ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สดช. – สปสช. ลงนามความร่วมมือ “การพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพ” เพิ่มศักยภาพการใช้ข้อมูลเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน สนับสนุนรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบาย “Big Data”

โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการ – เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพุทธิพงษ์  ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมอบนโยบายในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)” ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยนางปิยะนุช วุฒิสอน เลขาธิการ สดช. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่และสนับสนุนการดำเนินงานด้าน Big Data ในหน่วยงานภาครัฐร่วมกัน โดยบูรณาการและให้บริการข้อมูลข้ามหน่วยงานได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว ปลอดภัยและควบคุมได้ นำไปสู่การวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต โดยมุ่งเน้นข้อมูลด้านสาธารณสุขและการแพทย์ และระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐเพื่อสนับสนุนการจัดระบบรักษาพยาบาลในการดูแลประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

นายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้แม้ว่ายังไม่ได้มีการเชื่อมต่อข้อมูล ไทยก็ถูกจัดให้เป็นประเทศที่ให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับประชาชนดีเป็นอันดับที่ 6 ของโลกแล้ว ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ ในความเป็นคนไทยเราน่าภาคภูมิใจ เพราะแม้ว่าหลายเรื่องเรายังล้าหลัง แต่เรื่องคุณภาพชีวิตและสุขภาพประชาชนเราไม่แพ้ชาติใด ถือเป็นเรื่องน่ายินดี ซึ่ง สปสช.จัดตั้งมาเข้าสู่ปีที่ 18 แล้ว เริ่มต้นจากการรักษาโรคทั่วไปจนในวันนี้ไม่มีโรคใดที่ไม่รักษาแล้ว แม้แต่โรคหายากก็บรรจุในสิทธิประโยชน์แล้ว และในวันนี้ สปสช.พร้อมรับการสนับสนุนจาก สดช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูลด้วย Big Data ถือเป็นก้าวแรก และเป็นหน่วยงานตัวอย่างเพื่อทำให้ข้อมูลไร้พรมแดน ซึ่งตนพร้อมยินดีผลักดัน เพราะจะทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศได้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงทีจากข้อมูลที่เชื่อมต่อ นอกจากนี้ยังช่วยลดภาระแพทย์พยาบาลในส่วนของการคัดกรองและซักประวัติผู้ป่วย

“การลงนามจะทำให้เกิดการเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพของประชาชน กรณีที่ต้องเดินทางและเกิดภาวะเจ็บป่วยจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล แพทย์ก็จะมีประวัติการรักษา เช่น แพ้ยาอะไร กินยาอะไรอยู่ รับการผ่าตัดอะไรมาบ้าง ที่จำเป็นต่อการวินิจฉัยโรค นับเป็นประโยชน์กับทุกคน” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลมีแนวคิดในการนำดิจิตอลมาดูแลประประชาชน โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่ได้เข้ารับบริการแต่ละแห่งให้เป็นข้อมูลเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ป่วยและแพทย์ในการรักษา ขณะเดียวกันยังเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและรัฐบาลที่ใช้ในการวางแผนและจัดทำนโยบายต่างๆ จากข้อมูลที่เชื่อมต่อทำให้มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง และครบถ้วน ซึ่ง สปสช.เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ มีประชาชนลงทะเบียนสิทธิบัตรทองกว่า 48 ล้านคน และยังมีข้อมูลการจ่ายชดเชย การเข้ารับการรักษาพยาบาลของประชาชนทั่วประเทศ ในวันนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในมิติด้านสาธารณสุข

ทั้งนี้จากข้อมูลเบื้องต้นในการเชื่อมต่อข้อมูลด้านสุขภาพและในฐานะที่กำกับดูแลบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ทำให้เกิดแนวคิดการจัดส่งยาให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เน้นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องกินยาเดิมต่อเนื่อง เมื่อยาหมดก็สามารถเติมยาได้โดยการจัดส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อให้คุณหมอสั่งจ่ายยา นอกจากลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนแล้ว ยังลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ เพียงแต่ต้องมีการพัฒนาการจัดทำฐานข้อมูลที่ดีและตรวจสอบได้

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ข้อมูลในระบบ สปสช.ตลอดระยะเวลา 17 ปี ที่ผ่านมา โดยในส่วนผู้ป่วยในได้มีการบันทึกข้อมูลการรับบริการกว่า 7 ล้านครั้งต่อปี ผู้ป่วยนอกมีการบันทึกข้อมูลการรับบริการกว่า 200 ล้านครั้งต่อปี นับเป็นทรัพยากรที่มีค่าและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เนื่องจากทำให้เห็นข้อมูลสถานการณ์สุขภาพประชากรใน ทั้งผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เป็นต้น และที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลส่วนบุคคลบางส่วนกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดทำการใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการเข้ารับบริการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เพื่อเชื่อมโยงระบบดูแลผู้พิการ เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงสิทธิ และในเร็วๆ นี้จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลการบริจาคอวัยวะและดวงตาเพื่อให้เกิดการเข้าถึงการรักษา ส่งผลให้เกิดการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นข้อมูลเพื่อคำนวณคณิตศาสตร์ประกันภัยในการจัดทำงบประมาณแต่ละปี 

อย่างไรก็ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพที่เร็วมาก อาทิ จำนวนผู้สูงอายุ อัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น จำเป็นต้องมีการวางแผนต่างๆ เพื่อรองรับ สดช.เป็นหน่วยงานที่มีความเป็นมืออาชีพในด้านการเชื่อมโยงข้อมูลภาพรวม รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้เกิดประโยชน์จึงนำมาสู่ความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งในครั้งนี้ยังเป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล 4.0 เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกัน