กล่าวอีกว่า การมีชีวิตรอดจะต้องระวัดระวังหลายด้าน เช่น พฤติกรรมการขับขี่ของตัวเอง และคนอื่น โดยเคสนี้ในมุมมองตนเองเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถทำให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษอย่างจริงจัง ทำเป็นตัวอย่างว่ามีการลงโทษที่ทำให้คนในสังคมเกิดความเกรงกลัวต่อการทำผิดได้ ปรากฎการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกเป็นเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำๆในสังคมไทย

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า การใช้ความเร็วเป็นพฤติกรรมการขับขี่ที่คนไทยกำลังติดกับดักความสะดวกสบาย ความเร็ว ความแรงของเครื่องยนต์ รถบิ๊กไบท์ รถแต่ง รถซิ่ง เกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คือกลุ่มคนที่เสพติดการใช้ความเร็ว เช่น กรณีนี้รถยนต์ขับด้วยความเร็วสูงฝ่าไฟแดงมาชนรถจักรยานยนต์ทำให้เสียชีวิตแม้จะใส่หมวกกันน็อกแล้วก็ตามยังไม่สามารถเอาชีวิตรอดได้เพราะความรุนแรงจากการใช้ความเร็วที่สูง

“ถนนเมืองไทยเต็มไปด้วยคนที่ทำผิดกฎหมาย คนที่มีพฤติกรรมขับขี่เร็ว จึงต้องตระหนักเสมอว่าทุกคนมีโอกาสได้รับความเดือดร้อน ได้รับความสูญเสียจากความผิดพลาดของผู้อื่น การขับรถเร็วเกิน 80กม./ชม. โอกาสรอดครึ่งต่อครึ่ง หากขับเร็วเกิน 120 กม./ชม.โอกาสรอดเหลือแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ความรุนแรงแปรผันตามความเร็วที่ใช้ ยิ่งขับเร็ว ยิ่งรุนแรง ยิ่งเสี่ยงตาย หากชอบความเร็วควรไปใช้ในสนามแข่งที่ได้มาตรฐานไม่ใช่มาใช้บนถนนทั่วไป ดังนั้น การใช้ความเร็วเหมาะสมจะช่วยลดความสูญเสียลงได้ ลดเร็วเท่ากับลดความเสี่ยง เมื่ออยู่บนถนนทุกคนต้องตระหนักเรื่องจิตสำนึกความปลอดภัยอยู่ตลอดทุกช่วงของชีวิต” นายพรหมมินทร์ กล่าว

นายพรหมมินทร์ กล่าวว่า บทลงโทษตามกฎหมายปัจจุบันในมุมมองเห็นว่า การรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิด ทำได้ยากและบางกรณีอาจไม่ครบถ้วน เมื่อตัดสินก็มักมีตัวแปลเพิ่มเติม เช่นหลักฐานพยานไม่ครบ เอาผิดได้ยาก การที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ เป็นเยาวชน ไม่ได้มีเจตนา เป็นเหตุสุดวิสัย ความผิดครั้งแรก หรือไม่ต้องคดีอาญาฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้ความผิดและบทลงโทษเบาลง ฉะนั้นกฎหมายยังไม่ส่งผลให้คนทั่วไปตระหนัก เกรงกลัวการทำผิดหรือระมัดระวังมากขึ้น ท้ายนี้อยากเตือนไปยังลูกหลานที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ไม่มีใบอนุญาตขับขี่แล้วขับรถบนถนน ผู้ที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเตรียมใจไว้ ว่าต้องพบเจอกับความเสี่ยง ความสูญเสีย ควรรีบหามาตรการป้องกันก่อนสายเกินไป