ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โฆษก ศบศ. เผย ศบค.อนุมัติขยาย "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" เปิดให้เดินทางได้กว้างขึ้น ยันมีเที่ยวบินเข้ามาทุกวัน เร่งแจงนักท่องเที่ยวต่างชาติว่าสถานการณ์มีความปลอดภัย ให้แยกภูเก็ตออกจากภาพรวมของไทย


นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบการขยายพื้นที่ของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ให้กว้างขึ้น

ทั้งนี้ ให้นักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ต กับพื้นที่นำร่องอื่นในลักษณะ 7+7 เป็นการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางไปยังพื้นที่นำร่องอื่นๆ ได้เพิ่มเติม โดยปรับลดเวลาที่ต้องอยู่ในพื้นที่ภูเก็ตจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน และเมื่ออยู่ภูเก็ตครบ 7 วันแล้วเดินทางไปพื้นที่นำร่องอื่นต่อได้ 7 วัน จึงจะสามารถเดินทางไปจังหวัดอื่นได้

สำหรับพื้นที่นำร่องประกอบด้วย พื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ จ.กระบี่ และพื้นที่เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ จ.พังงา เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 2564 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับให้ดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ด้วย

นายธนกร กล่าวว่า ขณะนี้ยอดนักท่องเที่ยวสะสมของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อยู่ที่ 22,810 คน มียอดการจองโรงแรมที่ได้เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย SHA Plus ตลอดไตรมาส 3 (ก.ค.-ก.ย. 2564) จำนวนกว่า 409,390 คืน และยังคงมีเที่ยวบินเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน โดย 5 อันดับแรกมาจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิสราเอล ฝรั่งเศส และเยอรมนี

"หลังจากที่ปรับเป็นสูตร 7+7 ทำให้มีนักท่องเที่ยวกลุ่มแซนด์บ็อกซ์ที่เดินทางออกจากพื้นที่ภูเก็ตทางบก ขณะนี้มีจำนวนสะสมอยู่ที่ 3,578 คน โดยปลายทาง 5 อันดับอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ และชลบุรี ซึ่งปัจจุบันแต่ละจังหวัดมีการเตรียมการวางแผน บริหารจัดการควบคุมเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดแล้ว ขอให้ประชาชนในพื้นปลายทางมั่นใจได้" นายธนกร กล่าว

นายธนกร กล่าวอีกว่า ในส่วนของสมุยพลัสโมเดล ที่เชื่อมต่อกับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นั้น มีกลุ่มแซนด์บ็อกซ์เข้ามาแล้วจำนวนเกือบ 400 คน มีจำนวนคืนเข้าพักแรมรวมเกือบ 3,000 คืน จำนวนวันพักเฉลี่ย 9 คืนต่อคน ประมาณการรายได้อยู่ที่ 17.28 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกได้แก่ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวที่น้อยเนื่องจากเส้นทางการบินภูเก็ต-สมุย ได้หยุดทำการบินไปตั้งแต่วันที่ 3-16 ส.ค. 2564 ตามคำสั่ง จ.ภูเก็ต และจะประกาศต่อจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2564 เนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ โดยจะกลับมาให้บริการอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าหลังจากเปิดเส้นทางการบินภูเก็ต-สมุย และใช้มาตรการ 7+7 แล้ว จะทำให้ยอดนักท่องเที่ยวสมุยพลัสโมเดลเพิ่มสูงขึ้น

นายธนกร ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่สหรัฐอเมริกา ประกาศว่าโควิด-19 ระบาดหนักในไทย ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางนั้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เร่งสื่อสารตลาดต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยว และทัวร์โอเปอร์เรเตอร์ ในเชิงซิตี้มาร์เก็ตติ้ง (City marketing) แยก จ.ภูเก็ต ออกมาจากประเทศไทยในภาพรวม ว่าภูเก็ตมีความปลอดภัย

"รัฐบาลได้เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ สาธารณสุข ภายใต้มาตรการสาธารณสุข และการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการประเมินและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด" นายธนกร กล่าว