ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอมานพ’ เผย ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ช่วยคนเข้าถึงบริการ-รพ.ส่งต่อง่ายขึ้น เชื่อ แม้ขยายโครงการไปทั่วประเทศ แต่คนไม่ไหลไป รพ.มหา’ลัย ส่วนระบบเชื่อมข้อมูลที่มีหลายแพลตฟอร์ม ท้ายสุดการตอบโจทย์ต่อนโยบาย-กลไกตลาดจะคัดเลือกเองว่าจะระบบไหนจะเหมาะที่สุด


ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หากมีการเชื่อมข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ใช้ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) เดียวกันหมดได้ดี จะทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มักย้ายถิ่นฐานทำงานแบบข้ามจังหวัดสามารถรับบริการได้สะดวกมากขึ้น

เนื่องจากเดิมที่เมื่อคนกลุ่มนี้เจ็บป่วยมักเจอกับปัญหาเรื่องการเข้าถึงการรักษาที่ผูกติดกับหน่วยบริการประจำตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน ทำให้ต้องใช้เวลาไปกับการทำเรื่องส่งข้อมูลการรักษาเดิม หรือย้ายหน่วยบริการ ฯลฯ นอกจากนี้ประโยชน์ของการเชื่อมข้อมูลภายใต้นโยบายนี้ยังเอื้อให้ทางโรงพยาบาลสามารถส่งต่อรักษาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย 

“ที่ผ่านมาข้อมูลเดิมของผู้ป่วยเวลาทำเรื่องส่งต่อแบบข้ามพื้นที่จะต้องใช้การเขียนอย่างเดียว หรือคนไข้ต้องบอกข้อมูลของตัวเองได้ ซึ่งบางทีลำบาก เพราะหลังๆ พอเป็นโรคซับซ้อนที่ต้องมีการส่งต่อ ข้อมูลของโรค อาการหรือสุขภาพที่มีค่อนข้างเยอะการจะสรุปข้อมูลทั้งหมดเลยไม่ใช่เรื่องง่าย” ศ.นพ.มานพ ระบุ

หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราชฯ กล่าวต่อไปว่า ฉะนั้นคาดว่าปี 2567 นี้ มีโอกาสสูงที่นโยบายนี้จะขยายครอบคลุมไปทั่วประเทศ แต่อาจจำกัดเฉพาะของสถานพยาบาลสังกัด สธ. และคลินิกเอกชนอื่นๆ ที่เข้าร่วม เพราะด้วยข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของ สธ. มันเชื่อมกันอยู่แล้วด้วยฐานข้อมูลเดียว ซึ่งในทางปฏิบัติเอื้อให้ทำได้ง่ายกว่าจะขยายไปโรงพยาบาลในสังกัดอื่น 

ทั้งนี้ ยังเชื่ออีกว่า 30 บาทรักษาทุกที่อาจไม่ทำให้คนไปโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยมากขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ในระยะสั้น เพราะระบบข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลเหล่านี้ไม่ได้เชื่อมกับ สธ. ส่วนในอนาคตหากเชื่อมข้อมูลทุกอย่างได้แล้ว พร้อมกับขยายไปทั่วประเทศก็ยังมองว่าผู้ป่วยไม่น่าเพิ่มขึ้นที่โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีโอกาสเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องปกติที่คนจะมองหาความพร้อมและศักยภาพของโรงพยาบาลใหญ่ไว้ก่อนในกรณีที่เป็นโรคซับซ้อน

