ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“อนุทิน” เสวนาเปิดตัว “ระหว่างบรรทัด” หนังสือบันทึกประวัติศาสตร์มหากาพย์บัตรทอง ระบุ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือส่วนหนึ่งของระบบสาธารณสุข ไม่มีใครกล้ายกเลิก ย้ำ “สธ.-สปสช.” ต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชน


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เสวนาพิเศษ หัวข้อ “ร่วมทางเดียวกัน : จาก 30 บาทรักษาทุกโรคสู่ 30 บาทรักษาทุกที่” ภายในงานเปิดตัวหนังสือ “ระหว่างบรรทัด” เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ถือเป็นนโยบายที่พลิกโฉมระบบสาธารณสุขไทย ที่จะช่วยให้ประชาชนมีความมั่นคงทางสุขภาพ สามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

นายอนุทิน กล่าวว่า ในอดีตเคยมีคำว่า “ผู้ป่วยอนาถา” แล้วรู้สึกแสบหัวใจ การก่อกำเนิดระบบบัตรทองช่วยทำให้ประชาชนเกิดสิทธิ ขณะที่รัฐต้องให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนโดยบ่ายเบี่ยงไม่ได้ ตรงนี้จึงทำให้ประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยอนาถาอีกต่อไป

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ระบบบัตรทองได้เป็นส่วนหนึ่งในระบบสาธารณสุขไปแล้ว ไม่มีใครกล้ายกเลิก หรือไม่ดำเนินการต่อ โดยทุกวันนี้ระบบบัตรทองครอบคลุมเกือบ 100% แล้ว เหลือเพียงแค่โรคหายากบางโรค หรือกลุ่มคนต่างชาติบางกลุ่ม แต่ด้วยปรัชญาของระบบคือการสร้างหลักประกันให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย บัตรทองในยุคนี้จึงมีการพัฒนาไปสู่การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในโรคหายากขึ้น และให้ความครอบคลุมแก่กลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้นอีก

นายอนุทิน กล่าวต่อไปว่า สิ่งแรกที่คิดตั้งแต่เข้ามาเป็น รมว.สธ. คือจะทำอย่างไรให้ระบบบัตรทองดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในยุคนี้ สธ. กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องทำงานร่วมกันหรือร่วมทางเดียวกันให้ได้ โดยยึดตามภารกิจและบทบาทตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งการทำงานร่วมกันจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

“ทุกวันนี้รักษาทุกโรคได้แล้ว จากนี้ต้องรักษาได้ทุกที่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่สะดวกสบายมากขึ้น โดยขณะนี้มีการเริ่มในหลายนโยบายแล้ว ทั้งหน่วยปฐมภูมิรักษาได้ทุกที่ โรคมะเร็งรักษาได้ทุกที่ ซึ่งถัดจากนี้ก็จะมีการพัฒนาต่อไป” นายอนุทิน กล่าว

อนึ่ง หนังสือ “ระหว่างบรรทัด” เป็นหนังสือรวบรวมประวัติศาสตร์การสร้างระบบบัตรทอง จากความคิดในอากาศสู่การสร้างรูปธรรมจนเป็นที่ได้รับการยกย่องในเวทีโลก ซึ่งเล่าเรื่องผ่านคำบอกเล่าและร่องรอยความคิดของบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรง