ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัญหา ‘การรอคอย’ คือความทุกข์ด่านแรกของคนที่ไปโรงพยาบาล หลายคนต้องตื่นแต่เช้ามืด ไปเข้าคิวรอรับการตรวจ กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนความบางครั้งก็ครึ่งค่อนวัน

มากไปกว่านั้น หากผู้ป่วยรายใดต้อง ‘เจาะเลือด’ ด้วยแล้ว อาจต้องเสียเวลารอคอยเพิ่มเติมอีกหลายชั่วโมงจนกว่าที่ผลเลือดจากห้องปฏิบัติการ (แล็บ) จะออก หรือในหลายราย จะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลก่อนวันนัดหมายเพื่อไปเจาะเลือด ซึ่งเท่ากับว่าต้องไปโรงพยาบาลถึง 2 ครั้ง ในการตรวจเพียงครั้งเดียว

จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถ ‘เจาะเลือด’ และ ‘รับผลเลือด’ ได้ที่ห้องแล็บใกล้บ้าน ?

1

ในปี 2566 นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับสภาเทคนิคการแพทย์จัดทำโครงการ “Lab Anywhere” หรือบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) นอกหน่วยบริการ 

การบริการดังกล่าว เป็นการอำนวยความสะดวกประชาชน-เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และประชาชนคนไทยทุกสิทธิการรักษา ลดภาระค่าใช้จ่ายและการเดินทางของประชาชน และยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกด้วย 

หนึ่งในคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ได้เข้าร่วมโครงการ และได้ดำเนินการให้บริการจริงแล้วก็คือ “เวอร์คแล็บสหคลินิก” ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

“เวอร์คแล็บสหคลินิก” เข้าร่วมโครงการไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่าน โดย ทนพ.โสฬส ธนิกกุล กรรมการผู้จัดการเวอร์คแล็บสหคลินิก คลินิกเทคนิคการแพทย์ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ระบุว่า เพราะเคยปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลรัฐ เห็นความแออัด ภาระค่าใช้จ่ายระหว่างเดินทาง ทำเข้าใจปัญหาของผู้ป่วยที่ต้องเผชิญ 

5

ทันทีที่ได้รับคำชักชวนจากสภาเทคนิคการแพทย์ บนความพร้อมของทั้งหน่วยบริการ นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลวิชีพ นักเทคนิคการแพทย์ ฯลฯ จึงไม่รอช้าที่จะตัดสินใจเข้าร่วม

ทนพ.โสฬส เล่าว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการมีผู้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น “หลายร้อยราย” ซึ่งเป็นดอกผลจากการลุยประชาสัมพันธ์ ทั้งในชุมชน และหน่วยบริการที่รู้จัก จากเดิมที่มีจำนวนไม่มากเท่าไหร่นัก

“ช่วงเดือน ต.ค.- ต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมีประชาชนเข้ามาใช้บริการหลายร้อยหลาย แตกต่างจากช่วง 2 เดือนแรกที่เปิดบริการซึ่งมีประชาชนเข้ามาใช้บริการเพียง 3 รายเท่านั้น” ทนพ.โสฬส ระบุ

สำหรับ เวอร์คแล็บ เปิดให้บริการทั้งผู้ป่วยบัตรทองหรือบัตร 30 บาท แบบผู้ป่วยนอก (OP) ทั้งหมด 22 รายการใน 8 หมวดหมู่ ได้แก่ 1. การตรวจหาความเข้มข้นและความผิดปกติของเม็ดเลือด 2. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 3. การตรวจน้ำตาลสะสม 4. การตรวจระดับไขมันในเลือด 5. ตรวจการทำงานของตับ 6. ตรวจการทำงานของไต 7. ตรวจปัสสาวะ และ 8. ตรวจไวรัสตับอักเสบบี โดยในกรณีนี้ ผู้ป่วยบัตรทองต้องใช้บัตรประชาชนร่วมกับใบสั่งตรวจจากแพทย์จากโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยบัตรทองอยู่ 

