ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การไปรับการดูแลรักษาพยาบาลที่หน่วยบริการได้ “ทุกที่” ไม่ว่าจะเป็นสังกัดรัฐ หรือเอกชน ไม่ว่าจะโรงพยาบาล หรือคลินิก ตลอดจนร้านขายยา เพียงแค่พกบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมส่งต่อได้ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว

ขณะเดียวกัน หน่วยบริการยังสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก “สปสช.” หรือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ภายใน 3 วัน จากเดิมที่ต้อง 15 หรือ 30 วันแล้วแต่รอบส่งของโรงพยาบาล ซึ่งบางแห่งอาจยาวนานถึง 1 ปี

เหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้เพียงแค่เกิดการ “เชื่อมข้อมูล” กันระหว่างหน่วยบริการ ภายใต้นโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” 

แน่นอนว่าผู้มีบทบาทนำในการขับเคลื่อน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ให้เห็นเป็นรูปธรรมคือ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่อีกด้านหน่วยงานที่จะขาดไปไม่ได้เลย เพราะเปรียบเสมือน “หัวใจ” ของระบบบริการ ก็คือ สปสช.  ซึ่งกุมเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาทในการสนับสนุนเงินเพื่อดูแลสุขภาพคนสิทธิบัตรทองกว่า 47 ล้านคน

เพื่อสำรวจบทบาทการเชื่อมข้อมูลของ สปสช. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด และการสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยบริการได้ว่าเงินจะไปถึงเร็วที่สุด “The Coverage” มีโอกาสได้พูดคุยกับ ประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. ถึงเรื่องราวดังกล่าวซึ่งอยู่ในอีกหน้าเหรียญของ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ

1

การเชื่อมข้อมูลภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่

ก่อนจะไปเข้าไปถึงเรื่องราวนั้นที่เป็นประเด็นหลัก ประเทือง บอกว่าทุกคนจำเป็นต้องรู้ภูมิหลังของเรื่องนี้ก่อน เพื่อให้เข้าใจคำที่พูดง่ายแต่เข้าใจได้ยาก อย่างการเชื่อมโยงข้อมูลของ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ซึ่งจะทำให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ของ สปสช. ชัดขึ้น 

ก่อนจะขยายความต่อไปว่า เดิมในทุกโรงพยาบาลจะมีการเก็บข้อมูลการดูแลรักษาของผู้ป่วยในแต่ละครั้งที่มารับบริการไว้ เช่น ลักษณะของโรคที่เป็น แพ้ยาอะไร มีโรคประจำตัวอะไรไหม ฯลฯ รวมถึงข้อมูลสำคัญอย่างด้านการเงิน ครุภัณฑ์ หรือกระทั่งชุดผู้ป่วยที่พร้อมใช้งาน และรอซักรีด ผ่านการจดบันทึกลงกระดาษ หรือเอกสารต่างๆ และใช้การจัดเก็บในชั้นวางหรือตู้ใส่เอกสารทั่วไป

แต่ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น ก็มีการปรับมาใช้สิ่งที่เรียกว่า “ระบบข้อมูลของโรงพยาบาล” (Health Information System หรือ HIS) พูดให้เข้าใจง่าย ระบบนี้เปรียบเสมือนตู้เก็บเอกสารขนาดใหญ่ที่ถูกย่อขนาดเอามาใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ โดยบทบาทหน้าที่เหมือนเดิม ใช้จัดเก็บข้อมูลต่างๆ ในโรงพยาบาล เพียงแค่เปลี่ยนจากกระดาษเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดี จุดสำคัญก็คือ ระบบ HIS นี้ที่อยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ไม่มีที่ไหนเหมือนกันเลย 20 โรงพยาบาล ก็จะมีระบบแบบนี้ 20 ระบบ รวมถึงเป็นไปแบบต่างคนต่างทำของตนเอง และด้วยข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยเป็นข้อมูลที่สำคัญ โรงพยาบาลจึงมักทำระบบดังกล่าวให้เป็นระบบปิด ไม่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตภายนอก เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลเหล่านี้โดยกังวลว่าอาจจะถูกแฮ็ก โดนไวรัส หรืออะไรต่างๆ ที่ทำให้ระบบล่ม 

