ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในปี 2565 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษาประมาณ 2.5 ล้านคน ทว่า ด้วยลักษณะของโรคจิตเวชอาจไม่ใช่ทุกคนที่จะหายขาดได้จากการรักษา
 
ฉะนั้น เมื่ออาการดีขึ้นแล้ว การที่ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในชุมชนได้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะขึ้นอยู่กับภายในชุมชนเองด้วย จนหลายแห่งผู้ป่วยจิตเวชอาจถูกแยกห่างออกจากชุมชนเลยก็ว่าได้

แต่ไม่ใช่กับ จ.นครสวรรค์ เพราะที่นี่มีโมเดลระบบการเฝ้าระวัง ดูแล ช่วยเหลือ ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังและยาเสพติดแบบบูรณาการ โดยใช้ชื่อว่า ‘เก้าเลี้ยวโมเดล’

ในการลุยเชิงรุกผ่านทีม ‘5 กัลยาณมิตร’ ที่รวมหน่วยงานต่างๆ ในชุมชน ซึ่งจะทำหน้าที่เข้าไปคอยดูแลหลังรับการรักษา ทั้งเรื่องการรับประทานยา การพักผ่อน และการช่วยเหลือสภาพจิตใจ จนตอนนี้ผู้ป่วยจิตเวชเกือบทุกคนในจังหวัดสามารถกลับมาอยู่ร่วมกับชุมชนได้เหมือนเดิม