4

ขณะเดียวกัน ยังมีบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่คนไทย “ทุกสิทธิการรักษา” สามารถเข้ารับบริการได้ 2 รายการ ได้แก่ 1. ตรวจทดสอบการตั้งครรภ์ ในกรณีสงสัยว่าตั้งครรภ์ จำนวน 4 ครั้ง/ปี และ 2. ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง ด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจาระ ตามกลุ่มเป้าหมายอายุ 50-70 ปี ทุก 2 ปี ผู้เข้ามารับบริการใช้เพียงแค่บัตรประชาชนและยังสามารถใช้สิทธิได้ง่ายๆ โดยเช็คสิทธิประโยชน์ที่แอปเป๋าตัง เมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค และเลือกบริการที่ต้องการ 

โดยที่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 

ทนพ.โสฬส ระบุว่า ขณะนี้ เวอร์คแล็บฯ มีความพร้อมในการให้บริการ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตสุขภาพที่ 4 หรือเขตสุขภาพที่ 13 ที่อยู่ใกล้เคียงกับคลินิก และจากการพูดคุยกับสภาเทคนิคการแพทย์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ และ สปสช. ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในอนาคตอยากจะขยายบริการเพิ่มเติมให้ครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามารับบริการแล็บตรวจใกล้บ้านได้ เพราะในตอนนี้ยังมีประชาชนบางส่วนต้องกลับเข้าไปรอคิวตรวจที่โรงพยาบาล เนื่องจากบริการบางรายการยังไม่ครอบคลุม 

ส่วนเรื่องงบประมาณในการจัดบริการที่ได้รับจากทาง สปสช. เขาตอบอย่างหนักแน่นว่า “สมเหตุสมผล” กล่าวคือไม่มากและไม่น้อยไป แน่นอนว่า เม็ดเงินที่ได้รับเพียงพอต่อการให้บริการประชาชน “อย่างมีคุณภาพ” และเป็นไปตาม “หลักเกณฑ์วิชาชีพ”  

อย่างไรก็ดี การเปิดบริการตามโครงการที่ว่านี้ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดย ทนพญ.วิชชุดา จันทะเดช เจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ เวอร์คแล็บสหคลินิก บอกว่า ใช้เวลารอผล “เพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น” 

5

5

ทนพญ.วิชชุดา เล่าว่า ประชาชนสามารถเข้ามารับบริการได้ตอนเช้า แล้วกลับมารับผลตอนพักเที่ยง หรือถ้าไม่ว่างก็สามารถแจ้งมายังเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับผลตอนเย็นได้อีกด้วย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เข้ามารับบริการมากที่สุด เนื่องจากไม่ต้องเดินทาง สามารถเข้ามารับบริการที่คลินิกที่อยู่ใกล้บ้าน หรือที่ทำงานได้ 

นอกเหนือจากการมารับผลที่คลินิกแล้ว หากประสงค์อยากจะให้ส่งผลตรวจไปที่หน่วยบริการประจำหรือหน่วยบริการต้นสังกัด ก็สามารถทำได้เพียงแค่แจ้งความประสงค์เอาไว้ทั้งที่หน่วยบริการ และคลินิก เพื่อง่ายต่อการประสานงาน แต่ถึงอย่างนั้นต้องอยู่บนความ “ประสงค์” ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ

ทางฝั่งของผู้ใช้บริการ น.ส.กนกพร ไกรสินธุ์ ที่เข้ารับบริการการตรวจไวรัสตับอักเสบบี ระบุว่า การเข้ามาใช้บริการที่เวอร์คแล็บฯ เป็นสิ่งที่สะดวก ใช้เวลาจากบ้านราว 10 นาทีเท่านั้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ต้องเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาล ทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย

มากไปว่านั้น เดิมทีก็เคยเข้ามารับบริการที่นี่อยู่แล้ว และได้ทราบข่าวผ่านไลน์แอปพลิเคชันถึงโครงการที่ว่า รวมถึงมั่นใจในมาตรฐานการบริการ จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนตัดสินใจเลือกเข้าใช้บริการที่นี่