“เพราะทันทีที่ระบบล่มนั่นหมายถึงทั้งโรงพยาบาลจะหยุดนิ่งหมด ไม่สามารถให้บริการคนไข้ได้ เพราะจะดูประวัติคนไข้อะไรต่างๆ ไม่ได้เลย” 

2

ประเทือง บอกต่อไปว่า เหล่านี้คือภาพระบบข้อมูลของโรงพยาบาลที่ผ่านมา ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นจาก 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ก็คือ การที่ สธ. ทำให้ทุกโรงพยาบาลสังกัด สธ. ในประเทศไทยเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลจากระบบ HIS ระหว่างกัน ผ่าน “หมอพร้อม” เข้าสู่ระบบคลาวด์ (Cloud) หรือระบบจัดเก็บข้อมูลหมอพร้อม ซึ่งเป็นของ สธ. ส่วนโรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. เช่น โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) อาจจะใช้อีกระบบหรือแพลตฟอร์มการเชื่อมข้อมูลหนึ่ง มีชื่อว่า “Health Link” โดยข้อมูลจะถูกจัดเก็บเข้าสู่ระบบคลาวด์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

กระนั้นไม่ใช่ว่าจะเชื่อม “ข้อมูลทุกอย่าง” ของโรงพยาบาลเหล่านั้นเข้าหากัน แต่เป็นการเลือกเอาข้อมูลที่ “จำเป็นต่อการรักษา” เท่านั้น เช่น ประวัติการรักษาผู้ป่วย ซึ่งในกระบวนการนี้จะมีการกำหนดว่าข้อมูลอะไรบ้างที่แต่ละโรงพยาบาลจะเชื่อมกัน โดยเรียกว่า ชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับแลกเปลี่ยนกัน (Standard Data Set) 

เพราะสิ่งนี้จะทำให้ทุกโรงพยาบาลรับรู้ข้อมูลผู้ป่วยที่เดินเข้ามารับบริการร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในกรณีที่ผู้ป่วยย้ายถิ่นฐานแบบข้ามจังหวัด เพื่อไปทำงานหรืออยู่อาศัย แต่ไม่มีการย้ายทะเบียนบ้านไปจังหวัดนั้นๆ ให้สามารถรับการดูแลรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว หรือเสียเวลาไปกับการตรวจสอบสิทธิว่าเดิมอยู่ที่โรงพยาบาลไหน และมีประวัติการรักษาอะไรมาแล้วบ้าง 

“จริงๆ ผมใช้คำว่าโรงพยาบาลให้เข้าใจง่ายนะ เพราะใน 30 บาทรักษาทุกที่ที่เราเชื่อมข้อมูลที่ว่ากับทุกหน่วยบริการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตแพทย์ ร้านยา คลินิกแล็บ ฯลฯ เพื่อให้ตอบโจทย์ว่าประชาชนสิทธิบัตรทองต้องไปได้ทุกที่ และให้ผู้ให้บริการมีสิทธิที่จะดูประวัติคนไข้หากเขายินยอม เพื่อประโยชน์ในการรักษา”

สปสช. ยกเครื่อง ‘ระบบ IT’

คำอธิบายข้างต้นน่าจะทำให้พอเห็นภาพแล้วว่า 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ที่บอกว่าเชื่อมข้อมูล ข้อมูลนั้นคืออะไร ทำไมทำให้ประชาชนสามารถไปรับบริการทุกที่ได้ แต่นั่นเป็นเพียงในฝั่งของ “การให้การดูแลรักษา” เท่านั้น 

ทว่า อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเชื่อมข้อมูลเพื่อ “เบิกจ่าย” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สปสช. เพราะแน่นอนว่าการรับบริการที่สะดวกขึ้นจะทำให้มีประชาชนเข้าถึงมากขึ้น หากระบบเบิกจ่ายยังเป็นแบบเดิมอาจยังไม่สอดคล้องเท่าไหร่นัก ยิ่งมีร้านยา คลินิกต่างๆ ของภาคเอกชน ซึ่งต้องการความมั่นใจว่าถ้ามาร่วมให้บริการแล้วจะได้รับเงินแน่ๆ ยิ่งต้องทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว

ที่ผ่านมาจนกระทั่งตอนนี้ (ในโรงพยาบาลที่ยังไม่ใช่พื้นที่นำร่อง) การเบิกจ่ายของหน่วยบริการจะมีการส่งข้อมูลกับ สปสช. เพื่อเบิกจ่ายอยู่แล้ว โดยใช้โปรแกรม E-claim ของ สปสช. ซึ่งหน่วยบริการจะคีย์ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับเบิกจ่าย เช่น การให้บริการดูแลรักษา “ส่ง” มาที่ สปสช. ผ่านระบบ API ตามที่โรงพยาบาลสะดวก

แต่ใน 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ประเทือง บอกว่า สปสช. ได้ปรับให้การส่งข้อมูลที่จำเป็นสำหรับเบิกจ่ายลดน้อยลง เอาเฉพาะที่จำเป็น แต่ยังคงมาตรฐานเหมือนเดิม รวมถึงทำให้เกิดการ “เชื่อม” ข้อมูลจริงๆ คือหน่วยบริการไม่ต้องคีย์ข้อมูลเบิกจ่ายอีกต่อไป ทุกอย่างเมื่อให้บริการจบยืนยันตัวตนหลังรับบริการแล้ว ข้อมูลการรับบริการจะถูกเชื่อมมาที่ สปสช. อัตโนมัติแบบเรียลไทม์เลย

“ในส่วนนี้ลดภาระงานของหน่วยบริการได้เยอะมาก เมื่อก่อนหน่วยบริการต้องใช้คนเยอะมากในการนำข้อมูลจากระบบ HIS ของโรงพยาบาลตัวเองเพื่อมาทำข้อมูลเบิกจ่ายกับ สปสช. ยิ่งโรงพยาบาลใหญ่ๆ ด้วยอาจใช้คนถึง 25 คน”

ดังนั้นด้วยการไหลมาของข้อมูลการเบิกจ่ายจากหน่วยบริการที่เร็วและมากขึ้นกว่าเดิม ประเทือง บอกว่า สปสช. จึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศที่เรียกได้ว่า “ยกเครื่อง” ใหม่ เริ่มจากการปรับระบบ API ให้สามารถรองรับการส่งข้อมูลได้มากขึ้น  

“ถ้าเปรียบเหมือนถนนเป็นท่อส่งข้อมูล สิ่งที่เราทำก็คือขยายจาก 4 เลน เป็น 8 เลน และแยกชัดเลยว่าฝั่งนี้สำหรับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ส่วนระบบสำหรับเจ้าหน้าที่ภายในแยกเป็นอีกส่วน” ประเทือง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

นอกจากนี้ เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลปริมาณมหาศาลต่อวัน สปสช. ยังทำระบบเชื่อมข้อมูลดังกล่าวสำรองไว้อีก 2 ระบบ สำหรับกรณีที่ระบบหลักมีปัญหาแล้วไม่สามารถใช้ได้ และคอยช่วยแบ่งเบาระบบหลักหากมีการส่งข้อมูลมากเกินไปในช่วงเวลาเร่งด่วนที่คนไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเยอะ 

รวมถึงการเช่าระบบคลาวด์ของภาคเอกชนด้วยอีกหนึ่งคลาวด์ เพื่อช่วยสนับสนุนระบบคลาวด์เดิมของ สปสช. ที่ใช้อยู่ ซึ่งได้มาจากคลาวด์กลางของภาครัฐ (GDCC) 

“จากเดิมที่ข้อมูลเข้ามาที่ สปสช. ที่เราเคยมอนิเตอร์คือ มีการทำธุรกรรมระหว่างหน่วยบริการทั่วประเทศกับ สปสช. คือวันละ 1 ล้านครั้ง แต่พอปรับระบบเป็นการเชื่อมข้อมูล ผมประเมินคือน่าจะเพิ่มอีกเท่าตัว คือ 2 ล้านครั้ง นั่นคือข้อมูลธุรกรรมที่จะไหลมาในแต่ละวันที่ สปสช.”

