สปสช. จับมือ ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข เปิดการอบรมพัฒนาศักยภาพ คนทำงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิในระบบบัตรทอง 22 จังหวัด ช่วยคุ้มครองสิทธิผู้รับบริการเพื่อระงับความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง รวมไปถึงการมุ่งเสริมการทำงานร่วมกันของเครือข่ายประชาชน หน่วยบริการ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ที่จะช่วยกันพัฒนาระบบบริการไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ
เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรการบริหารจัดการความขัดแย้งและความเสี่ยงในระบบสาธารณสุข” ระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 29 – 31 มกราคม 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) จับมือจัดอบรมพัฒนาศักยภาพทักษะการจัดการความขัดแย้ง โดยมีคนทำงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นภาคประชาชนและหน่วยบริการ จำนวน 114 คน จาก 22 จังหวัด เข้าร่วมรับการอบรมในครั้งนี้ ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ แจ้งวัฒนะ นนทบุรี
รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งในระบบคุ้มครองสิทธิดังกล่าวประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งนี้ขยายความรุนแรงจนกระทบเป็นวงกว้าง จำเป็นต้องมีกลไกบริหารจัดการความขัดแย้งนี้ โดยผู้ที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการความขัดแย้ง ในการอบรมจะเน้นเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจธรรมชาติของความขัดแย้ง เพิ่มทักษะการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์ให้แก่ผู้รับผิดชอบงานรับเรื่องร้องเรียน ได้แก่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองที่เป็นคนทำงานในชุมชนและผู้แทนจากาหน่วยบริการ รวมทั้งสร้างความร่วมมือพร้อมเชื่อมโยงกลไกรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิในจังหวัดและพื้นที่ ในการบริหารจัดการปัญหาร้องเรียนในพื้นที่แบบเครือข่ายหรือคณะทำงานจังหวัดสู่การพัฒนาคุณภาพบริการในพื้นที่ร่วมกัน
“ครั้งนี้เป็นการอบรมฯ รุ่นที่ 1 ในปีนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมเป็นคนทำงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจากพื้นที่ สปสช. เขต 3 นครสวรรค์, เขต 4 สระบุรี, เขต 5 ราชบุรี, เขต 6 ระยอง, เขต 13 กรุงเทพมหานคร รวม 22 จังหวัด รูปแบบการอบรมแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การอบรมออนไซต์จัดขึ้น 3 วันนี้ มีกิจกรรม Work shop ที่เข้มข้นและนำไปใช้ได้จริง และระยะที่ 2 การอบรมออนไลน์ ที่เป็นการติดตามผลการทำงานร่วมกันผ่านเครือข่ายในแต่ละจังหวัดภายหลังการอบรมแล้ว” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์เฝ้าระวังความขัดแย้งทางการแพทย์ในประเทศไทย ปี 2566 โดยศูนย์สันติวิธีสาธารณสุขได้เฝ้าระวังความขัดแย้งทางการแพทย์ 42 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้ 33 เหตุการณ์ หรือร้อยละ 79 จบลงได้โดยไม่มีการฟ้องร้องต่อ และอีก 9 เหตุการณ์หรือร้อยละ 21 อยู่ระหว่างติดตาม ซึ่งสาเหตุของความขัดแย้งมากที่สุด คือการติดใจขั้นตอนการรักษาและการให้บริการร้อยละ 28.2 รองลงมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 15.4 สำหรับวิธีในการยุติความขัดแย้งฯ นั้น เป็นการเจรจาไกล่เกลี่ยและชดเชย มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มากที่สุด ร้อยละ 57.6 และรองลงมาเป็นวิธีเจรจาไกล่เกลี่ยโดยไม่ได้ชดเชย ร้อยละ 30.3
“การติดใจในขั้นตอนของการรักษาและการให้บริการเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมากที่สุด เช่น พูดจาไม่ดี ไม่ได้รับข้อมูลการรักษา เป็นต้น ดังนั้นการพูดจาที่เป็นมิตร การรีบให้การดูแลผู้ป่วย การรักษาตามขั้นตอนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ลดความขัดแย้งได้”
นพ.สุริยะ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น ต้องเข้าใจธรรมชาติความขัดแย้ง ความขัดแย้งไม่ใช่ความรุนแรง แต่เปลี่ยนเป็นความรุนแรงได้หากไม่เข้าใจ ความขัดแย้งไม่มีฝ่ายถูกหรือผิด ทั้งยังขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ดีได้แต่ต้องมีวิธีบริหารจัดการ มีการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยคนกลางที่เป็นที่ยอมรับและไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมมีกลไกเยียวยารองรับทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ เน้นการช่วยเหลือที่รวดเร็ว บรรเทาความเดือนร้อน ลดความขัดแเย้ง ความสมานฉันท์ และไม่พิสูจน์ถูกผิด โดยในส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยในสถานบริการสาธารณสุข ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่งเพื่อทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ย โดยผู้มีทักษะประสบการณ์และผ่านการอบรมของศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พร้อมมีการจัดตั้งทีมเคลื่อนที่เร็ว RRT (Rapid Response Team) ซึ่งการอบรมครั้งนี้จะเป็นการสร้างองค์ความรู้และเชื่อมต่อเครือข่ายในการบริหารจัดการความขัดแย้งในระบบสาธารณสุข
นายศุภณัฐ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขเอง มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และไม่มีที่ไหนที่ไม่มีความขัดแย้ง แต่สำคัญคือเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะจัดการอย่างไร ซึ่งหลักสูตรการอบรมฯ นี้ นอกจากการรับรู้ถึงมุมมองในเรื่องความขัดแย้งที่มองเป็นเรื่องปกติ เกิดความรู้และความเข้าใจในความขัดแย้งแล้ว ผู้รับการอบรมยังสามารถนำเครื่องมือและวิธีการที่ได้จากการอบรม ไปใช้ในการจัดการความขัดแย้งได้ ซึ่งวันนี้มีผู้เข้าอบรมที่มาจากจังหวัดต่างๆ ก็จะที่ได้เรียนรู้และนำไปขยายต่อในพื้นที่ต่อไป
“สิ่งแรกคือถ้าเรามีความรู้เรื่องความขัดแย้ง บวกกับทักษะและความสามารถจะเกิดขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ เจตคติภายในตัวเราที่มองความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติและใช้สันติวิธี ไม่ใช่อารมณ์เหนือเหตุผล ซึ่งการเปลี่ยนเจตคติเป็นเรื่องสำคัญมาก หากเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราก็จะจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีแบบเดิมๆ แต่หากเรามีความรู้ บวกทักษะ เจตคติและความมุ่งมั่นแล้ว ก็จะนำวิธีการบริหารจัดการความขัดแย้งที่ถูกต้องที่เป็นสันติวิธีไปแก้ปัญหาได้”
นายศุภณัฐ กล่าวต่อว่า หลังผ่านการอบรมแล้ว ผู้รับการอบรมจะต้องนำวิธีบริหารจัดการที่ได้เรียนรู้นี้ไปประยุกต์ใช้และทำซ้ำ เพื่อให้เกิดทักษะและประสบการณ์ และกลับมาทบทวนใหม่ และคาดหวัดให้นำทักษะนี้ไปวิเคราะห์ปัญหาเชิงระบบเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาซ้ำต่อไป
- 356 views