ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คกก.ขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ พร้อมภาคีด้านสาธารณสุข ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน "ศูนย์พุทธวิถีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย" วัดป่าโนนสะอาด ภายใต้การขับเคลื่อน "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566" บนเป้าหมายให้พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข ช่วยผู้ป่วยระยะท้ายจากไปอย่างสบายใจ เตรียมดันเป็นแนวทางปฏิบัติ พร้อมดึงวัดทั่วประเทศเข้าร่วม


เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ นำโดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานฝ่ายคฤหัสถ์ ร่วมกับ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดตั้งศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย ณ วัดป่าโนนสะอาด อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา

สำหรับการลงพื้นที่และประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน "ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566" ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้ "พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข" โดยคณะกรรมการมหาเถรสมาคม ได้มีมติรับทราบไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566

1

3

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค คณะทำงานทบทวนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 เปิดเผยว่า การดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย นับเป็นเรื่องที่คณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ และภาคีเครือข่าย ให้ความสำคัญในการที่จะส่งเสริมเป้าหมาย โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของการบริการสุขภาพของชุมชนและสังคม ผ่านงานกิจการคณะสงฆ์ที่เผื่อแผ่ความเมตตาให้กับสังคม

“ส่วนตัวมีความคาดหวังว่าต้องมีวัดที่มีศูนย์ในลักษณะนี้กระจายไปทุกอำเภอหรือทุกที่ เพราะการที่คนเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นเรื่องปกติ คิดว่าอย่างน้อยควรเผยแพร่ให้เกิดขึ้นจังหวัดละ 1-2 ที่ แต่จริงๆ แล้วเท่าที่ทราบและสำรวจกันอยู่พบว่า มีการดูแลแบบประคับประคองเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่ที่เดียวจึงอยากจะดึงวัดเหล่านี้ให้เข้ามาในระบบ” นพ.ประจักษวิช กล่าว

2

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ตัวอย่างศูนย์พุทธวิธีฯ วัดป่าโนนสะอาด ถือเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ ซึ่งวัดและคณะสงฆ์ต่างเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนา เพราะเป็นศูนย์กลางของสังคมและชุมชน โดยในด้านการให้บริการสุขภาพนั้น ประเทศไทยยังขาดระบบบริการสุขภาพในระยะกลาง และระยะสุดท้าย

"การฟื้นฟูผู้ป่วยกับระบบที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ต้นทุนที่สังคมไทยเรามีอยู่ก็คือ วัด ถ้าหากมีการสำรวจวัดที่พร้อมว่ามีจำนวนเท่าไร และกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ในการออกมาตรฐานของหน่วยให้บริการ สปสช. ทำหน้าที่สนับสนุนชุดสิทธิประโยชน์ในการให้บริการ สสส. ทำหน้าที่ในการสนับสนุนกระบวนการพัฒนาศักยภาพ สช. ทำหน้าที่ในประสานความร่วมมือเชิงนโยบาย ถ้าหน่วยงานร่วมมือกันประเทศไทยก็จะมีระบบการดูแลทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ" นพ.ประทีป ระบุ

3

ขณะที่ รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการที่วัดป่าโนนสะอาดมีการให้บริการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย มีทั้งการดูแลทางร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในบริการสาธารณสุข และเข้านิยามบริการสาธารณสุขของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เนื่องจากเป็นบริการที่ยังอยู่นอกระบบ ยังไม่ถือว่าเป็นหน่วยบริการของ สปสช.

อย่างไรก็ตาม การบริการของภาคประชาสังคมในลักษณะนี้สามารถมาขึ้นทะเบียน เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และต้องขึ้รทะเบียนเป็นหน่วยบริการอื่นๆ ตามมาตรา 3 มีเงื่อนไขที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1. การขึ้นทะเบียนให้องค์กร เช่น วัดที่มีบริการในลักษณะนี้จะถูกดึงเข้าระบบ

3

2. มาตรฐานบริการ ในการให้บริการกับผู้ป่วยระยะท้ายหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ติดเตียง โดยมีหน่วยงานของรัฐเป็นคนกำหนดมาตรฐาน เช่น กรมอนามัย 3. เมื่อมีมาตรฐานแล้วก็ต้องมีคนที่มีศักยภาพที่จะให้บริการตามชุดมาตรฐาน โดยชุดบริการมาตรฐานในไทยจะต้องผ่านกระบวนการอบรมมีตามหลักสูตรที่กำหนด
 
"ทั้ง 3 ประการนี้เป็นสิ่งที่ สปสช. จะต้องไปทำงานต่อ เพื่อให้บริการที่ทำอยู่ที่วัด สามารถเบิกจ่ายได้ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้" รศ.ภญ.ยุพดี ระบุ

ด้าน พระอธิการแสนปราชญ์ ปัญญาคโม ประธานศูนย์พุทธวิถีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด (ธ) กล่าวว่า ศูนย์พุทธวิถีดูแลผู้ป่วยระยะท้ายได้นำการดูแลในระบบของการแพทย์ 4 มิติ ร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ มาเป็นตัวตั้งในการสร้างโครงสร้างที่ดี

2
 
อย่างไรก็ดี ทางวัดได้มีการเอาเรื่องของจิตวิญญาณมาก่อน ฉะนั้นคนป่วยที่วัดก็คือกายป่วย ไม่ป่วยใจ เพราะที่วัดไม่มีหมอ แต่จะมีการนำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาใช้ ซึ่งระบบโครงสร้างที่วัดมีการปฏิบัติงานร่วมกันแบบครอบครัวสามารถที่จะพูดกันได้ตลอดเวลา หากเจอปัญหาของผู้ป่วยก็สามารถนำเข้าที่ประชุมได้เสมอ

พระอธิการแสนปราชญ์ ระบุว่า การที่ได้ต้อนรับบุคลากรทางสาธารณสุขต่างๆ มาศึกษาดูงานถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากแก่ทางวัดโดยตรงคือ ทำให้บริบทที่วัดได้นำเสนอสิ่งที่วัดได้ทำมาเด่นชัดขึ้น และได้รับองค์ความรู้ต่างๆ ฝ่ายบริหาร หน่วยงานต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสในการขยับขยายการพัฒนาเผยแผ่พระพุทธศาสนา และหากเรื่องราวนี้ได้เผยแผ่ออกไปในรูปแบบของงานวิจัยก็จะเป็นประโยชน์แก่หลายๆ คน และไม่ได้จำกัดเพียงแค่กลุ่มชาวพุทธ

2

3

“อยากจะให้ทางกระทรวง สามารถที่จะนำเรื่ององค์ความรู้ที่วัดมีไปต่อยอดให้เป็นงานวิจัย แล้วกระจายความรู้ออกไปนั้นก็จะเป็นประโยชน์ ส่วนการขาดแคลนก็เป็นเรื่องปกติ สามารถปรับเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามสถานการณ์ได้ สิ่งที่สำคัญก็คือองค์ความรู้ที่วัดมีการฝึกสติทั้งจากทางโลกและทางธรรม อยากจะให้กระทรวงนำไปถอดองค์ความรู้ แล้วนำไปใช้” พระอธิการแสนปราชญ์ กล่าว

อนึ่ง หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ อาทิ ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม, คณะสงฆ์จังหวัดนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สปสช.เขต 9, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา, คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 9 และเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม