ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอชลน่าน’ เผย โรงพยาบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พัฒนาระบบเยี่ยมบ้าน “สอน.บัดดี้” เพิ่มฟังก์ชัน ‘เทเลเมดิซีน’ นำมาประยุกต์ใช้ดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ ให้ได้รับการดูแลต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ลงพื้นที่ไปดูแล พร้อมวิดีโอคอลให้แพทย์ติดตามอาการและสั่งจ่ายยา เสมือนไปโรงพยาบาล สอดรับนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า นโยบายยกระดับ 30 บาทพลัส จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน อย่างในขณะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วม เช่น จ.อุบลราชธานี เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องรับยาอย่างต่อเนื่อง ประสบปัญหาการเดินทางมารับบริการที่สถานพยาบาล

ขณะที่บุคลากรเองก็ประสบปัญหาการลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งโรงพยาบาลวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้นำระบบ “สอน.บัดดี้” (Buddy Care) ที่พัฒนาโดยมูลนิธิพัฒนาสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี สำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) และเครือข่ายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในเขตสุขภาพที่ 10 สำหรับเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานเชิงรุกของระบบปฐมภูมิ มาใช้ในการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วม

“สอน.บัดดี้ หรือ Buddy Care เป็นโปรแกรมเยี่ยมบ้าน ออกแบบมาให้บริการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Service) หรือให้บริการเชิงรุกแก่ประชาชน 6 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวชและผู้ใช้สารเสพติด การดูแลระยะกลาง การดูแลระยะยาว การดูแลแบบประคับประคอง และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มทารก เด็ก และมารดาหลังคลอด มีการเชื่อมโยงระบบส่งต่อผู้ป่วยจากการเยี่ยมบ้านผ่าน “Smart Refer” ซึ่งพัฒนาโดยเขตสุขภาพที่ 10 ทำให้โรงพยาบาลสามารถส่งต่อผู้ป่วยให้ รพ.สต. หรือสอน.ในเครือข่ายได้อัตโนมัติ และรพ.สต. หรือสอน. ทราบรายการผู้ป่วยที่ถูกส่งมา สามารถออกไปให้บริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยได้ทันที” นพ.ชลน่าน ระบุ

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของโรงพยาบาล ยังสามารถให้บริการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยของ รพ.สต. หรือ สอน.ในเครือข่าย ทั้งเดินทางไปเยี่ยมเองหรือผ่านระบบเทเลเมดิซีนได้ด้วยเช่นกัน รวมถึงยังสามารถติดตามการดำเนินงานของ รพ.สต. หรือ สอน. ในเครือข่ายของตนเองได้อีกด้วย

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อไปว่าปัจจุบันระบบ สอน.บัดดี้ หรือ Buddy Care เปิดให้บริการผ่าน Web Application https://buddy-care.org/auth และจะพัฒนาระบบในรูปแบบ Mobile Application ให้ได้ใช้งานในเร็วๆ นี้ โดยจะเริ่มจากระบบปฏิบัติการ Android ก่อน เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก และจะเปิดให้บริการบนระบบปฏิบัติการ iOS ต่อไป รวมถึงมีแผนจะพัฒนาระบบ Mobile Application ให้สามารถดูแลผู้ป่วย/เยี่ยมบ้านในโหมด Offline ได้ด้วย เพื่อให้การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านมีความสะดวกในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีระบบเทเลเมดิซีน แพทย์จะต้องนั่งเรือเพื่อไปให้บริการดูแลรักษาและจ่ายยาให้กับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่บ้าน ทำให้แพทย์ดูแลผู้ป่วยไม่สะดวกและให้บริการได้จำนวนน้อย เพราะต้องเสียเวลาในการเดินทาง แต่โรงพยาบาลวารินชำราบ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมพัฒนาระบบ “สอน.บัดดี้” ได้เพิ่มฟังก์ชันให้สามารถเทเลเมดิซีนได้ด้วย และนำมาประยุกต์ใช้งานในช่วงน้ำท่วม ช่วยอำนวยความสะดวกและทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใน รพ.สต. ใกล้บ้านผู้ป่วย จะเดินทางโดยเรือไปบ้านผู้ป่วยเพื่อติดตามอาการและจ่ายยาตามคำแนะนำของแพทย์ที่โรงพยาบาลผ่านระบบเทเลเมดิซีน

ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งเดินไม่ได้ มีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน ไขมันในเลือดผิดปกติ ต้องติดตามอาการและรับยาเป็นประจำ ที่บ้านน้ำท่วมสูง 20 ซม. ต้องขึ้นไปอยู่บนชั้น 2 มีลูกสาวเป็นผู้ดูแล เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ได้นำยาไปให้ที่บ้านและวิดีโอคอลกับแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อให้พูดคุยและติดตามอาการกับผู้ป่วย รวมถึงให้คำแนะนำในการดูแลตนเองช่วงน้ำท่วม ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาและได้รับการติดตามจากแพทย์เช่นเดียวกับการไปโรงพยาบาล