ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เป้าหมายการทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย นอกเหนือจากนโยบาย บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ที่ให้สิทธิประชาชนเข้ารับบริการที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลภาครัฐทั้งในและนอกสังกัด สธ. หรือเอกชน ซึ่งได้เริ่มนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส แล้ว

จิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่หากไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นโยบายดังกล่าวจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลยก็คือ “การเชื่อมข้อมูล” ให้เป็นภาพเดียวกันทั้งประเทศ 

กล่าวให้เข้าใจง่าย สิ่งนี้จะทำให้ไม่ว่าคุณจะเข้ารับบริการที่ไหน แพทย์จะสามารถเห็นข้อมูลการรักษาของคุณได้ตั้งแต่ประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา ตลอดจนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ฯลฯ ผ่านบัตรสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 5.4 ซม. ยาว 8.6 ซม. ที่ใช้ยืนยันตัวตนคุณได้ โดยไม่ต้องเตรียมเอกสารหรืออะไรให้ยุ่งยากอีกต่อไป

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาล สถานีอนามัยฯ คลินิก ร้านยา ฯลฯ ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการให้บริการ “ฉุกเฉิน” ซึ่งทุกนาทีมีความหมายต่อชีวิตผู้ป่วย และที่สำคัญคือ “การเบิกจ่าย” จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะรวดเร็วขึ้นด้วย

วันนี้ “The Coverage” จึงขอพาทุกคนมารู้จักระบบ “Health Link” ซึ่งเป็นระบบที่จะเชื่อมข้อมูลผู้ป่วยโดยผ่านการยินยอม (Consent) เพื่อใช้แลกเปลี่ยนกันระหว่างโรงพยาบาล ที่จะเข้ามาหนุนเสริมนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ผ่านคำอธิบายจาก นพ.ธนกฤต จินตวร ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา และรองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรที่พัฒนาระบบ Health Link ขึ้นมา

นพ.ธนกฤต เปิดการสนทนาด้วยการย้อนอธิบายโจทย์อันเรียบง่ายในการตั้งระบบนี้ขึ้นมาว่า แต่เดิมเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการดูแลรักษาต่างโรงพยาบาลกัน แพทย์ส่วนมากจะไม่รู้ประวัติการรักษา รวมไปถึงการแพ้ยา หรือวัคซีน ของผู้ป่วย 

ฉะนั้นเมื่อเห็นถึงช่องว่าง “Health Link” ที่เป็นสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Institute) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จึงเข้ามาดูแลการทำระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้แพทย์ดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสามารถเชื่อมข้อมูลได้ทุกโรงพยาบาลในทุกสังกัด ทั้ง สธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือกระทั่งโรงพยาบาลเอกชน 

นพ.ธนกฤต บอกต่อไปว่า ระบบ Health Link นี้จะเข้าไปเชื่อมกับข้อมูลการรักษาของระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System: HIS) ที่มีอยู่ในโรงพยาบาลแต่ละแห่งให้ตรงกัน จากนั้นจะมีการดึงข้อมูลออกมาประกอบเป็นรายงานเพื่อให้แพทย์สามารถดูได้ โดยระบบ HIS ในประเทศไทยขณะนี้มีอยู่ราว 60 ระบบ ซึ่งระบบ Health Link ก็ได้ทำงานร่วมกันเกือบทุกระบบแล้ว

5

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อทำให้ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ว่านี้เข้ามาช่วยเสริมการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย เพราะกรณีฉุกเฉินที่หมายถึงชีวิต ควรจะได้รับการดูแลทันที เป็นไปตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 

ทว่า การส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยฉุกเฉินจะแตกต่างกันออกไป เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้สมัครใจเปิดเผยประวัติ ฉะนั้นจึงมีการออกแบบ ให้มีเวลาดูประวัติแบบจำกัด หากได้รับการยืนยันแล้วว่าผู้ป่วยรายนี้มีความฉุกเฉินจริงก็จะมีการเชื่อมระบบเพื่อดูประวัติการรักษา และจะดูได้แค่จนจบการรักษาเท่านั้น 

ในระบบจะประกอบไปด้วยส่วนของประชาชนที่เข้าระบบให้เราดูแลเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล และสิทธิของผู้ป่วย ขณะเดียวกันเมื่อคนไข้ยืนยันตัวตนแล้ว โรงพยาบาลจะได้รับแจ้งเตือนจากระบบ จากนั้นจะเตรียมข้อมูลการแลกเปลี่ยน และเมื่อหมอยืนยันตัวตนผ่านระบบแพทย์สภาและโรงพยาบาลแล้ว จึงจะสามารถดูข้อมูลเหล่านั้นได้นพ.ธนกฤต ระบุ

ส่วนในที่สำคัญที่สุดอย่างความปลอดภัย นพ.ธนกฤต กล่าวว่า Health Link ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้นำข้อมูลมารวมกัน (Centralized) แต่เป็นการประกอบข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ผ่านระบบคลาวด์ที่เอาไว้รอเชื่อมกับระบบ HIS ของโรงพยาบาล ซึ่งจะมีทั้งระบบการดูแล และมีการทดสอบระบบ มีระบบ Back up ข้อมูล ฯลฯ 

มากไปกว่านั้น ภายใต้ระบบนี้มีการตกลงเรื่องมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล และใช้มาตรฐานเดียวกันในระดับโลกนั้นคือ Fast Healthcare Interoperability Resources (FHIR) จาก Health Level 7 (HL7) เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันในประเทศ ฉะนั้นระบบนี้จึงเป็นไปตามมาตรฐาน มีความเสถียร และมีความปลอดภัย

ส่วนการเบิกจ่ายจาก สปสช. ในปัจจุบันก็ใกล้จะทำได้แล้วด้วย เพราะ นพ.ธนกฤต เผยว่า ได้เตรียมที่จะทำงานร่วมกับ สปสช. สำหรับการเชื่อมข้อมูลเพื่อเบิกจ่าย ทำให้ต่อไปโรงพยาบาลไม่ต้องคีย์ข้อมูลเพื่อเบิกจ่าย เนื่องจากจะสามารถส่งข้อมูลผ่านระบบ Application Programing Interface (API) เข้าระบบ E-Claim ซึ่งจะทำให้การเบิกจ่ายของโรงพยาบาลทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน และยังเป็นการช่วยลดภาระงานได้อีกด้วย 

อีกทั้งแม้ขณะนี้ระบบสุขภาพของประเทศไทยจะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งถือเป็นการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ มท. การเชื่อมต่อข้อมูลก็ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง เพราะเมื่อมีการถ่ายโอนฯ มา ก็สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบ Health Link ได้เลย

1

“เรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี หรือระบบอินเทอร์เน็ต ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ฉะนั้นก็จะมีการดูเรื่องระบบสัญญาณว่าเป็นอย่างไร และขั้นตอนต่อไปสำหรับการจัดการข้อมูล ก็จะมีการทำงานร่วมกันในเรื่องของการทำระบบ HIS ให้กับ รพ.สต. ที่ยังไม่มี เพื่อให้สามารถเชื่อมเข้ากับระบบ Health Link ได้

“การแพทย์ปฐมภูมิจะมีระบบ 3 หมอ ได้แก่ 1. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. 2. แพทย์จาก รพ.สต. และ 3. แพทย์จากโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งต่อไปหมอคนที่ 2 และ 3 (รพ.สต. และโรงพยาบาลชุมชน) จะอยู่คนละสังกัดกัน และอาจจะทำให้เกิดช่องว่างในการดูแลคนไข้ได้ เนื่องจากขาดข้อมูล ฉะนั้น Health Link จะตอบโจทย์ทั้งการดูแล และการเบิกจ่าย และสามารถทำงานได้อย่างไร้รอยต่อ” นพ.ธนกฤต กล่าว

นพ.ธนกฤต มองว่า ประโยชน์สูงสุดของระบบนี้คือการที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ปลอดภัย และได้รับการรักษาที่เหมาะสม รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องการตรวจซ้ำ และยังสามารถนำไปปรับใช้กับการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ทั้งระบบการแพทย์ปฐมภูมิ หรือระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) รวมถึงยังนำไปสู่การดูแลผู้สูงอายุที่ในอนาคตจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้กระทั่งการดูแลผู้ป่วยด้วยเทคโนโลยีเสมือน (Virtual Care) กรณีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ดูแล (Care Giver) ก็สามารถใช้ประโยชน์จากระบบนี้ได้ 

“ในอนาคตเราจะมีข้อมูล เช่น อัตราการใช้ยา อัตราโรคที่คนไข้เจ็บป่วยมากที่สุด ฯลฯ ก็จะทำให้เราสามารถกำหนดนโยบายของประเทศได้ดีมากขึ้นอีกด้วย” นพ.ธนกฤต กล่าวเสริม

อย่างไรตาม นพ.ธนกฤต บอกว่า ตอนนี้อยากจะเห็นภาพการส่งต่อข้อมูลภายในเขตสุขภาพเดียวกัน เพราะใน 1 เขตสุขภาพจะมีสถานพยาบาลตั้งแต่ระดับคลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลขนาดเล็ก กลาง ใหญ่  และเมื่อมองธรรมชาติของผู้ป่วย หากมีการเจ็บป่วยหลายโรคก็จะใช้บริการในหลายโรงพยาบาล 

ในขณะนี้ระบบ Health Link ได้นำร่องและอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ในพื้นที่ Bangkok Health Zone 3 (กทม. โซนใต้) โดยเชื่อมข้อมูลสุขภาพในสถานพยาบาลต่างสังกัด ทั้งโรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์ คลินิกเอกชน หรือคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัด สธ. ซึ่งภายหลังจากการดำเนินงานมาร่วม 2 ปี มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมเชื่อมข้อมูลผ่านระบบนี้แล้วประมาณ 110 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลสังกัด กทม. 81 ทั้ง สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ ฯลฯ และโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ราว 29 แห่ง โดยมีประชาชนให้ความยินยอมเข้าร่วมโครงการราว 1.4 แสนคน 

“ตรงนี้จะมีโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์เป็นโรงพยาบาลใหญ่ และจะมีโรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ด้วย โดยในพื้นที่ก็จะมีศูนย์บริการสาธารณสุข และคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เหล่านี้จะสามารถส่งต่อข้อมูลนอกเขต และข้ามสังกัดได้

“ระบบ Health Link ได้กระจายไปทั่วประเทศแล้ว ซึ่งคาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้ น่าจะได้เห็นการเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ” นพ.ธนกฤต เผย

นพ.ธนกฤต ทิ้งท้ายว่า ส่วนสำคัญคือการร่วมมือขอประชาชน เพราะตรงนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเอง ฉะนั้นอยากให้ประชาชนเข้ามาสมัครใช้งาน โดยสามารถสมัครได้ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ThaiID ฯลฯ หรือหากเป็นในโรงพยาบาลสังกัด กทม. ก็สามารถทำได้ที่โรงพยาบาล รวมถึงในโรงพยาบาลที่เปิดรับสมัครเพื่อเข้าระบบก็สามารถทำได้เช่นกัน