ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอตั้งใจมาอยู่ที่นี่ (โรงพยาบาลหนองฮี .ร้อยเอ็ด) ก็เพราะมีสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จ นั่นคือการทำให้โรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัย มีมาตรฐาน และใกล้บ้านใกล้ใจ หรือ Super Primary Care”

Super Primary Care หรือ “โรงพยาบาลหมอครอบครัว” ที่ใกล้บ้านใกล้ใจ คือความปรารถนาสูงสุดที่ พญ.รัชฎาพร สีลา แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ต้องการทำให้สำเร็จ ในฐานะที่เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองฮี จ.ร้อยเอ็ด

ความตั้งใจนี้เป็นจุดตั้งต้นที่นำไปสู่การยกระดับโรงพยาบาลหนองฮีให้เป็นโรงพยาบาลที่มีความเป็นเลิศด้านการแพทย์ปฐมภูมิ และองค์รวมด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว มาตั้งแต่ปี 2560 หรือตั้งแต่ในปีแรกที่ ‘พญ.รัชฎาพร’ เข้ามากุมบังเหียนโรงพยาบาล

สิ่งหนึ่งที่โรงพยาบาลหนองฮีเริ่มและคิดมาตั้งแต่ต้น คือการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยโดยใช้เตียงที่บ้านเป็นเตียงโรงพยาบาล หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ Home Ward

ส่วนนี้เองก็สอดคล้องกับที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งใจและปักหมุดหมายเอาไว้ในงาน “มหกรรม 80 ปี กรมการแพทย์” เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่า ในวันที่ 1 ก.ค. 2565 จะเริ่มนำร่องทำ Home Ward ที่เน้นบริการทางการแพทย์จากผู้ป่วยเป็นหลักไม่ใช่จากตัวโรค

ทำ Home Ward ในฐานะ รพ.ขนาดเล็ก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 โรงพยาบาลหนองฮีเปิดให้บริการเป็นโรงพยาบาลเปิดใหม่ โดยโรงพยาบาลถือได้ว่าเป็นขนาดที่เล็กที่สุดในระดับของ สธ. ที่เปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยนอกเท่านั้น โดยมีประชากรในพื้นที่ราว 2.5-2.6 หมื่นคน

จนกระทั่งปี 2560 “พญ.รัชฎาพร” เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการเป็นปีแรก ซึ่งความต้องการของประชาชนในขณะนั้นคือ “อยากมีบริการผู้ป่วยใน” เพื่อที่ยามเจ็บป่วยจะสามารถแอดมิทนอนที่โรงพยาบาลได้ทันที ไม่ต้องเดินทางไกลไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า

1

ทว่าการดำเนินการเปิดผู้ป่วยในนั้นไม่ง่าย เพราะโรงพยาบาลหนองฮีไม่ได้มีงบประมาณสำหรับส่วนนั้น และอาจต้องใช้เวลานานถึง 5 ปีเป็นอย่างน้อย หากจะของบประมาณตามกระบวนการเพื่อก่อสร้างอาคาร ยังไม่นับค่าใช้จ่ายทางอื่นๆ อีกหลายกระบวนการ

พญ.รัชฎาพร เล่าว่า ในตอนแรกคิดว่าไม่จำเป็นต้องรับแอทมิดผู้ป่วยใน (IPD) ก็ได้ เพราะเราสามารถเชื่อมบริการกับโรงพยาบาลแม่ข่าย ดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้โดยความร่วมมือของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย หรือผู้ดูแลในครอบครัวและชุมชนตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว แต่ประชาชนไม่ได้คิดแบบนั้น

ทั้งหมดทั้งมวลจึงนำมาสู่การพูดคุยเพื่อหาจุดตรงกลางกับประชาชนในพื้นที่ เกิดเป็นการร่วมแรงร่วมใจทำผ้าป่าขึ้นเพื่อบริจาคสำหรับสร้างวอร์ดผู้ป่วยในขึ้น จนเมื่อปี 2562 โรงพยาบาลหนองฮีก็สามารถเปิดวอร์ดผู้ในจำนวน 10 เตียง และสามารถขึ้นทะเบียนเบิกจ่ายกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ในที่สุด

"ตอนที่เราทำผ้าป่าเพื่อระดมทุนเราแพลนไว้ด้วยไอเดียที่ไม่คิดว่า ณ ตอนนี้จะเป็นไอเดียที่ตอบโจทย์พื้นที่ ตอนนั้นเราคิดไอเดียไว้ว่า 10 เตียงที่โรงพยาบาล และ 20,000 เตียงที่บ้าน ความหมายของคำว่า 20,000 เตียงก็คือ มีหมอในพื้นที่ 2 คน ต่อประชากร 8,000-12,000 คน ตามหลักเวชศาสตร์ครอบครัว"

เมื่อเกิดวอร์ดผู้ป่วยในขึ้น ทำให้คำว่า “Home Ward” ถูกพับเก็บเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้หายไปไหนเพราะยังอยู่ในรูปแบบของการจัดบริการ เพราะที่โรงพยาบาลหนองฮีจัดบริการโดยใช้ฐานของโรงพยาบาลเป็นฐานของการดูแลประชาชนด้วยเวชศาสตร์ครอบครัว

ความเป็นเลิศด้านการแพทย์ปฐมภูมิและองค์รวม

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า โรงพยาบาลหนองฮีมีวิสัยทัศน์ว่าจะเป็นโรงพยาบาลที่มีความเป็นเลิศด้านการแพทย์ปฐมภูมิและองค์รวม นั่นจึงทำให้เกิดการสำรวจพื้นที่ ร่วมเรียนรู้จากทีมชุมชน และภาคเครือข่ายทั้งในและนอกโรงพยาบาล เมื่อภาพที่เห็นตรงกับฝันในใจ พญ.รัชฎาพร จึงไม่รอช้าที่จะทำให้ทีมเห็นภาพความงดงามของ “เวชศาสตร์ครอบครัว” ที่เป็นการดูแลคนไม่ใช่โรคที่เขาเป็นอยู่ รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยต้องไม่ใช่การเจอกันแค่ครั้งเดียว เพราะการจะรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้นหรืออยู่กับโรคที่เขาเป็นอยู่จะต้องอาศัยการดูแลอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นทีมแพทย์ที่ดูแลจะต้องเป็นทีมเดิมคอยดูแลผู้ป่วยคนเดิม

"ด้วยแนวคิดนี้ตอนที่เปิดวอร์ดในโรงพยาบาล ในตอนที่เกิดผู้ป่วยในเราก็เลยสร้างแนวคิดว่าเราจะให้หมอเป็นคุณหมอไม่ใช่แค่คุณหมออย่างเดียว เป็นทีมสหวิชาชีพ เรามีหมอ 3 คน เรามี 3 พื้นที่เราก็แบ่งออกเป็น 3 ทีม แบ่งประชาชนออกเป็นพื้นที่ของคุณหมอ แปลว่าคุณหมอดูแลพื้นที่ด้วยและดูแลคนไข้ในพื้นที่นั้นด้วย ทั้งในโรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล ก็คือเวลาคนไข้มาตรวจที่ผู้ป่วยนอกระบบไอทีของเราก็จะกรองคนไข้ที่เป็นพื้นที่ของคุณหมอคนนั้นเข้าตรวจกับคุณหมอคนเดิมทุกครั้งที่เขามา"

แม้ภาพในตอนนั้นจะมีการดูแลผู้ป่วยที่บ้านแล้ว แต่โรงพยาบาลไม่สามารถเคลมค่าบริการแบบผู้ป่วยในได้ ทำให้การเบิกจ่ายยังเป็นการเบิกรายเคสตามกลุ่มกองทุน เช่น กองทุนผู้ป่วยระยะสุดท้าย กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น

2

จนเมื่อสำนักพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ สปสช. และกรมการแพทย์ สนับสนุนให้เกิด Home Ward ขึ้น นั่นทำให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านของโรงพยาบาลหนองฮี เป็นรูปเป็นร่าง ทำงานได้อย่างเป็นระบบ และสามารถเบิกจ่ายตามเกณฑ์กับ สปสช. แบบผู้ป่วยในได้ในที่สุด

นั่นยังรวมไปถึงทำให้เกิดการควบคุมคุณภาพการจัดบริการที่ได้มาตรฐานร่วมกันในหลายภาคส่วน หน่วยบริการมีงบประมาณในการบริหารจัดการเพื่อดูแลผู้ป่วยได้สะดวกขึ้นภายหลังจากการให้ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน

ครอบคลุม 6 กลุ่มโรค

จนถึงขณะนี้การให้บริการ Home Ward ของโรงพยาบาลหนองฮีดำเนินการมากว่า 1 เดือนแล้ว นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่าน โดยเปิดให้บริการ 7 กลุ่มโรคตามที่กรมการแพทย์กำหนด ได้แก่ 1. โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ 2. โรคโควิด-19 ในกลุ่ม 608 ที่สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ 3. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ ที่มีข้อกำหนดว่าต้องฉีดยาฆ่าเชื้อวันละ 1 ครั้ง 4. ผู้ป่วยระดับน้ำตาลในเลือดสูง และไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย 5. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่มีภาวะอันตราย 6. One Day Surgery หรือบริการผ่าตัดวันเดียวกลับ และ 7. ผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ

อย่างไรก็ดี โรงพยาบาลหนองฮีสามารถดูแลได้เพียง 6 กลุ่ม เนื่องจากไม่มีบริการดูแลผ่าตัดวันเดียวกลับ ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-30 ก.ย. 2565 พบว่ามีผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้ว 29 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม 608 ผู้ป่วยนำตาลในเลือดสูง และผู้ป่วยความดันโลหิต ขณะเดียวกันสำหรับเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลในขณะนี้อยู่ที่ 15 เตียง

