ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เผย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ความสำคัญ อปท. มีส่วนร่วม  ผ่านกลไก “กปท.” “กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด” ดูแลประชาชนเข้าถึงบริการ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต พร้อมเปิดแดชบอร์ด กปท. หนุนจัดทำโครงการ 


เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “การขับเคลื่อนระบบสุขภาพท้องถิ่น โดยคนท้องถิ่น ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ภายในงานสัมมนา “การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบสังคมโลก (SDGs)” ที่จัดโดยสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (อบต.) ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี 

4

นพ.จเด็จ กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น โดยกำหนดว่าการบริหารจัดการ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ บัตรทอง 30 บาท จะมีตัวแทนจากท้องถิ่นเข้ามาเป็นสมาชิก ทั้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ฉะนั้นเจตนาของกฎหมายคืออยากให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีส่วนร่วมในการทำงานกับท้องถิ่น

ทั้งนี้ ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ได้ระบุมาตราสำคัญสำหรับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น เช่น มาตรา 39 วรรค 2 ที่กล่าวถึงการใช้งบจากกองทุนบัตรทองฯ ที่ร่วมกับงบประมาณของท้องถิ่น รวมถึงในมาตรา 18 ที่ระบุถึงการบริหารจัดการร่วมกับท้องถิ่นในการดำเนินการ และบริหารจัดการ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในระดับท้องถิ่นหรือพื้น” ที่ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการ อีกทั้งตามมาตรา 47 ที่ระบุถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพ เน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 

4

“บทบาทของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำเป็นต้องสร้างกลไกให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม กลายเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) หรือเรียกว่า กองทุนตำบล โดยใช้วิธีนำงบประมาณจาก สปสช. และท้องถิ่นมารวมกัน เพื่อให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งในอดีตตีความไว้ว่าสามารถใช้ได้เฉพาะการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เท่านั้น แต่ในปี 2565 กองทุนท้องถิ่นสามารถใช้ได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนในพื้นที่” นพ.จเด็จ ระบุ 

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สปสช. ยังได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตั้งเป็นกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ซึ่งส่วนมากจะใช้ในส่วนของการฟื้นฟูสุขภาพ ซ่อม หรือให้กายอุปกรณ์ ปรับปรุงที่อยู่อาศัย เช่น ทำทางลาดสำหรับผู้ที่ใช้รถเข็น ฯลฯ เป็นส่วนสนับสนุนให้ผู้ป่วยและผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

“กองทุนฟื้นฟูฯ ระดับจังหวัดจะเข้ามาช่วยเสริมกองทุนตำบล หรือนำงบประมาณที่เหลือจากกองทุนตำบลมาพิจารณาใช้ในระดับจังหวัด หรือเขตเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นไปตามระเบียบ กติกา” นพ.จเด็จ กล่าว 

4

นอกจากนี้สิ่งที่ สปสช. ทำร่วมกับท้องถิ่นก็คือการสื่อสาร ทั้งปัญหาที่ผ่านมาในอดีต อย่างการตรวจสอบที่ขณะนี้ค่อนข้างมั่นใจว่ามีความพร้อม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามระเบียบและกติกาอย่างถูกต้อง เดินหน้าแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ต่อไป รวมถึงกำหนดกิจกรรมบางอย่างเพื่อเป็นการเริ่มต้น เช่น การแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งจะให้ท้องถิ่นได้มีการสำรวจประชาชนติดบ้านติดเตียง เพื่อนำข้อมูลไปทำงานร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่เสนอเป็นแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan) โดยใช้งบประมาณจาก กปท. ไปดูแล ซึ่งความจริงแล้ว สปสช. ไม่ได้มีประสงค์จะสั่งการจากส่วนกลาง แต่เพียงต้องการให้กรรมการกองทุนท้องถิ่นได้มีโอกาสสื่อสารพูดคุยกันว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการอะไร 

ไม่เพียงเท่านั้น สปสช. ได้พยายามเสนอโครงการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เห็นว่าบางเรื่องเป็นเรื่องที่สำคัญที่สามารถใช้งบ กปท. เข้าไปดำเนินการได้ เช่น การเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรม และมีปฏิสัมพันธ์ที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพ หรือการคัดกรองสายตาและให้แว่นตาเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุไม่เกิน 4 ปี เพื่อลดโอกาสการสูญเสียการมองเห็น เป็นอาทิ รวมถึงการจัดบริการรถรับและส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหน่วยบริการของประชาชน

5

ตลอดจนการลงไปดูเรื่องงบประมาณสนับสนุนกรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งขณะนี้มีการถ่ายโอน รพ.สต. แล้วกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ สปสช. ที่เป็นหน่วยสนับสนุนด้านงบประมาณ ก็อยากจะให้ท้องถิ่นมีงบในการดูแล รพ.สต. รวมไปถึงความเป็นอยู่ของประชาชน และก็อยากให้ อบจ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตกลงกันว่าจะให้ สปสช. สนับสนุนงบประมาณอย่างไร

มากไปกว่านั้น ล่าสุด สปสช. มีการทำแดชบอร์ดขึ้นมา เพื่อให้สามารถดูภาพรวมทั้งหมดได้ ซึ่งขอแนะนำให้ท้องถิ่นเข้าไปดูในพื้นที่ของตัวเองว่ามีงบเหลืออีกเท่าไหร่ผ่านแดชบอร์ดนี้ เพื่อที่จะนำงบประมาณส่วนที่ยังเหลือไปทำโครงการต่อได้ โดยสามารถทำเพิ่มเติมในส่วนบริการที่ประชาชนในพื้นที่ยังเข้าไปถึง โดยเสนออยากให้ท้องถิ่นพิจารณาในส่วนนี้ อาจเป็นการทำสำรวจบริการและกลุ่มประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล