ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บนพื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 66 ตารางวา  ริมถนนใหญ่นครอินทร์ ติดวงเวียนนครอินทร์ ใจกลาง จ.นนทบุรี มีอาคารเดี่ยวตั้งตระหง่านอยู่ มองผ่านด้วยสายตาหลายคนอาจจะมองว่ามันคืออพาร์ทเมนต์ หรือคอนโดมิเนียม

หากแต่ไม่ใช่ เพราะอาคารแห่งนี้ คือโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง

อาคารที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ คือ โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่ตั้งเป้าหมายจะเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นเลิศของจังหวัดนนทบุรี ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมเมืองใหญ่อย่างเมืองนนท์ โดยเฉพาะการสร้างความสะดวก ความรวดเร็ว และความพึงพอใจให้กับผู้มาใช้บริการ เหมาะกับสังคมเมืองที่เร่งรีบในปัจจุบัน

การนำเทคโนโลยี่ รูปแบบการบริการใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อสร้างความสะดวกให้กับผู้ป่วยเป็นหัวใจหลักของการให้บริการ การแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน จึงกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญ และช่วยทลายข้อจำกัดโดยเฉพาะเรื่องของขนาด-สถานที่ของสถานบริการ

แม้ว่าพวกเขา (โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลเปิดใหม่ สร้างมาจากที่ดินรับบริจาค งบประมาณตั้งต้นมีจำกัด ปัจจุบันยังไม่มีกรอบอัตรากำลัง บุคลากรการแพทย์ที่มีทำงานอยู่ปัจจุบันเป็นลักษณะยืมตัวมาช่วยราชการ และจ้างเพิ่มบางส่วน แต่การให้บริการของโรงพยาบาลแห่งนี้กลับตรงกันข้าม มีเสียงตอบรับความพึงพอใจ และชื่นชมระบบการบริการของผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก

นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และอาจเทียบเคียงได้กับ ‘โมเดลต้นแบบ’ ที่แม้ว่า บุคลากรการแพทย์ไม่เท่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ แต่สามารถจัดบริการได้อย่างรุดหน้า The Coverage จึงอยากชักชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน

แน่นอน บุคคลที่จะมาบอกเล่าวิธีคิดและฉายภาพการทำงานที่ดีที่สุด คือเบอร์ 1 ของโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีในขณะนี้ ‘นพ.วุฑฒิชัย จิรโชติกุลปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี

1

จัดบริการสุขภาพให้สอดรับกับสังคมเมือง

นพ.วุฑฒิชัย เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า ปัญหาความแออัดและการเข้าถึงการบริการของโรงพยาบาลรัฐบาลใน จ.นนทบุรี จะมีปัญหาที่ผู้ป่วยนอกมากกว่าผู้ป่วยใน เมื่อได้รับที่ดินบริจาคมา เป็นที่ดินเนื้อที่ไม่มากติดถนนใหญ่ จะสร้างศูนย์บริการทางสาธารณสุขอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด จึงเป็นที่มาให้ผู้บริหารระดับสูงในยุคนั้นสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้เพื่อเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยนอกครบวงจร ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการได้อย่างรวดเร็ว มากยิ่งขึ้น แบ่งเบาภาระและลดความแออัดของโรงพยาบาลอื่นๆ ลักษณะกายภาพของโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีเป็นอาคารเดี่ยว ลักษณะสถานที่ไม่เหมือนกับโรงพยาบาลของรัฐทั่วไป ซึ่งหากมองแล้วอาจเหมือนกับเป็นคอนโดมิเนียมมากกว่า

“แค่ที่จอดรถก็เป็นของบุคลากรทางการแพทย์ไปแล้ว 80% ประชาชนที่มาก็จอดไม่ได้ และก็เหมือนกับโรงพยาบาลรัฐบาลอื่นๆ ที่คนไข้อาจจะต้องรอคิวนาน ทั้งรอรับการตรวจวินิจฉัย รับยา กว่าจะกลับถึงบ้านก็อาจใช้เวลาค่อนวัน” นพ.วุฑฒิชัย ให้ภาพข้อจำกัดปัญหาในอดีต

กระนั้นเองโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี ก็พยายามหาช่องทางต่างๆ เพื่อคลี่คลายปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาใช้บริการให้ได้รับความพึงพอใจมากที่สุด ที่สุดแล้วจึงเกิดรูปแบบการจัดบริการใหม่ๆ ตามมา

หนึ่งในนั้นคือการใช้ การแพทย์ออนไลน์หรือเทเลเมดิซีน ซึ่งได้ผลและช่วยแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด

“ประชาชนจะได้รับความสะดวกมากขึ้น และยังสอดรับกับวิถีชีวิตของคนเมืองใหญ่ที่อาจจะไม่มีเวลาทั้งวัน ไม่ต้องลางานเพื่อพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือในโรคบางโรคไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังโรงพยาบาล เพียงแค่ใช้ระบบเทเลเมดิซีนเพื่อพบแพทย์ก็ได้ ส่วน เรื่องการส่งยาเราก็มีระบบส่งยาไปที่บ้านในหลายๆช่องทางเข่นกัน” นพ.วุฑฒิชัย กล่าว

ผลจากความสะดวกที่เกิดขึ้น ยังทำให้อีกหลายครอบครัวที่เคยใช้บริการของโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรีเริ่มบอกต่อ หรือชักชวนสมาชิกในครอบครัวลงทะเบียนเพื่อเลือกโรงพยาบาลฯ เป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.วุฑฒิชัย อธิบายต่อไปว่า สำหรับระบบเทเลเมดิซีน โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี ได้พัฒนารูปแบบบริการร่วมกันกับภาคเอกชน นั่นคือไดเอทซ์ (Dietz.asia) ผู้ให้บริการด้านโทรเวชกรรมซึ่งมีประสบการณ์ด้าน Telemedicine โดยตรง โดยใช้โปรแกรมการพบแพทย์ทางไกลเป็นเครื่องมือเชื่อมต่อผู้ป่วยเข้ากับแพทย์

2

2

สำหรับการจัดระบบเพื่อให้บริการเทเลเมดิซีน จะมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี คอยรับนัดหมายผู้ป่วยที่ต้องการใช้บริการ รวมถึงทำหน้าที่การคัดกรองเบื้องต้น โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เคยมาใช้บริการกับโรงพยาบาล หากเป็นอาการที่เจ็บป่วยเบื้องต้น ไม่ใช่โรคหรืออาการที่จำเป็นต้องพบแพทย์ที่ต้องวินิจฉัยอย่างจำเพาะเจาะจง เจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำให้ครั้งหน้า ติดต่อมายังเบอร์ตรงของแผนกแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน ที่เบอร์ 082 9970119 เพื่อทำการนัดหมายให้พบแพทย์ออนไลน์ได้

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่เลือกใช้บริการการแพทย์ทางไกลของโรงพยาบาลเลยเพราะรับทราบข้อมูลมาแล้ว ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทองก็ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่หากเป็นสิทธิอื่นที่อาจจะต้องมีการเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม ก็จะมีระบบให้จ่ายค่าส่วนต่างผ่านออนไลน์เช่นกัน

นพ.วุฑฒิชัย สะท้อนอีกว่า การใช้เทเลเมดิซีนบริการกับผู้ป่วยในเขตเมืองใหญ่ ที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก ทำให้เกิดการเข้าถึงการบริการที่สะดวกมากขึ้น และตัวระบบยังทำให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้การใช้งาน ซึ่งจากการสอบถามความพึงพอใจ ก็พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจมากขึ้น เพราะได้รับความรวดเร็วในการบริการ และที่สำคัญ ผู้ป่วยมองว่าพวกเขาสามารถเลือกเวลาเพื่อจะพบแพทย์ตามต้องการได้ ตรงนี้คือการสร้างความแตกต่างในการเข้าถึงบริการจากเดิมไปมากทีเดียว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ระบบการแพทย์ทางไกลก็ยังเจอปัญหาแม้แต่ในเมืองใหญ่อย่าง จ.นนทบุรี เพราะยังมีผู้ป่วยบางส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไกลออกไปยังคงอยากพบเจอแพทย์มากกว่า แต่ก็มีบางส่วนที่ปรับตัวเพื่อพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น

