ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เรือนจำกลางอุบลราชธานี ใช้ระบบเทเลเมดิซีนดูแลสุขภาพ "ผู้ป่วยผู้ต้องขัง" ร่วมกับทีมหมอ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ช่วยสร้างความเท่าเทียมการเข้าถึงบริการ หมดกังวลการหลบหนีระหว่างส่งตัว


นายเศกสรรค์ จันทรปราสาท ผู้อำนวยการสถานพยาบาล เรือนจำกลางอุบลราชธานี เปิดเผยกับ "The Coverage" ตอนหนึ่งว่า เรือนจำกลางอุบลฯ ได้ร่วมกับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด และเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำกลางอุบลฯ ในโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เพื่อร่วมดูแลผู้ป่วยผู้ต้องขังในเรือนจำกลางอุบลฯ โดยใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (เทเลเมดิซีน) ระหว่างแพทย์ และเจ้าหน้าที่สถานพยาบาล เรือนจำกลางอุบลฯ เพื่อช่วยดูแลรักษาสุขภาพภายในเรือนจำ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยผู้ต้องขังดีขึ้น รวมถึงให้ได้รับบริการสุขภาพที่ทัดเทียมกับประชาชนภายนอก

ทั้งนี้ ระบบเทเลเมดิซีนระหว่างโรงพยาบาลแม่ข่ายและเรือนจำกลางอุบลฯ จะใช้ดูแลผู้ป่วยผู้ต้องขังในทุกเคส ทั้งอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ไปจนถึงอาการเจ็บป่วยรุนแรงและฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จาก รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จะให้คำแนะนำกับพยาบาลของเรือนจำกลางอุบลฯ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยผู้ต้องขัง แต่หากพบว่าเป็นเหตุฉุกเฉิน หรือมีอาการรุนแรงเกินกว่าที่เรือนจำกลางอุบลฯ จะดูแลได้ ก็จะให้ส่งตัวมายังโรงพยาบาล ซึ่งก็ใช้เวลาเพียงแค่ 12 นาทีก็ถึงมือแพทย์

"ความรวดเร็วในการดูแลผู้ป่วย รวมถึงระบบส่งต่อ เกิดจากการที่พวกเราได้ทำการซักซ้อมขั้นตอนต่างๆ อย่างเป็นระบบร่วมกัน เพราะการนำผู้ป่วยผู้ต้องขังออกไปรักษาตัว นอกจากต้องคำนึงถึงอาการของผู้ป่วยผู้ต้องขังแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดตามมา เช่น ผู้ต้องขังหลบหนี เป็นต้น แต่ด้วยระบบที่วางร่วมกัน และมีการซักซ้อมเป็นประจำ ก็ช่วยให้การส่งต่อผู้ป่วยรวดเร็ว จากเดิมที่เราต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการพาผู้ป่วยผู้ต้องขังออกมา แต่ด้วยระบบที่วางด้วยกันทำให้ใช้เวลาเพียงแค่ 12 นาทีก็ถึงโรงพยาบาล" ผอ.สถานพยาบาล เรือนจำกลางอุบลฯ กล่าว

นายเศกสรรค์ จันทรปราสาท

นายเศกสรรค์ กล่าวอีกว่า นอกจากระบบเทเลเมดิซีนที่ใช้ดูแลสุขภาพผู้ป่วยผู้ต้องขังแล้ว รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ยังส่งบุคลากรทางการแพทย์ในส่วนงานทันตกรรม อายุกรรม และกลุ่มงานสุขอนามัย เข้ามาตรวจสุขภาพและดูแลผู้ป่วยผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะกับงานทันตกรรม ซึ่งช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงการรักษาสุขภาพช่องปาก สุขภาพฟันได้เหมือนกับภายนอก ซึ่งแต่เดิมการที่ผู้ต้องขังจะได้ทำฟัน หรือขูด อุด ถอน นับเป็นเรื่องยากอย่างมาก แต่ด้วยระบบดังกล่าวก็ช่วยให้มีความทัดเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างดี

ขณะเดียวกัน หากตรวจพบว่าผู้ต้องขังรายใดที่มีปัญหาสุขภาพฟัน และประเมินจากทันตแพทย์แล้วต้องได้รับการรักษาฟันเทียม รากฟันเทียม ก็จะดำเนินการรักษาให้ ซึ่งเป็นสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) อยู่แล้ว และยังเป็นการเข้าร่วมโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567

ในส่วนของโครงการดังกล่าว มีเป้าหมายในการรักษารากฟันด้วยรากฟันเทียม และฟันเทียมให้กับประชาชนที่จำเป็น โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุทั่วประเทศอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ต้องขังได้รับการประเมินให้รักษารากฟันแล้วจำนวน 13 คน และยังเป็นเรือนจำกลางแห่งแรกของประเทศ ที่มีผู้ต้องขังเข้าร่วมโครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ อีกด้วย 

"ต้องยอมรับว่าแต่เดิมการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้ต้องขังเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อมีโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ รวมถึงมีการนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวก จึงทำให้สามารถออกแบบการบริการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยผู้ต้องขังได้ดีมากขึ้น รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ของ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ที่ใส่ใจและเห็นความสำคัญของผู้ต้องขัง ก็ช่วยวางระบบการดูแลสุขภาพอย่างครอบคลุม ซึ่งทำให้ผู้ต้องขังที่แม้จะถูกจองจำตามความผิด แต่ก็ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียมตามสิทธิที่ต้องได้รับ" ผอ.สถานพยาบาล เรือนจำกลางอุบลฯ กล่าว