ที่สำคัญที่สุด ประเทือง กล่าวว่าคือการยกระดับระบบความปลอดทางไซเบอร์ (Cyber Security)  เป็นขั้นสูงสุด ถ้าอธิบายให้เป็นรูปธรรมก็คือ การเสริมกำแพงให้มี 5 ชั้น ถ้าจะมีใครเจาะเข้ามาก็ต้องผ่านทั้งหมดนี้ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาแค่ชั้นแรกก็โดนจัดการแล้ว แต่แน่นอนว่าที่ทำขนาดนี้เพราะอยากให้ทุกคนมั่นใจว่าข้อมูลที่มาที่ สปสช. ปลอดภัยแน่นอน 

ไม่เพียงเท่านั้นในด้านความปลอดภัย สปสช. ยังมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการด้านความปลอดภัยของข้อมูล (Cyber Security Operation Centre หรือ CSOC) ที่มีเจ้าหน้าที่เกือบ 15 คน จัดเวรเวียนกันคอยมอนิเตอร์ข้อมูลการเบิกจ่ายที่ถูกส่งมาที่ สปสช. ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูว่ามีความผิดปกติตรงจุดไหนหรือไม่อย่างไร เช่นเดียวกับศูนย์ข้อมูล (Data Center) หรือระบบคลาวด์โดยทั่วไป

ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า แม้ สปสช. จะมอนิเตอร์เพื่อนำข้อมูลไปบริหารจัดการเงินเป็นหลัก แต่หากข้อมูลการรับบริการที่ได้มาสามารถใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่นได้ด้วย สปสช. ก็พร้อมจะดำเนินการ เช่น ในกรณีที่พบว่ามีข้อมูลการเข้ารับบริการที่มีโอกาสเป็นการ Shopping Around จะมีการส่งสัญญาณไปยังโรงพยาบาลให้ระวัง และตรวจสอบให้ละเอียดยิ่งขึ้น 

ตลอดจนมีทำงานร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) เพื่อพัฒนาในเรื่องคุณภาพการให้บริการ เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ที่มีความเสี่ยงจะเป็น Shopping Around แล้วไม่ใช่ ก็แสดงว่าการที่ผู้ป่วยต้องไปรับการรักษาที่หน่วยบริการบ่อยๆ อาจมีปัญหาเรื่องคุณภาพของบริการ ซึ่ง สปสช. ก็จะส่งสัญญาณให้ สสจ. และ สสอ. เพื่อจะได้ลงไปกำกับติดตามได้ทันท่วงที

3

ความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบครั้งใหญ่

การพลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบข้อมูลเหล่านั้นของ สปสช. ยังได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเชิงระบบเบิกจ่ายอีกด้วย นั่นก็คือ สปสช. ปรับระบบเบิกจ่ายเป็นรูปแบบ Per visits พร้อมกับการโอนเงินให้หน่วยบริการภายใน 3 วัน ตามที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. ได้กล่าวรับปากที่ประชุมนัดแรกของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติไว้

ประเทือง อธิบายว่า สำหรับใน 3 วันนั้นสิ่งที่ สปสช. ทำคือเมื่อข้อมูลการเบิกจ่ายจากหน่วยบริการถูกส่งมาที่คลาวด์ของ สปสช. ธุรกรรมทุกรายการทั้งหมด 100% จะถูกนำไปประมวลผล และส่งไปสู่ฝ่ายตรวจสอบก่อนจ่ายที่จะทำงานวันต่อวัน จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตั้งฎีกาเบิกจ่ายส่งให้ผู้บริหารอนุมัติ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วก็ทำการโอนเงินไปให้หน่วยบริการเลย

“3 วันนั้นไม่ใช่ตัวเลขลอยๆ แต่คำนวณมาแล้ว และได้ทดลองเอาตัวเลข 72 ชั่วโมงตั้งเลยว่าแต่ละกระบวนการจะใช้กี่ชั่วโมง เพื่อแบ่งการรับผิดชอบให้ชัด”

