ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.SWING ขอบคุณรัฐบาล-สปสช. รับพิจารณาให้ฮอร์โมนเป็นชุดสิทธิประโยชน์ ชี้จำเป็นสำหรับ LGBTQ+ ลดภาระค่าใช้จ่าย และใช้ฮอร์โมนได้อย่างถูกต้อง เชื่อหากทำได้ ประเทศไทยนำหน้าทั่วโลก


น.ส.สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และในฐานะเครือข่ายภาคประชาชน ที่ขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการสุขภาพกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า ต้องขอบคุณ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่นำข้อเสนอเรื่องการพิจารณาให้ฮอร์โมนกับกลุ่ม LGBTQ+ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งแม้จะเป็นการรับเรื่องเพื่อพิจารณา แต่ก็ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี 

“สิ่งนี้สะท้อนได้ว่า รัฐบาล และ สปสช. เห็นความสำคัญของการใช้ฮอร์โมนในกลุ่มคน LGBTQ+ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเพื่อความสวยงาม แต่มองในแง่การใช้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพแบบเฉพาะกลุ่ม และภาครัฐก็รับเรื่องอย่างรวดเร็วด้วย” น.ส.สุรางค์ กล่าว 

น.ส.สุรางค์ กล่าวว่า หากนำฮอร์โมนมาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ก็จะเป็นการส่งเสริมสุขภาพเหมือนกับการให้ยาเพร็พ (PrEP) และเป็ป (PEP) กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และคนที่ต้องการเพื่อป้องกันการติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องฮอร์โมนหากทำได้สำเร็จ จะทำให้ประเทศไทยนำหน้าทุกประเทศในโลก ในการดูแลประชากรกลุ่ม LGBTQ+

เนื่องจากฮอร์โมนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ เพราะร่างกายมนุษย์ทุกคนจะมีฮอร์โมนเพศอยู่ในตัว แต่คนที่ต้องการข้ามเพศก็ต้องใช้ฮอร์โมนเพื่อให้ร่างกายมีความสมดุล แต่หากกินฮอร์โมนผิดไปก็จะมีผลกระทบต่อร่างกาย แต่เมื่อเอามาอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ก็จะทำให้ความเสี่ยงกับกลุ่ม LGBTQ+ ลดน้อยลง รวมถึงทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการหาฮอร์โมนมาใช้ด้วย 

อีกทั้ง กลุ่ม LGBTQ+ ที่ใช้ฮอร์โมนจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อเดือนสำหรับการหาซื้อฮอร์โมนมาใช้ แต่ส่วนใหญ่ก็ใช้ไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะกับสภาพร่างกายของตัวเอง ทำให้มีผลกระทบตามมามากเช่นกัน 

"มันเกิดผลดีแน่นอน เพราะตอนนี้พวกเขาต้องหาฮอร์โมนมากินเอง และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ มีทั้งคุยกันเอง กินตามรุ่นพี่บอก แต่กำลังโดสมากเกินไปท้ายสุดก็มีผลเสียต่อร่างกายตัวเอง" น.ส.สุรางค์ ระบุ

ผู้อำนวยการ Swing กล่าวเสริมด้วยว่า การใช้ฮอร์โมนอย่างถูกต้องนั้น จะต้องมีการตรวจสุขภาพร่างกาย เพื่อประเมินค่าการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น ตับ และไต ว่าจะสามารถรองรับการใช้ฮอร์โมนได้หรือไม่ รวมถึงต้องประเมินระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ต้องการปรับสภาพ เพื่อให้ใช้ฮอร์โมนให้เหมาะสมกับร่างกายและเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพก่อนการใช้ฮอร์โมน 

อย่างไรก็ตาม หากมีการพิจารณาบรรจุการตรวจร่างกายสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการให้ฮอร์โมนควบคู่ไปด้วยก็จะเป็นการดีอย่างมาก เพราะจะช่วยให้การให้ฮอร์โมนกับกลุ่มที่ต้องใช้มีความปลอดภัยมากที่สุด 

“Swing ก็มีการตรวจสุขภาพให้กับ LGBTQ+ เช่นกัน แต่เรายังใช้ทุนสนับสนุนการตรวจจากต่างประเทศ แต่หากใครที่ต้องการเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนก็ต้องเสียเงินเอง ซึ่งหากเราสามารทำเป็นระบบบริการสุขภาพแบบเดียวกันทั้งหมด ก็จะช่วยให้การเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่ม LGBTQ+ ดีมากขึ้นไปด้วย” น.ส.สุรางค์ กล่าวในตอนท้าย