ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กต. สธ. สปสช. จัดอบรมหลักสูตรนานาชาติ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยสู่การปฏิบัติที่ได้ผลจริง” (Thai Universal Health Coverage in Actions) ผู้เข้าร่วมจาก 21 ประเทศทั่วโลก เผยเป็นบทบาทของไทยร่วมขับเคลื่อนให้นานาประเทศบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อประชาชน

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ที่ โรงแรมทีเค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนา กทม. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยสู่การปฏิบัติที่ได้ผลจริง (Thai Universal Health Coverage in Actions) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข โดยสํานักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. โดยมีผู้เข้ารับการอบรม 45 คนจาก 21 ประเทศ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การจัดอบรมหลักสูตรนานาชาติครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนที่ประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทเพื่อให้นานาประเทศตระหนักและร่วมผลักดันให้บรรลุตามเป้าหมายความสำเร็จของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งไทยนั้นได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศและนานาชาติให้เป็นต้นแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนาได้ ซึ่งเราทำสำเร็จตั้งแต่ปี 2545 หรือกว่า 17 ปีมาแล้ว ที่ผ่านมาไทยเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับหลายประเทศที่สนใจเพื่อปรับใช้กับประเทศของตน เมื่อเร็วๆ นี้ก็คือสาธารณรัฐเคนยา ที่ประกาศว่าจะใช้โมเดลของไทยขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า การอบรมครั้งนี้มีขึ้น 10 วัน ระหว่างวันที่ 19-30 สิงหาคม 2562 ผู้เข้ารับการอบรมจาก 21 ประเทศทั่วโลก จะเรียนรู้ความเป็นมาของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย, การบริหารจัดการด้านการเงินการคลังระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขและกำลังคนสุขภาพ, ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการหลักประกันสุขภาพ, คุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข, การตรวจสอบและเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์, การจัดการด้านคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และการคุ้มครองสิทธิประชาชน รวมถึงการลงพื้นที่โรงพยาบาลไทรน้อย จ.นนทบุรี เพื่อเรียนรู้สถานการณ์จริง ทั้งการให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลผู้ป่วย และการศึกษาดูงานที่ สปสช., สสส. และ สรพ.

ผู้เข้ารับการอบรมสนใจสอบถามในประเด็น จำนวนโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สัดส่วนโรงพยาบาลในเขตเมืองและชนบท, สัดส่วนโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชน, จำนวนการกระจายตัวของบุคลากรทางการแพทย์, การบริหารจัดการงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บทบาทการทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล และ สปสช., คุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข, การส่งเสริมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในโรคต่างๆ และการตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าชดเชยทางการแพทย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ 21 ประเทศที่เข้าร่วม ได้แก่ 1.ราชอาณาจักรภูฏาน 2.ราชอาณาจักรกัมพูชา 3.สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ 4.สาธารณรัฐกินี-บิสเซา 5.สาธารณรัฐอินเดีย 6.สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน 7.ญี่ปุ่น 8.สาธารณรัฐเคนยา 9.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 10.สาธารณรัฐมัลดีฟส์ 11.สาธารณรัฐมอริเชียส 12.สาธารณรัฐมอนเตเนโกร 13.ราชอาณาจักรโมร็อกโก 14.สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย 15.สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน 16.สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 17.รัฐเอกราชซามัว 18.สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา 19.สาธารณรัฐยูกันดา 20.สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และ 21.สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา