ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์นักวิจัย IHRI หนุนเพิ่ม “ยาฮอร์โมน” สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง ชี้ มีผลต่อสภาพจิตใจ-เติมเต็มอัตลักษณ์ทำให้สุขภาพโดยรวมทั้งกายและจิตดีขึ้น ย้ำ ไม่แนะนำให้รับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อข้ามเพศ อาจเสี่ยง “เส้นเลือดดำอุดตัน”  


นพ.จักรภัทร บุญเรือง แพทย์นักวิจัยจากสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า เห็นด้วยกับการที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการผลักดันให้ “ยาฮอร์โมน” สำหรับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) และคิดว่าควรจะทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

เนื่องจากการเข้าถึงยาฮอร์โมนสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ มีผลต่อการเติมเต็มอัตลักษณ์ทางเพศ ส่งผลให้สภาพจิตใจดีขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่า การเข้าไม่ถึงยาฮอร์โมนสำหรับข้ามเพศอาจส่งผลให้เกิดเป็นภาวะซึมเศร้า และต่อสุขภาพกายอื่นๆ รวมถึงเศรษฐฐานะได้ ได้ เช่น กลุ่มคนข้ามเพศบางรายไม่สามารถจ่ายค่ายาฮอร์โมนข้ามเพศได้ เพราะมีราคาประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งการรับประทานยาฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศนั้นจำเป็นต้องได้รับอย่างต่อเนื่องเพื่อความคงที่ของฮอร์โมน ทำให้มีหลายคนต้องหารายได้เสริมมาค้ำจุนค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น เพื่อเติมเต็มอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง 

นอกจากนี้ ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ใช้ฮอร์โมนจากยาคุมกำเนิดเพื่อการข้ามเพศ แม้จะสามารถทำได้ แต่การรับประทานอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดเส้นเลือดดำอุดตันได้ เนื่องจากสารในยาคุมกำเนิดกับสารที่อยู่ในยาฮอร์โมนสำหรับข้ามเพศนั้นเป็นคนละตัวกัน แตกต่างจากผู้หญิงที่รับประทานยาคุมเป็นบางช่วงเท่านั้น ซึ่งทั้งในประเทศไทยและนานาชาติก็ได้ระบุว่า หญิงข้ามเพศไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดในการข้ามเพศ และควรมีสิทธิในการเข้าถึงยาฮอร์โมนข้ามเพศที่ปลอดภัย 

นพ.จักรภัทร กล่าวต่อไปว่า ทว่า ยาฮอร์โมนเพื่อใช้ในการข้ามเพศเองก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน อาทิ มีโอกาสที่ทำให้กระดูกบาง เกิดนิ่วในถุงน้ำดี มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพถาวร (มีการเพิ่มของเนื้อเต้านม) ฯลฯ กระนั้นผลข้างเคียงที่กล่าวมานั้นแม้จะเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย โดยอายุที่แนะนำในการใช้ยาฮอร์โมนเพื่อข้ามเพศนั้น อาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งส่วนมากมักจะเริ่มต้นที่ช่วงอายุ 16-18 ปี หากน้อยกว่านั้นจะแนะนำให้รับประทานยายั้งฮอร์โมน เพื่อชะลอระดับฮอร์โมนตามเพศกำเนิดเอาไว้ในช่วงระยะวัยรุ่น (Puberty) 

“การจะเข้ารับยาฮอร์โมนนั้นจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจ แตกต่างจากอดีตที่อาจจะต้องมีการประเมินจากจิตแพทย์ร่วมด้วย” นพ.จักรภัทร กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับการรับประทานยาฮอร์โมน จะขึ้นอยู่ว่าเป็นการข้ามเพศใดไปเพศใด โดยหากเพศกำเนิดเป็นชายและอยากข้ามเป็นหญิงก็จะได้รับยาฮอร์โมนเพศหญิง และยาสำหรับกดฮอร์โมนเพศชาย ขณะที่หากเพศกำเนิดเป็นหญิงแล้วอยากข้ามเป็นชาย จะได้รับยาฮอร์โมนเพศชายเพียงอย่างเดียว เพราะสามารถการกดฮอร์โมนเพศหญิงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่กลุ่มที่ต้องการข้ามเพศเท่านั้นที่ต้องการฮอร์โมน แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มอื่นๆ เช่น เควียร์ (Queer) นอน-ไบนารี (Non-binary) ฯลฯ ที่ต้องการใช้เพื่อปรับฮอร์โมน หรือปรับเปลี่ยนทางกายภาพเล็กน้อยด้วย 

“ฮอร์โมนที่ใช้มีหลายระดับ ต้องดูตามไกด์ไลน์ จริงๆ ประเทศไทยยังไม่มีแนวทางจากรัฐ แต่โชคดีว่าแทนเจอรีนทำแนวทางร่วมกับศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านสุขภาพคนข้ามเพศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้แพทย์ด้านฮอร์โมน ด้านการผ่าตัด มาร่วมรีวิวเป็นแนวปฏิบัติของประเทศไทยเป็นแนวทางแรก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไกด์ไลน์จะมีได้เพียงฉบับเดียว หากมีหน่วยงานอื่นอยากทำก็สามารถทำได้” นพ.จักรภัทร ระบุ 

นพ.จักรภัทร กล่าวทิ้งท้ายว่า จริงๆ ที่ผ่านมาคลินิกแทนเจอรีน ซึ่งเป็นคลินิกสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศแห่งแรกในประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้ IHRI ก็ได้พยายามผลักดันมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งคลินิกในปี 2558 ในการให้ยาฮอร์โมนสำหรับการข้ามเพศ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง โดยได้มีการนำเสนอเรื่องนี้ไปยังโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จนได้มีการจัดลำดับให้เป็นเรื่องแรกๆ ที่มีความสำคัญในการเสนอเป็นสิทธิประโยชน์ ซึ่งขณะนี้คาดว่าอยู่ในขั้นตอนการวิจัย เพื่อดูเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการให้บริการ