ในขั้นตอนสุดท้าย สปสช. ยังให้หน่วยบริการสมัครเข้าร่วมไลน์สำหรับแจ้งเตือนของ สปสช. ที่เมื่อเงินโอนเข้าบัญชีหน่วยบริการแล้ว จะมีการแจ้งเตือนผ่านไลน์ทันที หน่วยบริการไม่ต้องไปนั่งเช็กอะไรทั้งสิ้น

“โดยสรุปคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุดของ สปสช. คือเราจ่ายเงินทุกวันยกเว้นวันเสาร์ - อาทิตย์ คำว่า 3 วันหรือ 72 ชั่วโมง คือมันเป็นรอบของมัน สมมติส่งมาวันนี้ อีก 3 วันได้รับ ส่งข้อมูลมาพรุ่งนี้ อีก 3 วันได้รับ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นระบบของเราต้องเชื่อมต่อกันแบบ Seamless (ไร้ร้อยต่อ) มากๆ ไม่งั้นเราจะไม่มีทางทำแบบนี้ได้เลย 

“เราทำงานเป็นวินาทีแล้วตอนนี้ เพื่อให้เงินมันจ่ายได้ทัน จากเดิมทำเดือนละครั้งครึ่งเดือนครั้ง ท่านเลขาฯ บางทีต้องอนุมัติเงินทีตอนกลางคืนเลยนะ เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเงินโอนเข้าบัญชีโรงพยาบาล”

“หลายคนบอกว่าเราโม้รึป่าว ของเขายังไม่ได้เลยภายใน 3 วัน ก็คงต้องบอกว่าที่หน่วยบริการอาจต้องเช็กว่าเพราะอินเตอร์เน็ตหน่วยบริการรึเปล่า หรือเซิฟเวอร์ หรือความเร็วของคอมพิวเตอร์ของเขารึเปล่า เพราะเรามีการมอนิเตอร์ระบบตลอด และตอนนี้ใช้เวลาไม่เกิน 1 วินาทีเท่านั้นที่จะสามารถเชื่อมข้อมูลเข้าสู่ระบบ สปสช. ได้”

ประเทือง กล่าวว่า ความท้าทายต่อไปของระบบเบิกจ่าย สปสช. คือจะทำให้กระบวนการตั้งแต่รับข้อมูลมาจนโอนเงินให้หน่วยบริการจบภายใน 24 ชั่วโมงได้ไหม หรือที่ท้าทายแบบสุดๆ เลยคือการทำให้มันเร็วเหมือนควักเงินสดให้เลย 

“เหล่านี้จะท้าทาย สปสช. แน่ๆ ในอนาคตไม่วันใดก็วันหนึ่ง ซึ่งถ้าถามว่ามีการเตรียมความพร้อมถึงขนาดนั้นไหม ถ้าในเชิงโครงสร้างของระบบข้อมูลสารสนเทศมีความพร้อม แต่สิ่งที่ต้องไปถามความพร้อมคือกระบวนการภายในในการเบิกจ่ายของ สปสช. ต่างหาก ซึ่งตอนนี้เราลดมาเหลือ 7 ขั้นตอนแล้วจากกว่า 10 ขั้นตอน ถ้าจะโอนให้เร็วกว่านี้ ขั้นตอนพวกนี้ก็ต้อง lean กว่านี้ หรืออีกทางนึงจะต้องใช้ระบบ AI มาช่วยเพราะไม่งั้นไม่มีทางเลยที่จะทำได้

“ไม่ใช่แค่ สปสช. อย่างเดียว แต่ฝั่งของโรงพยาบาลจะพร้อมไหม ถ้าไปสู่จุดนั้น เพราะถ้าทำได้จริง Work load ที่สุดน่าจะเป็นฝ่ายการเงิน เพราะต้องทำบัญชีโดยมีธุรกรรมที่เกิดขึ้นทุกวัน หรือกระทั่งทุกนาที”

