ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คิกออฟ ‘บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่’ ส่งผลคึกคัก สภาเทคนิคการแพทย์ชี้มีคลินิกห้องแลปอีก 200 แห่ง จ่อคิวขอขึ้นทะเบียนร่วมโครงการ


ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า หลังการเปิดตัวโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ทั้ง 4 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส ซึ่งมีคลินิกเทคนิคการแพทย์ ที่เป็นหน่วยบริการในส่วนของภาคเอกชนเข้าร่วมทุกพื้นที่จำนวนกว่า 20 แห่ง และเพียงพอต่อการให้บริการประชาชนทั้ง 4 จังหวัด

นอกจากนี้ ยังมีคลินิกเทคนิคการแพทย์อีกกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ แจ้งความประสงค์มายังสภาฯ เพื่อขอรับการประเมินความพร้อมการให้บริการ สำหรับเตรียมพร้อมขึ้นเป็นหน่วยบริการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อจะได้เข้าร่วมโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เพราะภายในเดือนมี.ค.2567 นี้ จะมีการขยายพื้นที่การบริการออกไปอีก 8 จังหวัด

"ปัจจุบันเรามีคลินิกเทคนิคการแพทย์ทั่วประเทศราว 800 แห่ง ในจำนวนนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการร่วมของ สปสช. จากโครงการเดิมที่เราเคยทำร่วมกันมาคือ Lab Anywhere ที่ให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองไปตรวจห้องแลปที่คลินิกฯ ได้อีกกว่าร้อยแห่ง และบางส่วนอยู่ในพื้นที่นำร่องทั้ง 4 จังหวัด ก็เข้าร่วมเป็นโครงการบัตรประชาชนใบเดียวได้เลย" ทนพ.สมชัย กล่าวย้ำ

ทนพ.สมชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะให้บริการ 2 รูปแบบ คือ 1. บริการตรวจทางห้องแลป กรณีผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลและต้องส่งตรวจ ก็จะมีการแจ้งผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิกเทคนิคทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลจะส่งข้อมูลผู้ป่วยมายังคลินิกฯ ผ่านระบบที่เชื่อมโยงกัน เมื่อตรวจเสร็จแล้ว คลินิกฯ ก็จะส่งผลตรวจกลับไปที่โรงพยาบาลเพื่อแจ้งผู้ป่วยและรักษาในขั้นตอนต่อไป และ 2. บริการตรวจทางห้องแลปสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่าง หรือเจาะเลือดผู้ป่วยที่เคลื่อนย้ายได้ลำบาก

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่นำร่องทั้ง 4 จังหวัด คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ จะใช้ระบบการส่งต่อข้อมูลผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมเพื่อเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล และหน่วยบริการอื่นๆ ในพื้นที่เพื่อให้บริการร่วมกัน ซึ่งคลินิกฯ ที่เข้าร่วมหลังจากรับรองเป็นหน่วยบริการร่วมแล้ว ก็ต้องลงทะเบียนหน่วยบริการผ่านแอปฯ หมอพร้อม เพื่อจะได้สถานะเป็น 'หมอพร้อม Station' ที่จะเป็นระบบการส่งต่อข้อมูล ทั้งการส่งใบส่งตรวจทางห้องแลป การแจ้งผลตรวจกลับไปยังโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่งเป็นระบบที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมการขับเคลื่อนโครงการนี้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ไร้รอยต่อในการบริการต่อประชาชน

1

"หมอที่โรงพยาบาลก็สามารถสั่งตรวจแลปผ่านระบบหมอพร้อม และระบบจะแสดงใบสั่งตรวจให้คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมได้เห็น พร้อมกับข้อมูลของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยมายืนยันตัวที่คลินิกฯ โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว ก็จะตรงกับใบสั่งตรวจของหมอที่อยู่ในระบบ นักเทคนิคการแพทย์ก็จะให้บริการ เมื่อตรวจเสร็จและได้ผลแล้ว ก็จะส่งผลกลับไปยังหมอที่โรงพยาบาลผ่านระบบนี้ ทำให้การทำงานร่วมกันมันมีประสิทธิภาพมากขึ้น" นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวย้ำ

ทนพ.สมชัย กล่าวด้วยว่า โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ หากจะทำให้ระบบเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหน่วยบริการอย่างคลินิกเทคนิคการแพทย์ ในฐานะภาคเอกชนที่เข้าร่วมด้วยนั้น จะต้องเป็นการทำงานที่หนุนเสริมระหว่างกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ต้องกระจายภาระงานการตรวจทางห้องแลปมาให้กับคลินิกฯ ได้ช่วยแบ่งเบา เพราะคลินิกฯ ที่เข้าร่วมจะให้บริการกับประชาชนไม่ได้ หากไม่มีใบสั่งตรวจจากโรงพยาบาล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งอาจกังวลว่าหากส่งผู้ป่วยไปตรวจห้องแลปของคลินิกฯ อาจทำให้ สปสช. ตัดเงินงบประมาณการให้บริการในส่วนนี้ของโรงพยาบาลออกไป แต่ในควาจริงแล้วไม่ใช่ เพราะ สปสช. มีงบประมาณสำหรับจ่ายค่าบริการให้กับคลินิกฯ ที่เป็นหน่วยบริการร่วมโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เกี่ยวกับงบประมาณที่ให้กับโรงพยาบาล

นอกจากนี้ สภาเทคนิคการแพทย์ ยังได้มีแนวปฏิบัติ รวมถึงอบรมเพิ่มเติมความรู้ที่จำเป็นในการดูแลสุขภาพ ให้กับนักเทคนิคการแพทย์ที่มีทั้งหน่วยบริการ หรือปฏิบัติงานอยู่ในสถานพยาบาล ที่นอกจากปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้ส่งต่อความรู้ด้านสุขภาพที่ดีต่อประชาชนที่มารับบริการ โดยเฉพาะกับกรณีที่ผู้ป่วยร้องขอการให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลตรวจว่าจะมีความเสี่ยงอย่างไรต่อร่างกาย

"ปัจจุบันนักเทคนิคการแพทย์ รวมถึงคลินิกเทคนิคการแพทย์เอง ก็สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพกับประชาชน เช่น ผลตรวจที่ออกมาจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณา ประเมินและตัดสินใจในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยโรคเหมือนกับหมอ" นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวตอนท้าย