กระนั้น ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่อาจไม่ซับซ้อนมากจะมีการชั่งน้ำหนักเหตุผลต่างๆ ในการตัดสินใจไปรับบริการอยู่ เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคความดัน อาศัยอยู่ที่ จ.อุดรธานี อยากใช้บริการที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งต้องเสียค่าเดินทางเยอะ และอาจต้องเข้าใจด้วยว่าปริมาณผู้ป่วยที่รอรับบริการเหมือนกันค่อนข้างเยอะ ทำให้ต้องรอคิว หรือต้องออกใบนัด ขณะที่โรงพยาบาลอื่นๆ ก็สามารถรักษาโรคดังกล่าวได้เหมือนกัน เขาก็อาจเลือกไปที่ใกล้ที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ทาง สธ. ก็พยายามพัฒนาระบบเชื่อมข้อมูลกลางอย่างระหว่างสถานพยาบาลทุกสังกัดอยู่ หรือก็คือ ระบบหมอพร้อม ที่มีการเชื่อมข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีกระบวนการยืนยันตัวตนจากประชาชนหรือผู้ใช้ เพื่อความแน่ใจว่าโทรศัพท์ที่ใช้เป็นเจ้าของข้อมูลจริง และยินยอมที่จะให้ข้อมูลของเขาเข้าสู่ฐานข้อมูล

“แต่เหล่านี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความยินยอมของหน่วยบริการด้วยเช่นกันในการเชื่อมข้อมูลเข้ากับระบบของ สธ. ซึ่งถ้าบางแห่งไม่ได้จะใช้หมอพร้อม การที่คนไข้ไปใช้บริการข้อมูลก็อาจไม่ได้ถูกส่งต่อมา และก็อาจทำให้คำว่าไปที่ไหนก็ได้ยังไม่เกิดขึ้นทั้งหมด จึงต้องเป็นความยินยอมพร้อมใจกันทุกฝ่ายในการจะบูรณาการข้อมูลกันผ่านระบบหมอพร้อม เพราะหมอพร้อมจะช่วยให้คนไข้สะดวกขึ้น เสมือนถือใบส่งตัวแต่อยู่ในมือถือเรียบร้อยแล้ว” หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราชฯ กล่าว 

ศ.นพ.มานพ ระบุอีกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันแพลตฟอร์มเชื่อมข้อมูลด้านสาธารณสุขในไทยตอนนี้มีหลากหลายมาก เช่น Health link หมอพร้อม ฯลฯ ซึ่งสิ่งนี้อาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน แต่ก็คงขึ้นอยู่กับว่าระบบไหนจะตอบโจทย์มากกว่ากัน เพราะต้องเข้าใจด้วยว่าระบบเชื่อมข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทภายใต้ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ มีจุดประสงค์การเกิดขึ้นต่างกัน เช่น ระบบหมอพร้อม ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ แต่ด้วยจุดนั้นก็ทำให้เป็นระบบที่คนทั้งประเทศเข้าถึงเยอะที่สุด ซึ่งเวลาต่อยอดจึงง่ายกว่าระบบเชื่อมข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้

“จำเป็นต้องมีกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามแพลตฟอร์มเชื่อมข้อมูลเหล่านี้ แม้อาจจะดูว่าทำได้ยาก แต่ก็ต้องเดินหน้าไปก่อน เพราะท้ายที่สุดถึงไม่มีกระบวนการเหล่านั้นกลไกตลาดจะคัดเลือกเองว่าระบบไหนจะอยู่ ซึ่งอาจจะเหลือแค่หนึ่งหรือสองเท่านั้น

“ไม่ว่าจะวางแผนกันไว้ดีแค่ไหน แต่พอถึงเวลาใช้จริงก็เจอปัญหาที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นเสมอเป็นเรื่องปกติ เช่น บุคลากรทางการแพทย์หน้างานไม่คุ้นชิน เพราะไม่เคยทำมาก่อน ข้อมูลที่คิดว่าจะเชื่อมข้อมูลกันอาจไม่ได้เชื่อมกัน ฯลฯ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือดำเนินการไปก่อนผ่านกระบวนการนำร่อง แล้วถ้าเจอปัญหาก็จำเป็นบทเรียนแล้วค่อยแก้ หรือพัฒนากันไป ซึ่งจะทำให้การขยายไปพื้นที่อื่นๆ หลังจากนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ศ.นพ.มานพ กล่าวทิ้งท้าย