เชื่อมข้อมูลไม่จำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มเดียว

จะเห็นได้ว่าการเชื่อมข้อมูลในฝั่ง “การให้บริการรักษา” ภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมข้อมูลสุขภาพมีอยู่ 2 แพลตฟอร์มหลักๆ คือ หมอพร้อม ของ สธ. ซึ่งมีแอปฯ ที่ใช้ชื่อเดียวกันเป็นสื่อกลางให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลทางสุขภาพส่วนของตนเอง (Personal Health Record หรือ PHR) เช่น ประวัติการรักษา และHealth link ของ ดีอีเอส ที่กำลังทำงานร่วมกับแอปฯ เป๋าตัง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางให้ประชาชนเช่นเดียวกับหมอพร้อม 

จึงอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าเมื่อไม่ได้เป็นแพลตฟอร์มเดียวทั้งประเทศจะเกิดปัญหาไหมในการเชื่อมข้อมูลไหม จะกระทบต่อการเบิกจ่ายรึเปล่า ในข้อสงสัยนี้ ประเทือง อธิบายว่า ไม่ว่าจะมีกี่แพลตฟอร์มก็สามารถเชื่อมกันโดยไม่มีปัญหา โดยเฉพาะกับ สปสช. ที่เป็นฝั่ง “การเบิกจ่าย” เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ 

“ประเทศไทยเราไม่ได้ล็อกว่าต้องเป็นแพลตฟอร์มเดียว โรงพยาบาลเองมีเป็น 1,000 แห่ง ระบบเก็บข้อมูลของโรงพยาบาลเองก็ไม่ได้ใช้แบบเดียวกัน แต่ถามว่ามันเชื่อมกันได้ไหม เทคโนโลยีตอนนี้ทำให้เชื่อมกันได้ แค่ต้องกำหนดมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน เตรียมเรื่องทรัพยากรหรือคลาวด์ และ Cyber Security

“ฝั่ง สปสช. นโยบายของท่านเลขาฯ คือเรายินดีเชื่อมกับทุกแพลตฟอร์มในการเชื่อมข้อมูล เพราะว่าการเชื่อมข้อมูลเหล่านี้ ทั้งประชาชน หน่วยบริการ เจ้าหน้าที่ และ สปสช. ทุกคนต่างได้ประโยชน์หมด

ประเทือง กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สปสช. ก็กำลังพยายามทำการเชื่อมระบบคลาวด์ของตนเองกับทั้ง หมอพร้อม และ Heath link โดยตรง เพราะในบางกรณี สปสช. ก็ต้องการข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเพื่อประกอบการเบิกจ่าย 

“สำหรับ สธ. แม้ สปสช. จะยังไม่ได้เชื่อมข้อมูลเข้ากับหมอพร้อมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาบางอย่าง แต่ส่วนที่เชื่อมกันแล้วก็มี คือเพื่อสนับสนุนการนัดหมายหาหมอสำหรับประชาชนบางคนที่มือถือเขาโทรเข้า-ออกได้อย่างเดียว เพราะ สปสช. เองมี สายด่วน สปสช. 1330 ที่เปิด 24 ชม. ซึ่งถ้าเชื่อมโยงข้อมูลข้อของหมอพร้อมเราก็จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากขึ้น อีกส่วนคือได้มีการเชื่อมกับศูนย์กลางด้านการเงินของโรงพยาบาลสังกัด สธ. หรือ Financial Data Hub (FDH) เรียบร้อยแล้ว

“ด้าน Health link เราก็กำลังทำงานร่วมกันในการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อประกอบการเบิกจ่ายกันอยู่ เพราะ กทม. เขาใช้ระบบนี้ และทาง ผู้ว่าฯ กทม. เขาจะไม่ได้รอรัฐบาลประกาศให้ กทม. เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่จะทำ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แล้วคอยเริ่ม แต่เขาจะทำก่อนเลย ซึ่งตอนนี้ในเชิงเทคนิคกำลังพูดคุยพิจารณากันอยู่ว่า 1 มี.ค. นี้ จะเริ่มบางส่วนใน กทม. ได้ไหม”