พญ.รัชฎาพร ระบุว่า เรื่อง Home Ward เป็นเรื่องที่ทำมาอยู่แล้ว ฉะนั้นทีมที่ทำงานร่วมกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจะเข้าใจระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน มีการทำงานกันเป็นทีมและมีพื้นฐานการจัดบริการที่บ้านอยู่แล้วนั่นคือจุดแข็งของโรงพยาบาลหนองฮี รวมไปถึงในทีมยังประกอบไปด้วย เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชนที่รับผิดชอบในพื้นที่อีกด้วย ไม่ใช่แค่เฉพาะแพทย์เท่านั้น

“เพราะฉะนั้นพอมีโปรเจกต์นี้ก็ไม่ยาก เราก็แค่สื่อสารในทีมทั้งหมด ต้องทำความเข้าใจว่าทำเรื่องเดิมเพิ่มเติมคือเราดูแลผู้ป่วยที่บ้านแต่สามารถเบิกค่าบริการหรือเคลมค่าบริการได้เท่ากับคนไข้นอนโรงพยาบาล”

ดูแลแบบถึงลูกถึงคน

สำหรับการพบแพทย์ในระบบ Home Ward นั้นจะมีทั้งการนำทีมลงไปในพื้นที่ และตรวจผ่านระบบแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine มีการให้ชุดอุปกรณ์ เช่น เครื่องเจาะน้ำตาล เครื่องวัดความดัน ฯลฯ มีการจัดเวรแพทย์และพยาบาล On-call สำหรับดูแลผู้ป่วยที่ Home Ward มีศูนย์ประสานงาน Home Ward บูรณาการมาจาก Cohort Ward ที่ใช้ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และในกรณีฉุกเฉินก็จะมีรถพยาบาลสำหรับรับผู้ป่วย ซึ่งจากรัศมีของโรงพยาบาลแล้วจะสามารถไปถึงบ้านผู้ป่วยได้ภายใน 10 นาที

3

แม้ว่าในระหว่างให้บริการจะพบปัญหาและอุปสรรคเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วยไปบ้าง แต่ก็ได้รับเสียงขอบคุณจากผู้ป่วยที่รับบริการ ขณะเดียวกันทีมที่ทำงานแม้จะตะกุกตะกักไปบ้างแต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น และเมื่อได้เห็นเสียงตอบรับจากผู้ป่วยก็ทำให้ดีใจไปด้วย

การให้บริการในลักษณะนี้ ทำให้เคสผู้ป่วยเบาหวานบางรายที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ เมื่อเข้ารักษาแบบ Home Ward ทำให้เขาสามารถควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น เพราะจะมีโจทย์สำหรับอาหารในแต่ละวัน ให้เจาะน้ำตาลทั้งก่อนและรับประทานอาหาร และจะมีการโทรติดตามอาการด้วย หากน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 400 ก็จะให้เข้ามาตรวจเลือดเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลอีกครั้ง เมื่อผู้ป่วยได้เห็นค่าน้ำตาลของตนเองก็สามารถควบคุมน้ำตาลได้

ท้ายที่สุดแล้ว พญ.รัชฎาพร กล่าวว่า จุดสำคัญของการทำ Home Ward คือการทำงานร่วมกันระหว่างทีมแพทย์ สหสาขาวิชาชีพ "หมอโรงพยาบาล" ทีมเครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ "หมออนามัย" ทีมเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ภาคีในชุมชน ตลอดจน ผู้ป่วยและครอบครัว "หมอประจำครอบครัว" ทำให้ทีมที่ทำการรักษามีโอกาสได้เห็นความเป็นอยู่ และความเสี่ยงด้านสุขภาพจากสภาพแวดล้อมของประชาชน รวมไปถึงเมื่อผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาล เขาอาจจะรู้สึกว่าเขาตัวเล็ก แต่เมื่อมีแพทย์มาหาที่บ้านเขาก็จะรู้สึกว่าตัวเขาใหญ่ขึ้นเท่าแพทย์

ขณะเดียวกันสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องแผลกดทับ ญาติเองก็จะเห็นการดูแลจากพยาบาล และพยาบาลก็จะมีการสอนการดูแลในเบื้องต้น ในระยะยาวก็จะสามารถทำได้เอง และเขาก็จะเก่งขึ้น

“ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันและกันเหมือนเขาเป็นทีมหนึ่งในการดูแลร่วมกันกับเรา ซึ่งทำให้เขารู้ภาวะสุขภาพของตัวเอง และที่สำคัญเขาต้องเป็นเจ้าของสุขภาพของตัวเองและคนในครอบครัวด้วย” พญ.รัชฎาพร ระบุ