ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การสร้างความตระหนักเรื่องของสุขภาพให้พระสงฆ์ นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ดร.นิรันดร์ เนาวนิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ปักหมุดเอาไว้หลังจากขึ้นเป็นนายกฯ ในสมัยแรก

นั่นเพราะ “ดร.นิรันดร์” เคยเป็นดำรงตนเป็นภิกษุผู้ขับเคลื่อนด้านสุขภาพพระสงฆ์ตั้งแต่สมัยอยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์

มากไปกว่านั้น สิ่งที่ทำให้นายกฯ นักพัฒนารายนี้ตั้งเป้าขับเคลื่อนสุขภาพของพระสงฆ์ เป็นเพราะในปัจจุบัน พระสงฆ์ยังเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ ออกกำลังกายน้อย รวมไปถึงไม่สามารถเลือกฉันภัตตาหารที่ญาติโยมนำมาถวายได้

พระสงฆ์จึงมีแนวโน้มเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน

ด้วยเหตุนี้การให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่พระสงฆ์-ชาวบ้านในชุมชน จึงเป็นสิ่งที่ถูกตั้งธงเอาไว้ เพื่อความแข็งแรงของพระพุทธศาสนา-บ้าน-วัด

ความเหลื่อมล้ำของ บารมีกับการเลือกปฏิบัติ

ดร.นิรันดร์ เล่าย้อนให้ “The Coverage” ฟังถึงความพยายามในการขับเคลื่อนสุขภาพพระสงฆ์ใน ต.นาแสง อ.ศรีวิไลว่า พระประมาณ 70% ที่เข้ามาบวชเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกทอดทิ้งจากครอบครัว พระบางรูปไม่มีลูก-หลาน หรือถ้ามีก็ไม่ได้มีทรัพย์สมบัติทิ้งไว้ให้ลูก และเมื่อชีวิตการเป็นฆราวาสถึงทางตัน การหันหน้าเข้าศาสนาจึงเป็นที่พึ่งสุดท้าย

"เมื่อมาบวชก็ไม่ได้หมายความว่ามาปฏิบัติตนไม่ดี ก็ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนกลายเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยม แต่หลังจากนั้นจะต้องเข้าใจก่อนว่าวันหนึ่งถ้าพระสงฆ์รูปนั้นไม่รักษาสุขภาพ เป็นผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ติดเตียง ต้องตัดมือตัดเท้า และเมื่อไม่มีทายาทที่ต้องมาดูแลแล้วใครจะดูแล

อย่างไรก็ดี แม้ว่าญาติโยมจะสามารถดูแลพระอาพาตได้ระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันหากพระรูปนั้นไม่ได้มีบารมีเหมือนพระเกจิที่เป็นที่รู้จัก เป็นเพียงพระสงฆ์ธรรมดาทั่วไป ชาวบ้านบางคนก็ศรัทธาบ้างไม่ศรัทธาบ้าง และเมื่อพระรูปนั้นป่วยก็ต้องดูแลตัวเอง

ถ้าสึกออกมาก็ไม่รู้จะไปอยู่กับใครเพราะท่านไม่มีที่พึ่ง มีเพียงศาสนาเท่านั้นที่เป็นที่พึ่ง การที่พระแข็งแรง วัดและศาสนาก็จะแข็งแรง”  

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ เพราะบางครั้งก็เกิดการเลือกปฏิบัติ เช่น การเลือกอุปถัมภ์พระสงฆ์ที่ตนเองนับถือ ในขณะที่พระที่อยู่ตามวัดในชุมชน หากไม่รักษาสุขภาพหรือไม่มีพระคิลานุปัฏฐาก (พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด หรือพระ อสว.) ที่ช่วยดูแลประคับประคองพระที่ป่วย บางรูปก็อาจจะต้องถูกให้สึกออกเพราะถูกมองว่าเป็นภาระญาติโยม

ผมเลยมองว่าทำอย่างไรจึงจะให้กลุ่มพระสงฆ์เหล่านี้เป็นพระที่มีความแข็งแรงที่สุด อยู่ได้แบบไม่ต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง

‘อ้วน-เบาหวาน-ความดันคือโรคที่พระสงฆ์กำลังเผชิญ

ดร.นิรันดร์ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นนายก อบต.นาแสงนั้น เคยบวชรวมแล้ว 36 พรรษา ฉะนั้นจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงของเรื่องสุขภาพพระสงฆ์มาหลายยุคหลายสมัย

พระสมัยก่อนทำงานหนักเพราะญาติโยมไม่มีเงินที่จะสร้างกุฏิ พระก็ต้องออกมาทำงาน มาเลื่อยไม้ ก่ออิฐ ฉาบปูน พระก็จะสุขภาพดีเพราะเหมือนกับได้ออกกำลังกาย

แต่ในช่วงหลังมาญาติโยมเริ่มมีกำลัง เริ่มมีเจ้าภาพ ก็จะมาประเคน ท่านก็จะจ้างช่าง พระเมื่อก่อนมีกิจวัตรกวาดลานกวาดใบไม้ แต่ทุกวันนี้มีการตัดต้นไม้ทิ้ง ก็ไม่ได้ออกกำลังกาย นี่คือความเปลี่ยนแปลง

ดร.นิรันดร์ เล่าย้อนให้ฟังต่อไปว่า ในช่วงที่บวชก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลนาแสง ซึ่งในตำบลนาแสงมีพระอยู่ 9 วัด และมีพระสงฆ์ไม่เกิน 5 รูป และในจำนวน 9 วัดมีอยู่ 3 วัดที่มีพระสงฆ์อยู่เพียงรูปเดียวเท่านั้น นอกนั้นก็จะมีพระสงฆ์ 2-3 รูป เข้า-ออกอยู่แบบนั้น

ปัจจุบันพระสงฆ์เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการออกกำลังกายค่อนข้างน้อย เนื่องจากข้อปฏิบัติ-กิจนิมนต์-ภารกิจอื่นๆ มากไปกว่านั้นยังพบอีกว่าพระสงฆ์เป็นโรคความดันโลหิตสูง-โรคเบาหวาน รวมถึงมีแนวโน้มที่จะอ้วนขึ้นมากกว่ากลุ่มคนปกติ ซึ่งมีผลมากจากพฤติกรรมการฉัน

 “เป็นเหตุที่เราต้องทำให้พระแข็งแรงให้ได้ ให้ดูแลตัวเองให้มากที่สุดให้ได้ พระสงฆ์ควรจะมีองค์ความรู้ไม่ได้ฉันตามใจตัวเอง ต้องปลูกฝังท่านให้ได้ให้ท่านตระหนักเรื่องกิน

ฉะนั้นสิ่งที่อยากจะทำ นั่นก็คือการให้ความรู้แก่พระสงฆ์ในเรื่องของการออกกำลังกาย รวมไปถึงอบรมให้ความรู้แก่ฆราวาส-ญาติโยมถึงการถวายภัตตาหารว่าควรเลี่ยงเมนูในลักษณะใด โดยเฉพาะการเพิ่มผักลงในอาหารให้พระได้ฉัน

เพราะต้องการให้พระสงฆ์ได้ฉันผักเยอะๆ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำบุญของญาติโยมด้วย นี่คือสิ่งที่อยากทำ อยากอบรมให้ความรู้กับสงฆ์ในการดูแลสุขภาพตนเอง อบรมชาวบ้านให้รู้จักเมนูอาหารที่จะนำมาใส่บาตร

แม้ไม่ได้อยู่ในผ้าเหลือง แต่ก็ยังขับเคลื่อนสุขภาพของสงฆ์

 ขณะเดียวกัน แม้ว่าประเทศไทยจะมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พ.ศ. 2560 ที่ พระพรหมวชิรญาณ ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม (มส.) ได้ประกาศไว้ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 10 กำหนดให้เป็นนโยบายสำคัญของประเทศที่ทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน ชุมชน และสังคม จะมาร่วมผลักดันและขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะพระสงฆ์

ดร.นิรันดร์ อธิบายว่า พระสงฆ์ทั่วไปไม่ได้รู้จักธรรมนูญฉบับนี้ จะมีก็แต่เจ้าคณะตำบล-เจ้าอาวาส-พระคิลานุปัฏฐาก-กลุ่มพระสงฆ์ที่เข้าอบรมเท่านั้นที่รู้จัก มากไปกว่านั้นคนในกระทรวงสาธารณสุขบางคนก็ยังไม่รู้เลยว่าพระสงฆ์มีธรรมนูญสุขภาพแล้ว

เป็นปัญหา พระไม่รู้จักบทบาท สิทธิตนเองที่ได้รับจากธรรมนูญตัวนี้ เรามองว่าธรรมนูญตัวนี้ไม่ใช่กฎหมายธรรมนูญ แต่ว่าถ้าขับเคลื่อน เผยแพร่ออกไปให้พระสงฆ์เข้าใจจริงๆ พระสงฆ์จะเข้าใจว่าต้องทำอย่างไรพระถึงจะแข็งแรง ชุมชนทำไมถึงเข้มแข็ง

แม้ที่ผ่านมา ดร.นิรันดร์ จะพยายามขับเคลื่อนสุขภาพของพระสงฆ์ทั้งในเรื่องของการเขียนป้ายรณรงค์ที่วัด-สอดแทรกความรู้เรื่องสุขภาพผ่านการเทศนา จนทำให้ชื่อพระครูสุตโพธิคุณ หรือพระมหานิรันดร์เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยศรี เป็นที่รู้จักในนามวัดส่งเสริมสุขภาพในจังหวัดบึงกาฬ ทว่ากลับไม่มีใครคาดคิดว่าพระครูสุตโพธิคุณจะสึกออกมาเป็นนายก อบต.นาแสงในวันนี้

ดร.นิรันดร์ ขยายความว่า สาเหตุที่ทำให้ต้องยุติบทบาทพระนักขับเคลื่อนสุขภาพก็เป็นเพราะพระผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าพระควรทำหน้าที่ทำวัตร และการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อไม่ชอบเรา ก็มีคำพูดทิ่มแทง ในวิถีชีวิตของการเดินเราไม่ใช่แค่นี้ แต่เป็นทางตันในการพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์ขณะที่อยู่ในผ้าเหลือง

แต่ด้วยผลงานที่พัฒนาไปเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน ก็มีความมั่นใจว่าในตอนนี้ยังบวชก็พัฒนา พอสึกออกมาก็ต้องพัฒนาต่อยอด พอออกมาจึงได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกเป็นสมัยแรกตั้งแต่สึกออกมา

ดร.นิรันดร์ ทิ้งท้ายว่า ขณะนี้กำลังจะตั้งงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท เพื่ออบรมชาวบ้านในชุมชนเรื่องการถวายภัตตาหารสำหรับพระสงฆ์ และจะดำเนินการเป็นวิทยากรด้วยตนเอง

อยากห้ท้องถิ่นตระหนักถึงสุขภาพพระสงฆ์ที่เป็นปูชนียบุคคล ที่คนเคารพกราบไหว้ ยังไงชาวพุทธของเราก็ทิ้งพระสงฆ์ไม่ได้”