ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.- สคอ. จับมือ นครสวรรค์และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสาธารณะพื้นที่ต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและลงนามปฏิญญานครสวรรค์ ‘สวมหมวกนิรภัย-ดื่มไม่ขับ-ลดเร็ว ลดเสี่ยง’ ชูนครสวรรค์โมเดล สร้างระบบความปลอดภัยทางถนน ตั้งเป้าลดตายจากอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดต้องไม่เกิน 107 คน หรือ 12.37 คนต่อแสนประชากรในปี 2570    


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดนครสวรรค์ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดนครสวรรค์ (ศปถ.) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีสาธารณะ “พื้นที่ต้นแบบป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน” เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2565 โดยภายในงานได้มีการนำเสนอนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงลงนามในปฏิญญานครสวรรค์ “สวมหมวกนิรภัย-ดื่มไม่ขับ-ลดเร็ว ลดเสี่ยง” สำหรับเป็นพันธกรณีดำเนินการให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในระดับจังหวัด

สำหรับสาระสำคัญในปฏิญญานครสวรรค์ คือ 1.จะร่วมกันดำเนินการลดอัตราการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดนครสวรรค์ ให้ไม่เกิน 12 คนต่อแสนประชากรภายในปี 2570 2.จะร่วมกันดำเนินการ รณรงค์การสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในเขตชุมชนให้ได้ 100 % 3.จะร่วมกันดำเนินการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยเน้นลดความเร็ว ดื่มไม่ขับและสวมหมวกนิรภัยอย่างเคร่งครัด 4.จะร่วมกันดำเนินการให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นต้นแบบจังหวัดปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 5.จะร่วมกันดำเนินการผลักดันให้เด็กและเยาวชนสวมหมวกนิรภัย 100 %และ 6.จะร่วมกันดำเนินการควบคุมติดตามกำกับและพิจารณาข้อมูลในระดับจังหวัดทุกเดือน

นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ทางนครสวรรค์ได้กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานเชิงพื้นที่ โดยเน้นนำข้อมูลพื้นที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยมาวิเคราะห์กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมบังคับกฎหมายเข้ม และค้นหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงเพื่อมากำหนดเป็นมาตรการ อีกทั้งจัดตั้งทีมสอบสวนอุบัติเหตุในพื้นที่ จัดประชุม ศปถ.ทุกระดับอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ขับเคลื่อนศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน  การคืนข้อมูลให้กับตำบล หมู่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนใช้กลไก ศปถ. จังหวัดและอำเภอขับเคลื่อนทำงานในพื้นที่ จัดทำข้อมูลอำเภอเสี่ยงที่เป็นสีแดง สีส้ม และเหลือง รวมถึงมีการดำเนินงานตำบลต้นแบบอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้มีความรู้สามารถ สร้างเครือข่ายให้มากขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลให้และเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว เช่น การสร้าง Platform คาดว่าจะได้ใช้ก่อนปีใหม่นี้ ค้นหาและแก้ไขจุดเสี่ยง รวมถึงใช้สถิติข้อมูลกำหนดกรอบการทำงาน นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วย ท้ายสุดคือการประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักและการรับรู้ เพื่อให้ผู้ขับขี่มีจิตสำนึกความปลอดภัยบนท้องถนน

1

จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ส.ค. 2565 เกิดอุบัติเหตุ 421 ครั้ง บาดเจ็บ 346 ราย เสียชีวิต 190 ราย โดยอำเภอเมืองเป็นอำเภอที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดอยู่ที่ 49 ราย ส่วนอำเภอที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลยคือ อำเภอไพศาลี

ส่วนภาพรวมระดับจังหวัดหากเปรียบเทียบอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนจะอยู่ที่ 18.87 ต่อแสนประชากร โดยอำเภอที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ อำเภอเก้าเลี้ยว 38.4 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ อำเภอชุมตาบง 30.5 ต่อแสนประชากร และอำเภอตากฟ้า 22.9 ต่อแสนประชากร ส่วนอำเภอที่มีอัตราเสียชีวิตต่ำสุดคือ อำเภอชุมแสง 12.8 ต่อแสนประชากร และอำเภอที่มีอัตราเสียชีวิตเป็นศูนย์คือ อำเภอไพศาลีอย่างไรก็ดี เพื่อให้บรรลุแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 จังหวัดได้กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี 2570 ที่ 12.37 ต่อแสนประชากร หรือต้องไม่เกิน 107 คน

ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ชัย จินดาพันธ์ นายอำเภอเมืองนครสวรรค์ กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุปี 2563 จำนวน 70 ราย ปี 2564 จำนวน 59 ราย และปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) จำนวน 49 ราย คิดเป็น 21.36 ต่อแสนประชากร โดยค่าเป้าหมายของอำเภอในปี 2570 ให้ลดลงเฉลี่ย ปีละ7 คน ตำบลที่มีผู้เสียชีวิตสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ ตำบลปากน้ำโพ นครสวรรค์ตก หนองกรด หนองกระโดนและวัดไทรย์

