ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. เร่งขยายการดำเนินงาน “โครงการฟันเทียม รากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” ประจำปี 2566 พร้อมตั้งเป้าหมาย ประจำปี 2567 ผู้ได้รับบริการใส่ฟันเทียม จำนวน 72,000 คน และผู้ได้รับบริการฝังรากฟันเทียม จำนวน 7,200 คน


เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรมการอำนวยการ โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติฯครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ว่า สธ. ได้ขับเคลื่อนนโยบาย สธ. ปีงบประมาณ 2567 ประเด็นที่ 1 โครงการเฉลิมพระเกียรติ/โครงการพระราชดำริ อย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ ในปี 2566 สธ. โดยกรมอนามัย ร่วมกับกรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ดำเนินโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 ก.ค. 2567 เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการฟันเทียมและรากฟันเทียมแก้ปัญหาการสูญเสียฟันทั้งปากหรือเกือบทั้งปากในกลุ่มผู้สูงอายุและก่อนวัยสูงอายุ 

1

สำหรับผลการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมาพบว่าผู้ได้รับการใส่ฟันเทียมจำนวน 53,897 คนและผู้ได้รับบริการฝังรากฟันเทียม จำนวน 1,668 คน และขณะนี้ มีหน่วยบริการที่ให้บริการฝังรากฟันเทียมทั้งหมด 298 แห่ง มีการจัดบริการแล้ว 159 แห่ง และตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุโครงการในประจำปี 2567 ผู้ได้รับบริการใส่ฟันเทียม จำนวน 7.2 หมื่นคน และผู้ได้รับบริการฝังรากฟันเทียม จำนวน 7,200 คน

“สธ. โดยสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ได้มีการพัฒนาศักยภาพทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ในหน่วยบริการสังกัด สธ. ส่วน สปสช. ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้จัดซื้อรากฟันเทียมและจัดส่งจังหวัดเพื่อบริหารจัดการกระจายรากฟันเทียมในจังหวัดเพื่อใช้ในการจัดบริการ โดยรากฟันเทียมที่ใช้ในโครงการนี้เป็นรากฟันเทียมที่ผลิตในประเทศไทย รุ่น PRK ซึ่งอยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย สำหรับการประชาสัมพันธ์ โครงการฯ กรมอนามัยและ สปสช. ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่สื่อต่างๆ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงาน พร้อมจัดรณรงค์โครงการฯ 4 ภาค เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน” นพ.พงศธร ระบุ

4

ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ว่า ในปี 2567 กรมอนามัยได้ดำเนินการพัฒนากลไกการให้บริการ ดังนี้ 1. ประสานให้ทุกจังหวัดคัดกรอง ผู้ที่ไม่มีฟันในปาก และฟันเทียมทั้งปากเดิมหลวม 2. เตรียมความพร้อมหน่วยบริการ พัฒนาศักยภาพทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ในการจัดบริการ 3. ผลักดันการจัดบริการรากฟันเทียมรองรับฟันเทียมให้เป็นสิทธิประโยชน์ในกลุ่มผู้ใช้สิทธิข้าราชการ และประกันสังคมในอนาคต และ 4. สื่อสาร ประชาสัมพันธ์โครงการ รณรงค์ ให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง 

พญ.อัจฉรา กล่าวต่อไปว่า โดยเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการรากฟันเทียมรองรับฟันเทียมใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมอนามัยได้นำเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้ 1. สนับสนุนการจัดบริการให้เกิดขึ้นในหน่วยบริการระดับ M2 (ขนาด 120 เตียงขึ้นไป) ขึ้นไปในทุกจังหวัด รวมทั้งติดตาม กำกับ ผ่านการติดตามนโยบาย สธ. กลไกตรวจราชการและคณะกรรมการการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาสุขภาพช่องปาก เพื่อให้การบริการบรรลุตามเป้าหมาย 

2. เพิ่มการประชาสัมพันธ์ สื่อสาร ค้นหา คัดกรองกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ผ่านเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมกับการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ที่สามารถสร้างความเข้าใจแก่ผู้สูงอายุ และขอความร่วมมือ กทม. เขตสุขภาพที่ 13 และ สปสช. เขต 13 จัดระบบเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพมหานครดำเนินการค้นหา คัดกรอง เตรียมช่องปาก และส่งต่อกลุ่มเป้าหมายเพื่อรับบริการฝังรากฟันเทียม