ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการ สปสช. ลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ติดตามผลการให้บริการ “ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” หลักคิกออฟ 3 เดือน พร้อมรับฟังปัญหา-อุปสรรค หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เบื้องต้นพบปัญหาเชื่อมต่อข้อมูล การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลและคลินิก ในบางบริการ เตรียมสรุปข้อมูลเข้าสู่ที่ประชุมสิ้นเดือนนี้ ด้าน สสจ.ร้อยเอ็ด สรุป มีประชาชนในจังหวัดรับบริการ 1.7 แสนคน พร้อมเร่งสร้างความเข้าใจ เพื่อเชื่อมต่อดูแลผู้ป่วยที่คลินิกฯ  


เมื่อวันที่ 13-14 มี.ค. 2567 นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานบริการสาธารณสุข (บอร์ดควบคุมฯ) และ ศ.นพ.ชูศักดิ์ คุปตานนท์ ประธานอนุกรรมการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) พร้อมด้วย นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายณรงค์ อาสายุทธ รักษาการผู้อำนวยการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น ลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง “30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เฟสแรก เพื่อเยี่ยมชมหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) พร้อมรับทราบปัญหาและอุปสรรคการร่วมให้บริการ เพื่อส่งเสริม พัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานบริการ โดยมี นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด (สสจ.ร้อยเอ็ด) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล 

สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ที่ได้ลงเยี่ยมชม รับฟังปัญหาและอุปสรรคครั้งนี้ ประกอบด้วย คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชุมชนอบอุ่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น เป็นต้น 

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานบอร์ดควบคุมฯ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามงาน รับทราบปัญหาและอุปสรรคของคลินิกต่างๆ ในระยะเริ่มต้นโยบายที่คิกออฟเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 พบว่าคลินิกที่ได้เยี่ยมชมนั้นมีมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการประชาชนระดับที่ดี ขณะเดียวกันยังพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะความไม่เข้าใจกระบวนการให้หรือรับบริการของประชาชนและหน่วยบริการ รวมถึงการเชื่อมโยงส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล และคลินิกที่จะต้องพูดคุยทำความเข้าใจเพื่อพัฒนาต่อไป

2

นอกจากนี้ จะมีการพูดคุยกับสภาวิชาชีพต่างๆ ให้ช่วยทำความเข้าใจผู้ประกอบวิชาชีพถึงหลักเกณฑ์ วิธีการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงการสื่อสารภายในจังหวัด โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ สปสช. เขตถึงแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยไปยังคลินิก เพราะจากการลงพื้นที่วันนี้ทำให้ทราบปัญหาการไม่ส่งต่อผู้ป่วยให้คลินิกที่เกิดขึ้นในบางบริการ ซึ่งอาจเกิดจากการสื่อสารที่ได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดีจะมีการสรุปภาพรวมนโยบายฯ ทั้งหมดในวันที่ 27 มี.ค. นี้ โดยจะมีการประชุมกรรมการควบคุมฯ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป

นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า นอกจากในครั้งนี้ยังได้มีการประชุมผู้ให้บริการและผู้ที่เกี่ยวข้องตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ โดยได้รับข้อคิดเห็นว่าการพัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เช่นเดียวกับระบบส่งต่อข้อมูล และระบบการเบิกจ่ายที่รวดเร็ว เหมาะสม ขณะที่บางวิชาชีพได้เสนอเรื่องการเพิ่มหรือขยายบางบริการ ส่วนนี้จะให้ สปสช. นำไปหารือร่วมกับสภาวิชาชีพต่างๆ เพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อไป 

“นโยบายนี้เพิ่งเริ่มต้นปีนี้เมื่อเดือนมกราคม และครั้งนี้กรรมการควบคุมฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามงานในช่วงแรกร่วมกับสภาวิชาชีพต่างๆ เข้ามาดูเรื่องมาตรฐานวิชาชีพนั้นๆ รวมถึงมาตรฐานและบริการ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯ จะมีการขยายการติดตามการดำเนินนโยบายฯ เพิ่มเติมในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป” นพ.สุพรรณ ระบุ

9

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิแพทย์แผนไทย คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นตรงกันคือการให้บริการประชาชนด้วยความรวดเร็วจะต้องเป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐาน ฉะนั้นกรรมการควบคุมคุณภาพฯ จึงต้องลงพื้นที่ติดตาม อย่างไรก็ดีจากการเยี่ยมชมคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ พบว่าสถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร ฯลฯ มีมาตรฐานสูง ขณะเดียวกันก็ต้องดูการเข้ามาใช้บริการของประชาชนควบคู่กันไปด้วย 

ทั้งนี้ ในส่วน “เซ็นทรัลแล็บ 101 คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น” ที่ร่วมให้บริการนั้น เบื้องต้นพบว่ามีผู้เข้ารับบริการที่คลินิกเพียง 3 ราย จาก 3 เดือนนับตั้งแต่เริ่มนโยบาย ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ต่ำ สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลและผู้ป่วย เพราะการที่ผู้ป่วยจะมารับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ได้นั้นต้องมีใบสั่งจากแพทย์ ซึ่งปัญหานี้จะนำไปวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การแก้ไข 

“นอกจากนี้ยังมีปัญหาของระบบ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและคลินิกฯ ซึ่งมีบางส่วนที่เป็นจุดอ่อน แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ได้มีการลงมาประเมินช่วง 3 เดือนแรก เพื่อนำไปปรับปรุงก่อนจะมีการขยายเฟสทั่วประเทศ” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว 

ด้าน นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์ สสจ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า สิ่งที่ จ.ร้อยเอ็ด จะต้องไปพัฒนาต่อนั้น คือการสร้างความใจให้หน่วยบริการและบุคลากรเรื่องระบบเทคโนโลยี เพราะพบว่าบุคลากรในหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ยังไม่เข้าใจระบบเชื่อมโยงข้อมูล โดย สสจ.ร้อยเอ็ด จะเร่งให้ความรู้และคำแนะนำแก่หน่วยบริการที่จะขึ้นทะเบียนเข้ามา เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นประเด็นสำคัญ นอกเหนือเชื่อมข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลแล้ว จะต้องเชื่อมต่อไปถึงหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ด้วย หากประชาชนยินยอมเปิดเผยข้อมูล หน่วยบริการในแต่ละระดับที่เข้าร่วมก็จะดูข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย (Personal Health Record: PHR) ได้ เช่น ประวัติการรักษา ประวัติแพ้ยา อย่างไรก็ดีกระทรวงสาธารณสุขกำลังจะพัฒนาระบบไอทีให้ง่ายกว่าเดิม ผู้ให้บริการก็จะใช้งานได้ง่ายขึ้น ทำให้การบริการมีประสิทธิภาพ เรื่องนี้เราเห็นอนาคตอยู่แล้วว่าคนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน 

5

ส่วนภาพรวม จ.ร้อยเอ็ด ในนโยบายฯ นี้นั้น วันนี้มีโรงพยาบาลภาครัฐร่วมให้บริการ 20 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 229 แห่ง คลินิกเอกชนที่ร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ประมาณ 300 แห่ง จากทั้งหมด 600 ร้อยแห่ง รวมทั้งมีสถานบริการของเทศบาล และโรงพยาบาลค่าย ขณะที่ภาพรวมการใช้บริการตั้งแต่มีการประกาศนำร่อง มีประชาชนเข้ารับบริการตามนโยบายฯ แล้วกว่า 1.7 แสนราย คิดเป็น 3 แสนครั้งในการเข้ารับบริการ