“เป็นอีกโจทย์ที่อยากให้ภาครัฐ มาช่วยอุดช่องโหว่เรื่องนี้ หากจะลดความแออัดในโรงพยาบาลจริงๆ เพราะต้องสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนอย่างจริงจังในการใช้งานระบบเทเลเมดิซีน ในระยะต้นซึ่งเริ่มเรียนรู้ อาจสร้างการเชื่อมต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้นัดคนไข้ที่ต้องได้พบแพทย์มาพร้อมๆ กันยังหน่วยบริการ มีเจ้าหน้าที่จัดระบบคิว เชื่อมต่อพบแพทย์ผ่านเทเลเมดิซีนที่หน่วยบริการนั้นๆ เป็นการเพื่มความรวดเร็ว เพิ่มปริมาณและความต่อเนื่อง  ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทาง มาโรงพยาบาล ทำให้ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วย” นพ.วุฑฒิชัย กล่าว

1

‘เจาะเลือดระบบไดร์ฟทรู5 นาทีเสร็จ

นอกไปจากระบบเทเลเมดิซีนแล้ว โรงพยาบาลยังพัฒนาการให้บริการการแพทย์ที่เรียกว่า “ไดร์ฟทรูแลบ” มาเสริมเพิ่มเติมให้กับประชาชน โดยให้ผู้มาใช้บริการสามารถโทรติดต่อสอบถามมาที่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลตรงของโรงพยาบาลที่เบอร์096-3642482 แจ้งความประสงค์เจาะเลือดชนิดไหน เจ้าหน้าที่จะแจ้งค่าบริการที่ต้องชำระ หลังการชำระเรียบร้อยจะมีการนัดหมายเวลา ตำแหน่งที่นำรถเข้ามาจอด (ดรอป ออฟ) เพื่อรับบริการเจาะเลือด จะมีเจ้าหน้าที่ไปเจาะเลือดที่จุดจอดรถนั้นโดยที่ไม่ต้องเข้ามาภายในโรงพยาบาล เจาะเลือดเสร็จผู้ใช้บริการสามารถขับรถกลับได้เลย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะส่งผลเลือดไปที่บ้าน ถ้าประสงค์พบแพทย์หลังผลเลือดออกสามารถพบได้โดยผ่านระบบเทเลเมดิซีน  โดยกระบวนการนี้ทั้งหมดจะใช้เวลาในโรงพยาบาลเพียง 5 นาทีก็เป็นอันเสร็จสิ้น

“หลายเคสของเราคนไข้ที่มาเจาะเลือดผ่านไดร์ฟทรู เจาะเสร็จแล้วยังไม่ถึงบ้าน แต่เราแจ้งผลเลือดกลับไปได้เลย และสามารถวางแผนการรักษาต่อไปได้ทันที นี่คือความสะดวกรวดเร็วที่เกิดขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อคนไข้อย่างชัดเจน” นพ.วุฑฒิชัย กล่าว

นพ.วุฑฒิชัย สะท้อนถึงผลลัพธ์ของการอุดช่องโหว่ด้านการบริการที่เกิดขึ้น เป็นการช่วยให้โรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี สามารถลดความแออัดของผู้ป่วยที่มารับบริการภายในโรงพยาบาล ประชาชนพึงพอใจได้รับการบริการที่สะดวกและรวดเร็ว และเป็นไปตามนโยบายที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

จากการทำงานที่มุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน นพ.วุฑฒิชัย ย้ำอีกว่า ทำให้มีหน่วยบริการทางสาธารณสุข ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลจากหลายจังหวัด ขอเข้ามาศึกษาดูงาน และดูถึงโครงสร้างการจัดการสถานที่ที่แม้จะดูเล็ก แต่ก็สามารถที่จะช่วยให้การจัดบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้

“สรรพกำลังขณะนี้ที่มีแพทย์อยู่ 8 คน บวกกับพยาบาลอีกราว 10 ชีวิต แม้ดูว่าตัวเลขน้อยนิดสำหรับบริการสุขภาพให้กับประชาชนในเมืองใหญ่อย่าง จ.นนทบุรี แต่ด้วยการบริหารจัดการ อุดช่องโหว่ต่างๆ ก็ทำให้เกิดความลื่นไหลของการบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพของโรงพยาบาลศูนย์บริการการแพทย์นนทบุรี” นพ.วุฑฒิชัย ย้ำทิ้งท้าย

1