ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘นพ.สุรพงษ์’ ระบุ หน่วยบริการสามารถใช้ระบบใดก็ได้ส่งข้อมูล เพราะหลังบ้านเชื่อมต่อกันหมด ขณะที่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ ชวนประชาชนใช้ ‘หมอพร้อม’ เพื่อความสะดวกในการรับบริการ 30 บาทรักษาทุกที่


นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี คณะกรรมยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ที่จริงแล้วการเชื่อมต่อข้อมูลโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ พื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดนั้น หน่วยบริการสามารถส่งข้อมูลผ่านระบบหรือแอปพลิเคชันใดก็ได้ ที่หน่วยบริการเห็นว่ามีความพร้อม เพราะข้อมูลการให้บริการไม่ว่าจะมาจากช่องทางใด ก็จะมาสู่จุดเดียวกันทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลเองไม่ได้มองว่าจะต้องใช้ระบบใดระบบเดียว เพราะต้องการให้ประชาชนที่ไปรับบริการได้ประโยชน์มากที่สุด และให้ได้ข้อมูลที่พร้อมเอาไปใช้งาน หรือใช้ประโยชน์ได้ทันที 

นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ศูนย์กลางข้อมูลจะต้องเชื่อมโยงกันได้ทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันก็ออกแบบให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลในระดับใดได้บ้าง ซึ่งในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด หน่วยบริการทั้งของรัฐ เอกชน จากทุกสังกัดในแต่ละพื้นที่ ก็เชื่อมข้อมูลกันหมดแล้ว 

ทั้งนี้ ในส่วนระบบการจ่ายชดเชยค่าบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะรับผิดชอบจ่ายเงิน และออกแบบกระบวนการจ่ายให้กับหน่วยบริการ โดยเมื่อหน่วยบริการให้บริการไปแล้ว ก็จะบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบ สปสช. ก็รับข้อมูลนั้น และจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการ 

นพ.สุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างมาก ทำให้รัฐบาลออกแบบการให้บริการสุขภาพแบบนี้ได้ ซึ่งแตกต่างจากเดิม ที่โรงพยาบาลของรัฐ ทำหน้าที่เหมือนกับบริษัทประกัน ที่ดูแลประชากรในพื้นที่ประมาณ 5 หมื่น  - 1 แสนคน โดยมี สปสช.เป็นคนจ่ายเงินค่าดูแลประชาชนให้ ซึ่งทำให้โรงพยาบาลบางส่วนกังวล แต่ด้วยระบบนี้ จะทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องทำหน้าที่เหมือนบริษัทประกันแล้ว เพราะ สปสช. จะเป็นเหมือนกับบริษัทประกันขนาดใหญ่ ที่ดูแลประชาชน 48 ล้านคน ทำให้โรงพยาบาล มีหน้าที่รักษาอย่างเดียว แล้วบันทึกข้อมูล สปสช.ก็ตามจ่ายเงิน ซึ่งทำให้ตัดปัญหาเรื่องโรงพยาบาลขาดทุนออกไปได้ 

“เมื่อ 22 ปีก่อน ตอนเริ่มโครงการบัตรทอง 30 บาท เราก็เห็นเหมือนกันว่า โรงพยาบาลเอกชนก็ทำได้ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลกันกับบริษัทประกัน ทำให้คนไข้ที่มีประกันก็เข้าได้ทุกโรงพยาบาล แต่เขาดูแลคนไข้กลุ่มน้อย อาจจะหลักหมื่นคน แต่เราต้องดูแลคนหลายสิบล้านคน ก็ทำแบบเขาไม่ได้เพราะเทคโนโลยีไปไม่ถึง แต่มาถึงวันนี้ที่เราทำได้ และนำร่องไป 4 จังหวัด นั่นเพราะเรามีเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงข้อมูลกันได้หมดแล้ว” นพ.สุรพงษ์ กล่าว

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 ภายหลังเยี่ยมชมการดำเนินการ “วันแรก” ตามนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ที่ จ.ร้อยเอ็ด ตอนหนึ่งว่า นโยบายนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก เพราะเป็นนโยบายที่ต่อยอดมาจากนโยบายสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อ 22 ปีก่อน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่านโยบายที่ดีสามารถทำให้ชีวิตของประชาชนมีความกินดีอยู่ดีขึ้นได้จริงๆ

"นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเรามีมา 22 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยพรรครักไทยรักไทย คนก็ยังใช้อยู่ แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ต้องการปรับให้สามารถใช้ให้ดีขึ้นโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนให้การเก็บข้อมูลรวบรวมข้อมูลเป็นระบบมากขึ้น สมควรแก่เวลาที่จะปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องบางอย่าง ทำให้ดีขึ้น ทำให้ประชาชนสะดวกต่อการใช้มากขึ้น ต้องยกระดับให้ดีที่สุด" น.ส.แพทองธาร กล่าว

น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า นโยบายนี้ให้ความสำคัญกับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการ มีระบบป้องกันข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ ผู้รับบริการต้องยินยอมก่อน ทางผู้ให้บริการจึงจะเข้าถึงข้อมูลได้ เช่น มีระบบ OTP ให้กดยอมรับ ฯลฯ รวมถึงมีระบบ “ปิดสิทธิ” หลังเข้ารับบริการ ซึ่งจะช่วยให้ระบบมีความปลอดภัยและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยประชาชนสามารถใช้แอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ เพื่อความสะดวกสบายในการรับบริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

ทางด้าน พญ.วรรณรัตน์ อัตถากร เจ้าของสหคลินิกบ้านคุณหมอร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด หนึ่งในหน่วยบริการภายใต้นวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ กล่าวกับ ‘The Coverage’ ว่า คลินิกบ้านคุณหมอร้อยเอ็ด เป็นสหคลินิก ให้บริการ 3 ด้าน คือ 1. คลินิกตา บริการตรวจตา ผ่าตัดเล็ก 2. คลินิกสูตนิรีเวช บริการฝากครรภ์ ส่งเสริมการมีบุตร และคุมกำเนิด และ 3.คลินิกทันตกรรม บริการอุด ถอน ทำฟันปลอม และเอ็กซเรย์ช่องปาก ด้วยความที่เป็นสหคลินิกเวชกรรม ก็สามารถให้บริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย 

ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการกับคลินิกมากขึ้น เพราะเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการเข้าถึงบริการ ที่เป็นรูปแบบใหม่ ทำให้ประชาชนไม่ต้องไปที่โรงพยาบาลเหมือนเดิม แต่สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ และยังพบแพทย์ได้เร็วขึ้น รวมถึงสามารถนัดหมายวันและเวลาการพบแพทย์ผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ทราบว่าขณะนี้มีคลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกแพทย์แผนไทย รวมถึงคลินิกเทคนิคการแพทย์ ที่ให้บริการเจาะเลือด ตรวจแล็บ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของภาคเอกชน ก็ทยอยเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นหน่วยบริการในโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่มากขึ้นเรื่อยๆ 

"เชื่อว่า คลินิกเวชกรรม รวมถึงคลินิกต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ จะทำให้ประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น เพราะสะดวก และที่สำคัญคือไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ในส่วนคนไข้หนัก หรือคนไข้ที่มีอาการซับซ้อน และต้องรับการทำหัตถการ ส่วนนี้ก็ยังคงต้องไปโรงพยาบาล" พญ.วรรณรัตน์ กล่าว