ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.มูลนิธิสวิงเผยเคสหญิงติดเชื้อเอชไอวี มีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน-ไม่ซ้ำหน้า หากกินยาต้านต่อเนื่อง ‘แพร่เชื้อไม่ได้’ เผย สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมคนไทยเข้าถึงการรักษา ตรวจเลือด 2 ครั้งต่อปี รับยาก่อน-หลังสัมผัสโรค ไม่มีค่าใช้จ่าย 


จากกรณีนักศึกษาสาวออกมาโพสต์เรื่องราวของตนลงโซเชียลมีเดียว่า เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) แต่กำเนิด และมีการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง แต่มีการดื่มสุราจึงทำให้เชื้อดื้อยา อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์แบบ One Night Stand กับหลายคนในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา โดยไม่มีการป้องกันนั้น

ล่าสุด น.ส.สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) เปิดเผยว่า ประเด็นดังกล่าว หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้กินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่อง จะไม่สามารถแพร่เชื้อเอชไอวีไปสู่บุคคลอื่นได้ แม้ว่าจะมีพฤติกรรมดื่มสุราก็ตาม โดยเรื่องนี้ได้รับการยืนยันตามข้อเท็จจริงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ในงานวิจัยที่มีการศึกษามา โดยเรียกกรณีนี้ว่า U=U (Undetectable = Untransmittable) หรือไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ซึ่งหมายความว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่กินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องและตรงเวลา จะสามารถกดปริมาณไวรัสให้ต่ำถึงระดับที่ไม่สามารถตรวจหาไวรัสในเลือดพบ และทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อออกไปได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันหากจะเข้ารับการตรวจ รับยาป้องกัน ซึ่งเป็นบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่ครอบคลุมคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษานั้น สามารถเข้ารับบริการได้อย่างทั่วถึง ผ่านระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่ให้สิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ (AIDS) ทั้งการเข้าถึงการตรวจเลือดของประชาชน และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการตรวจปีละ 2 ครั้ง ขณะที่ในส่วนของการรักษารวมไปถึงการรับยาต้านไวรัสโดยไม่มีค่าใช้จ่ายนั้น เป็นสิทธิประโยชน์ที่ทุกสิทธิการรักษาภาครัฐครอบคลุมทั้งหมดอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นมีสิทธิการรักษาอะไร ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) สิทธิประกันสังคม รวมถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว เป็นต้น  

"กรณีของน้องผู้ติดเชื้อ หากน้องไม่ได้กินยาต่อเนื่องก็อาจทำให้ไวรัสเอชไอวีมีโอกาสแพร่กระจายได้หากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน แต่กรณีนี้ จากข้อมูลเท่าที่ทราบมาคือ น้องติดเชื้อมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และมารดาก็กินยาต้านไวรัสมาตลอด ก็เท่ากับว่า น้องคนนี้รับยาต้านไวรัสตั้งแต่อยู่ในท้อง และคลอดมาแล้วก็ยังกินยาต่อเนื่อง กรณีนี้จึงเป็นกรณี U=U ที่แพร่เชื้อไม่ได้" น.ส.สุรางค์ กล่าว 

น.ส.สุรางค์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากสถานพยาบาลของรัฐแล้ว ในส่วนของภาคประชาชนเอง ก็มีคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ให้เป็นหน่วยบริการร่วมกับในระบบบัตรทอง 30 บาทด้วยเช่นกัน อย่างที่มูลนิธิ SWING ก็มีคลินิกสาขาที่ให้บริการทั้งการตรวจเลือด การให้ยาเพร็พ (PrEP) ที่ใช้ในการป้องกันเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสโรคควบคู่ไปกับการแจกถุงยางอนามัยเพื่อให้ใช้ร่วมกัน โดยสาเหตุที่ต้องจ่ายยาเพร็พก่อนสัมผัสโรคเพราะประชาชนบางส่วนอาจมีอาการแพ้ถุงยางอนามัย จึงต้องกินยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทน 

น.ส.สุรางค์ กล่าวอีกว่า แต่หากได้รับเชื้อเอชไอวีแล้ว หรือกังวลว่ามีความเสี่ยงหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือสัมผัสโรค ก็สามารถประสานกับคลินิกเพื่อขอให้พาไปเจาะเลือดตรวจ ซึ่งทางคลินิกก็จะประสานกับโรงพยาบาลเครือข่าย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาเป็ป (PEP) ซึ่งเป็นยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกรณีฉุกเฉิน ที่ต้องรับประทานให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีภายใน 72 ชั่วโมง

"สูตรยาต้านไวรัสเอชไอวีในปัจจุบันที่ถูกใช้รักษากับผู้ติดเชื้อ ก็ถูกปรับปรุงใหม่ให้มีประสิทธิภาพดีมากขึ้น ทำให้ไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือมีก็เกิดขึ้นน้อยมาก ขณะที่ยาต้านไวรัสยังถูกพัฒนาให้กินแค่วันละ 1 เม็ดต่อวัน ทำให้ชีวิตของผู้ติดเชื้อก็มีความสะดวกมากขึ้น" ผู้อำนวยการมูลนิธิ SWING กล่าว 

น.ส.สุรางค์ กล่าวในตอนท้ายว่า ระบบการให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีของประเทศไทยถือว่าเป็นที่ยอมรับในสายตานานาชาติ เพราะเป็นระบบที่่ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงยาต้านไวรัสได้อย่างทั่วถึง รวมถึงมีการติดตามอาการของผู้ติดเชื้อหลังได้รับยา และที่สำคัญคือไม่มีค่าใช้จ่าย 

อีกทั้งยังมีหน่วยงานภาครัฐคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลของรัฐ ที่สนับสนุนและร่วมกันทำงานกับภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอชไอวีให้กับประชาชนคนไทย และกลุ่มเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง รณรงค์ป้องกันการติดเชื้อ ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันการเข้าถึงยาต้านไวรัสของกลุ่มเสี่ยงทำได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดตัวเลขผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ได้ด้วย

ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมกรณียา Prep/PEP ได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 16 ให้บริการ 24 ชั่วโมง และสายด่วนปรึกษาเอดส์ 1663 กด 1 เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 9.00-21.00 น.