นี่คือการปฏิรูประบบข้อมูลสุขภาพระดับประเทศ

การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ครั้งนี้ ในสายตาของ ประเทือง เขามองเห็นว่านี่คือการปฏิรูประบบข้อมูลสุขภาพครั้งสำคัญของประเทศ โดยขยายความเพิ่มเติมว่า “เพราะเป็นการเชื่อมข้อมูลให้ข้อมูลทุกอย่างมันไหลไปโดยไร้รอยต่อมากที่สุด และจะเห็นว่าเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน และทำให้ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับบริการ หรือการเบิกจ่ายเปลี่ยนไปเร็วมาก”

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นใน สปสช. ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาแค่ 3 เดือน หลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ประกาศนโยบาย โดย เขา เผยว่า สปสช. ได้เริ่มเดินหน้าในเรื่องระบบข้อมูลมาก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 เพราะเป็นทิศทางที่ สปสช. มองเห็นว่าควรจะมุ่งไป ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้เสนอวิสัยทัศน์นี้ตอนที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกเลขาธิการที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการด้วย 

“ยกตัวอย่างเช่น ตอนนั้น (ต้นปี 2566) เราเริ่มเดินหน้าเรื่อง Cyber Security แล้ว รวมถึงการเช่าระบบคลาวด์ของเอกชนมาเพิ่ม พอมีนโยบายของทางรัฐบาลมา มันก็กลายเป็นสอดประสานกันพอดี เพราะไม่งั้นตอนที่เราจะขยายพื้นที่นำร่องไปเรื่อยๆ เราไม่มีทางทำทันถ้าไม่เตรียมล่วงหน้า เนื่องจากมันจะขยายแบบเร็วมากจนครบหมดทั่วประเทศ

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่างที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ล้วนมีต้นทุนค่าใช้จ่ายพอสมควร แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ส่วนระบบคลาวด์ที่เช่าของเอกชนก็ไม่ได้แพงมากถ้าเทียบกับการทำเซิฟเวอร์ขึ้นมาเอง แต่ก็จำเป็นต้องมีการพิจารณาค่าใช้จ่ายโดยรวมอย่างรัดกุม เพราะสิ่งหนึ่งที่อาจต้องคำนึงถึงก็คือค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงให้ระบบที่เกิดขึ้นดำเนินต่อไปได้ระยะยาวและยั่งยืน”

4

ประโยชน์เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย

ประเทือง อธิบายถึงประโยชน์ของการเชื่อมข้อมูลภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ว่า ในฝั่งของประชาชน คือ การทำให้ประชาชนสามารถรับรู้ประวัติการรักษาของตนเองได้ รวมถึงคุณภาพการให้บริการที่ประชาชนได้รับจะดีขึ้นด้วย เพราะเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษากันเรียบร้อยแล้ว เช่น ถ้าผู้ป่วยได้รับการส่งต่อรักษา จะไม่มีการให้ยาออกฤทธิ์คล้ายกันซ้ำกันจนทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะยาตีกัน

ในส่วนหน่วยบริการ บุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถเห็นประวัติข้อมูลของผู้ป่วย ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับผู้ป่วย ลดภาระงานเอกสารให้กับโรงพยาบาล เอื้อต่อการบริหารจัดการเงินของหน่วยบริการเกิดสภาพคล่องมากขึ้น ตลอดจนสามารถตรวจสอบการ Shopping Around ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง สธ. ก็ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น สามารถควบคุมและพัฒนาคุณภาพบริการของหน่วยบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเทือง กล่าวต่อไปว่า สปสช. ก็สามารถประเมินผลและกำกับติดตามได้ดีขึ้นด้วย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบหรือตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เพราะเดิมข้อมูลจะมาทุก 15 หรือ 30 วัน แต่ปัจจุบันมาทุกวัน ทำให้สามารถนำข้อมูลมาพิจารณาได้ว่าถ้าจะปรับเกณฑ์ หรือเงื่อนไขเบิกจ่ายควรจะเป็นไปอย่างไร เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับจะเพียงพอหรือไม่ อะไรต่างๆ 

“ผมคิดว่าภาพข้างหน้า ถ้าเชื่อมในลักษณะแบบนี้ ประโยชน์ของประเทศคือ เราจะมี Big data ของประเทศ ที่รัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้เลย เช่น ในเชิงเศรษฐกิจ สมมติภาคธุรกิจเขาเห็นแล้วว่าต่อไปคนไข้ สปสช. ใช้ยาพาราวันละ 1 ล้านเม็ด ถ้าบริษัทหรือนักลงทุนเห็นจำนวนการใช้ก็อาจจะไปตั้งโรงงานก็ได้ เพื่อพัฒนาให้ยามีคุณภาพและราคาถูกลง เราก็จะลดงบประมาณรายจ่ายของประเทศได้มากขึ้น เพราะเราซื้อยาถูกลง แล้วถามว่าเงินส่วนต่างจะเอาไปไหน สปสช. ก็สามารถเอาไปขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมโรคได้มากขึ้นอีก

“จะเห็นว่ามันเป็นวงจรประโยชน์ที่เกิดจากการแค่เชื่อมข้อมูลเพียงอย่างเดียว เพียงแต่ว่าจะเป็นมุมไหนในการใช้เท่านั้นเอง ผมเชื่อว่ามันมีหลายมิติมากที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เผลอๆ ข้อมูลก้อนนี้มีผลต่อหลายกระทรวงเลยด้วยซ้ำไป เพียงแต่ยืนคนละมุมคนละภารกิจเท่านั้น”

 ในตอนท้าย ประเทือง ฝากถึงหน่วยบริการถึงสิ่งที่ควรต้องเตรียมเพื่อให้ได้รับเงินรวดเร็วภายใน 3 วันว่า 1. การทำให้ข้อมูลการรับบริการของผู้ป่วยมีความถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด เพื่อให้ข้อมูลถูกเชื่อมมาที่ สปสช. และดำเนินการตรวจสอบต่อไปได้ เพราะถ้าข้อมูลมาไม่ครบไม่มีความสมบูรณ์ก็จะไม่สามารถเชื่อมมาได้ เช่น ลืมบันทึกข้อมูลการวินิจฉัยเข้าระบบ เป็นอาทิ จากที่บริการนั้นโรงพยาบาลจะได้รับเงินเร็วก็อาจจะช้าลง

2. โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการอาจต้องหาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบันทึกข้อมูลสุขภาพแต่ละส่วนแบบอัตโนมัติ เพื่อทำให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์และลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการบันทึกโดยใช้เจ้าหน้าที่ เช่น เครื่องวัดน้ำหนักและส่วนสูงอิเล็กทรอนิกส์ที่แค่เสียบบัตรประชาชน จากนั้นผู้ป่วยขึ้นไปยืนบนเครื่อง ข้อมูลที่ได้จะเชื่อมเข้าสู่ระบบ HIS ของโรงพยาบาลอัตโนมัติ หรือเครื่องมือที่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ (IOT) เพื่อส่งข้อมูลไปยังโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ 

3. โรงพยาบาลอาจต้องสื่อสารและให้คำแนะนำกับประชาชนว่ากลุ่มโรคแบบไหนที่สามารถไปรับบริการที่หน่วยนวัตกรรมสาธารณสุขวิถีใหม่ที่ สปสช. เพิ่มเข้ามาในระบบได้ ไม่ว่าจะเป็น ร้านยา คลินิกเวชกรรม ฯลฯ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชน และเป็นการจัดกลุ่มโรคได้ชัดว่าผู้ป่วยกลุ่มโรคไหนที่จำเป็นต้องมารับบริการที่โรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยลดความแออัดภายในโรงพยาบาลไปได้อีกมาก

“ผมคิดว่าดีที่สุดคือ เมื่อบริการเสร็จให้ข้อมูลสมบูรณ์ด้วย ไม่ต้องมีคนมานั่งตรวจสอบและบันทึกข้อมูลทีหลัง อันนั้นเป็นภาระกับหน่วยบริการแน่นอน แล้วคนที่มาบันทึกทีหลังก็อาจไม่รู้ด้วยเหตุการณ์ตอนตรวจวินิจฉัยเป็นยังไง เกิดบันทึกผิดอีกจะยิ่งทำให้ช้า”