ทั้งนี้ ปัญหาที่พบคืออำเภอเมืองมีเส้นทางคมนาคมสายหลักและสายรองเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่นหลายสาย ทำให้มีปริมาณผู้ใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก มีจุดเสี่ยงถึง 60 จุด อยู่บนถนนทางหลวงถึง 45 จุด และมีจุดเสี่ยงที่ควรพิจารณาแก้ไขเร่งด่วนอีก 5 จุด  โดยทั้งหมดต้องเร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขเพื่อให้เกิดความความปลอดภัย ควบคู่กับกำหนดมาตรการเข้มข้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการในพื้นสวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ให้ทุกหน่วยงานในอำเภอจัดทำคำรับรองเพื่อปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและติดตามประเมินผลทุกเดือน ซึ่งมาตรการสำคัญที่ทำให้ผู้เสียชีวิตลดลงคือการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นและจริงจัง    

..สร้อยสุรีย์รัตน์ พลพรพิสิฐ  นายอำเภอไพศาลี กล่าวว่า อำเภอไพศาลีปี 2565 (1ม.ค.-31ส.ค.65) ยังไม่มีผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเลยแม้แต่รายเดียว แต่เมื่อปี 2563 เกิดอุบัติเหตุ 12 ครั้ง เสียชีวิต 12 ราย ปี 2564 เกิดอุบัติเหตุ  5 ครั้ง บาดเจ็บ 12 ราย เสียชีวิต 3 ราย พฤติกรรมเสี่ยงคือขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 80 พาหนะเสี่ยงคือจักรยานยนต์ 70% รถเก๋ง 20% รถกระบะ 10%

น.ส.สร้อยสุรีรัตน์ กล่าวต่อไปว่า การที่อำเภอไพศาลีปี 2565 ไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติทางถนนเลย มาจากการมีแบบแผนคำสั่งการทำงานที่ชัดเจนแต่ละหน่วยงาน มีการบูรณาทำงานให้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม มีระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีกิจกรรมที่ครอบคลุมในทุกกลุ่มวัย “สวมหมวก-ดื่มไม่ขับ-ลดเร็ว” อีกทั้งได้ร่วมกับจังหวัดขับเคลื่อน “365 วัน นครสวรรค์ขับขี่ปลอดภัย” รณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100 % (ทล.3004 ไพศาลี-วังพิกุล) โดยเริ่มกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 2565

ทว่า ด้านอุปสรรคคือประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจการใช้รถใช้ถนน ความรู้ด้านกฎหมาย ขาดจิตสำนึกความปลอดภัย รถดัดแปลงสภาพโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ขาดการต่อภาษี พรบ. ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและเทศกาลยังนิยมดื่มสุรา

นายพรหมมินทร์  กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ  (สคอ.) กล่าวว่า สคอ.ทำหน้าที่รณรงค์สื่อสารและประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างกระแสการรับรู้ ความตระหนักความปลอดภัยทางถนนมาอย่างต่อเนื่อง  โดยยึดกรอบการทำงานตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนเป็นแนวทางการทำงานมาโดยตลอด และนับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศไทยที่ได้กำหนดเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลง 50 % ภายในปี 2573 และไม่เกิน 12 คนต่อแสนประชากรภายในปี 2570 ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนฉบับที่ 5 (2565-2570)

นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดนครสวรรค์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตใกล้เคียงกับตัวชี้วัดและเป้าหมายมากที่สุด เป็นพื้นที่ที่มีการทำงานประสบความสำเร็จปรากฎให้เห็นต่อเนื่อง สคอ.เป็นเพียงหน่วยงานที่จะเข้าไปเติมเต็มและขยายผล นำบทเรียนการทำงานเข้าสู่กลไก ศปถ. ระดับประเทศ เพื่อให้การมอบหมายสั่งการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุผลและจะนำเรื่องราวเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆรวมทั้งหอกระจายข่าวทั่วประเทศได้รับรู้ทั่วกัน

นอกจากนี้จะประสานภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนช่วยหนุนเสริมขับเคลื่อนทำงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนร่วมกัน ผลักดันและวางแผนทำงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบผ่านกลไกสื่อมวลชนในจังหวัดให้สามารถนำข้อมูลข่าวสารตลอดจนผลกระทบและองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ปลอดภัยส่งถึงกลุ่มเป้าหมายได้  ขณะเดียวกันก็จะอาศัยเวทีสำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด ส่งมอบข้อมูลและบทเรียนที่ถอดมาได้ ให้แต่ละพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป