ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้จะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่คุณอาจต้องคิดแล้วว่า อะไรจะเกิดขึ้นถ้า 70-80 ปีนับจากนี้ไทยเหลือประชากรเพียง 33 ล้านคน หรือหายไปครึ่งประเทศหากอิงจากจำนวนปัจจุบัน 

แน่นอนว่าไม่ใช่เพราะทานอส (Thanos) ตัวละครจากมาร์เวลคอมิกส์รวบรวมอินฟินีตี้สโตนแล้วดีดนิ้ว และไม่ใช่เพราะสงคราม หรือโรคระบาดด้วย แต่มาจาก “ไม่มีประชากรเกิดใหม่”

เนื่องจากอัตราการเกิดของไทยเราขณะนี้เรียกได้ว่า “ต่ำมาก” เห็นได้จากตัวเลขของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในปี 2565 ที่ระบุว่า คนไทยท้องและคลอดลูกแค่ 1.08 คนต่อ 1 ครอบครัว 

ขณะที่ทั่วโลกคือ 2.3 หรือเอาแค่ใกล้บ้านเราอย่างในอาเซียนก็อยู่ที่ 1.5, 1.7, 1.8 ซึ่งมีแต่สิงคโปร์เท่านั้นที่ต่ำกว่าโดยอยู่ 1.02 

สำหรับ “ต้นเหตุ” หลักๆ ของการเกิดน้อย ไม่ใช่อื่นใด สิ่งนั้นก็คือ ปัจจัยทาง “เศรษฐกิจและสังคม” ที่ไม่เอื้ออำนวยให้คนไทยอยากมีลูก รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของภาครัฐยังไม่จูงใจมากพอเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ลดหย่อนภาษี ฯลฯ

ภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ “ช่วงวัยที่เหมาะสมสำหรับมีลูก” ในทางการแพทย์ (20-35 ปี) ถูกทุ่มไปกับการสร้างเนื้อสร้างตัว มีรายได้ หรือมีฐานะมั่นคงเสียก่อน เพื่อให้เกิดความพร้อมที่จะมีสมาชิกครอบครัวเพิ่ม จนที่สุดต้องพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วย 

นอกจากนี้ ในบางคนก็อาจจะเลือกไม่มีไปเลย โดยผลสำรวจนิด้าโพลล่าสุดจาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พบว่า เหตุผลหลักที่คนไม่อยากมีลูกเป็นเพราะ ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก 38.32% เป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน 38.32% ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก 37.72% ต้องการชีวิตอิสระ 33.23%

เหล่านี้นำมาสู่คำถามว่า แล้วเรา ผม คุณ ท่าน ฉัน เธอ ฯลฯ จะทำอย่างไรต่อ ? 

เพื่อหา “คำตอบ” ของคำถามข้างต้น “The Coverage” ชวน นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้อำนวยการกองอนามัยมารดาและทารก สำนักส่งเสริมสุขภาพ สธ. นั่งคุยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อขยายมุมมอง และเสาะหาทางออกไปพร้อมกัน

1

คนในเมืองมีลูกน้อยกว่าคนต่างจังหวัด

นพ.โอฬาริก เปิดประเด็นว่า ความแตกต่างระหว่าง “สังคมเมือง” และ “ต่างจังหวัด” มีผลต่ออัตราการเกิดของประชากร โดยคนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีอัตราการเกิดอยู่ประมาณ 0.8 คนต่อครอบครัว หมายความว่า 1 ครอบครัวจะมีลูก 0.8 คน แต่คนต่างจังหวัดจะมีลูกประมาณ 1.2-1.4 คนต่อครอบครัว 

สำหรับเหตุผลก็คือ บริบท “ความพร้อม” ในการมีลูกของเมืองกับชนบทนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

นพ.โอฬาริก ขยายความต่อไปว่า ในชนบท หรือต่างจังหวัดเองก็ตาม สมมุติว่าผู้หญิงเรียนจบระดับชั้น ปวช. หรือ ปวส. จากนั้นก็ทำงานในจังหวัด ในภูมิลำเนาของตนเอง เมื่อมีแฟนก็อยากจะมีลูกเลย แม้ว่าหญิงสาวคนนี้จะอายุประมาณ 19-20 ปีก็ตาม แต่นี่คือความพร้อมแล้ว

ทั้งนี้ ถ้ามองในมุมเดียวกัน หญิงสาวในสังคมเมือง หรือในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในวัยเดียวกันอาจจะต้องศึกษาเล่าเรียนทั้งในระดับพื้นที่ฐาน และระดับที่สูงขึ้น โดยบางคนอาจจะคิดว่าต้องเรียนจบปริญาตรี หรือปริญญาโทก่อน ต่อด้วยทำงานหารายได้ที่เพิ่มขึ้น แล้วค่อยลงหลักปักฐานเพื่อสร้างครอบครัว มีบ้านมีรถ จากนั้นจึงต้องมีลูก 

“บางส่วนอาจจะต้องหาคนรัก คู่ครอง คบหาดูใจและแต่งงาน ความพร้อมถึงจะปรากฏ แต่ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการมีลูก ก็ถ่างขยายออกมากขึ้นไปอีก

"เศรษฐกิจ เศรษฐฐานะ จะเป็นตัวกำหนดความพร้อมที่อยากจะมีลูก คนต่างจังหวัดมองว่าตัวเองพร้อมแล้ว แต่คนเมืองบางส่วนมองว่าตัวเองยังไม่พร้อม ต้องมีบ้านมีรถก่อน หรือบางส่วนมองว่า อยากมีลูกแล้ว เพราะให้พ่อแม่ช่วยเลี้ยงได้ตอนที่กลับไปทำงาน ก็เป็นความพร้อมของคนเมืองเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิดของคน กทม. กับต่างจังหวัดก็แตกต่างกัน" นพ.โอฬาริก กล่าว 

'พร้อมแล้ว แต่วัยไม่ได้' เลยต้องใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์

ดังนั้นแล้วสังคมเมืองจึงเป็นสังคมที่คู่รักแต่งงานกันอยู่ในช่วงอายุที่สูงขึ้น ต่อมาจึงทำให้ช่วงอายุการมีลูกสูงขึ้นตามไปด้วย หลายคู่จึงกลายเป็นว่าอยู่ในช่วงวัยที่ไม่เหมาะสมสำหรับมีบุตรแล้ว ก็กลายเป็นว่ามีบุตรยากและต้องพึ่งพา “เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์” 

นพ.โอฬาริก บอกว่า คู่รักหลายคู่ไม่ได้เลือกว่าต้องทำเด็กหลอดแก้ว แต่เมื่อพวกเขาอยากมีลูกเลยไม่มีทางเลือก เพราะเลยช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการมีลูกแล้ว ทว่า เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ก็อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการมีลูก เพราะสุขภาพของผู้หญิงก็มีส่วนเช่นกัน 

“บางคนอาจตรวจเจอบางโรค เช่น ช็อกโกแลตซีส หรือเนื้องอกในมดลูก ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก่อน ทั้งตรวจร่างกาย วินิจฉัยโรค รักษาโรค จากนั้นจึงต้องเข้าสู่กระบวนการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ แต่สังเกตได้ว่าความพร้อมที่เกี่ยวกับสุขภาพ ก็ถ่างขยายออกไปอีกพร้อมกับช่วงอายุ” นพ.โอฬาริก กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในเรื่องของการเข้าสู่กระบวนการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ตามมา ทั้งการเข้าถึงหน่วยบริการที่รักษาภาวะการมีบุตรยาก และราคาด้วย นพ.โอฬาริก กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันทั่วประเทศ มีหน่วยบริการที่ให้การรักษาภาวะผู้มีบุตรยากอยู่ประมาณ 107 แห่ง แต่ในจำนวนนี้ประมาณ 85% เป็นของเอกชน และกระจุกตัวอยู่ใน กทม. และด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการทำเด็กหลอดแก้วก็ทำให้มีราคาแพงอย่างมาก 

อย่างไรก็ตาม หากจะแก้ปัญหากันด้วยกระบวนการนี้ เอากันแบบในเชิงนโยบายว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ สิ่งที่ต้องทำเลยก็คือเพิ่มการลงทุนสำหรับสนับสนุน ทั้งการเพิ่มหน่วยบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากให้มากขึ้น กระจายการครอบคลุม และที่สำคัญต้องทำให้ราคาเข้าถึงได้ หรือมีการช่วยเหลือส่วนหนึ่งในลักษณะสิทธิประโยชน์ 

"งานวิจัยจากนักวิชาการในหลายประเทศก็ทำเรื่องการแพทย์กับการเพิ่มอัตราการเกิดเช่นกัน มองเหมือนกันว่าหากรัฐบาลสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ให้ง่ายขึ้น ก็มีส่วนที่จะช่วยให้เพิ่มอัตราการเกิดได้ ซึ่งทำได้ในหลายประเทศที่เจอปัญหาประชากร รวมถึงประเทศไทยด้วย

“เพราะเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ต่างประเทศเท่ากันทั้งหมด ไทยเองด้วย แต่ก็ยืนยันอีกว่าการเจริญพันธุ์ด้วยวิธีนี้ไม่ใช่คำตอบทั้งหมด" นพ.โอฬาริก ระบุ

2

Benefit ให้ประชาชน มองที่ 'รัฐสวัสดิการ'

แล้วคำตอบที่เหลือคืออะไร? จากหลากหลายประเทศที่ นพ.โอฬาริก ได้ไปเห็น และหลากหลายงานวิจัยที่เขาได้อ่านทั้งในและต่างประเทศ เกี่ยวกับการเพิ่มอัตราการเกิด ทำให้ได้คำตอบอย่างหนึ่งที่ช่วงที่ผ่านมาคนพูดถึงเยอะ นั่นก็คือ “รัฐสวัสดิการ” โดยเขายืนยันว่ามีส่วนช่วยได้อย่างมากแม้จะไม่ทั้งหมด 

นพ.โอฬาริก ยกตัวอย่างว่า ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย (หรือประเทศในกลุ่มนอร์ดิก สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ รวมถึงประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ไอซ์แลนด์ และฟินแลนด์) ที่มีการตั้งท้องในกลุ่มผู้หญิงในช่วงอายุที่เหมาะสมจำนวนมาก 

เพราะความพร้อมแทบจะรอบด้านของนโยบายประเทศที่สนับสนุน อย่างเรื่อง “วันลาคลอดและอยู่ดูแลบุตร” ที่มีสิทธิ์ลาได้ต่อเนื่องถึง 200-365 วันต่อปี โดยที่สวีเดนให้ใช้วันลาได้มากที่สุดคือกว่า 400 วัน หรือบางประเทศให้วันลาทั้งสามี และภรรยา เพื่ออยู่เลี้ยงดูบุตร โดยรัฐมีระบบสวัสดิการที่อุดหนุนทั้งในด้านรายได้ ความมั่นคงทางการงาน รวมถึงมีระบบที่ช่วยเหลืออุดหนุนกับองค์กรทั้งรัฐ และเอกชนที่พนักงาน เจ้าหน้าที่มีบุตร หรือตั้งท้อง เกิดความสมดุลทั้งระบบของเศรษฐกิจ สังคม 

"คนที่ลาไปคลอดก็ได้กลับมาทำงาน ซึ่งก็ตอบโจทย์ในความมั่นคง รัฐสวัสดิการในประเทศแถบนี้ (สแกนดิเนเวีย) รวมถึงรายได้ เศรษฐฐานะของผู้คนในสังคมเกือบทั้งหมดอยู่ในฐานที่เหมาะสม จึงทำให้คนอยากมีลูก ซึ่งคนในสังคมอาจมองว่าการเกิดเป็นเรื่องปกติ แต่จะเห็นได้ว่ากลไกของรัฐ การวางระบบของรัฐสวัสดิการก็มีส่วนช่วยอย่างมาก" นพ.โอฬาริก สะท้อนมุมมอง 

ศูนย์เด็กเล็ก อีกหนึ่งทางเลือกช่วยกระตุ้นการเกิด

ไม่เพียงแต่การเอื้อให้ในเรื่องวันลา แต่หลายประเทศทั่วโลกทั้งที่มีจำนวนการเกิดของประชากรที่ลดลงยังใช้การสร้างศูนย์เด็กเล็ก หรือศูนย์เลี้ยง Daycare ที่พัฒนาเด็กเล็กปฐมวัยช่วง 2 ขวบขึ้นไป ในการเพิ่มการเกิดด้วย โดยประเทศที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น แคนาดา และญี่ปุ่น 

นพ.โอฬาริก บอกว่า ในแคนาดารัฐบาลหนุนให้มีศูนย์เด็กเล็กอยู่ในหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีแรงงานทั่วประเทศ รวมถึงร่วมกับองค์กรในด้านการอุดหนุนการจ้างบุคลากรร่วมกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐ พนักงานของเอกชน หรืออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน ที่เป็นพ่อ และแม่ไม่ได้ห่างจากลูกในวัยเล็ก และยังได้ทำงานควบคู่ไปด้วย 

"องค์กรเอกชนรักษาพนักงานเอาไว้ได้ ภาคส่วนที่ใช้แรงงานก็มีพนักงานในการผลิตต่างๆ พนักงานก็ยังทำงานได้ อยู่ใกล้ลูกเล็ก ซึ่งสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะบุคลกรเพศหญิง" นพ.โอฬาริก กล่าว

นพ.โอฬาริก บอกอีกว่า งานวิจัยจากหลายประเทศพบว่าปัจจุบันเพศหญิงเองก็ต้องการความมั่นคงทางการงานเหมือนกัน เพราะคือสิ่งสะท้อนคุณค่าในชีวิตของตัวเอง การที่งานหายไป หรือต้องหยุดทำงานเพราะต้องไปเลี้ยงลูกก็เป็นอีกหนึ่งความเจ็บปวดของเพศหญิง และสิ่งนั้นคือประเด็นสำคัญที่แคนาดาให้การใส่ใจ 

ส่วนญี่ปุ่น นพ.โอฬาริก อธิบายว่า รัฐบาลใช้กระตุ้นการเกิดประชากรด้วยการหนุนงบประมาณให้แต่ละจังหวัดได้พัฒนาศูนย์เด็กเล็กแบบแข่งขันกัน พอแต่ละจังหวัดยิ่งมีไอเดีย ยิ่งมีระบบจัดการเพิ่มเติมได้มากขึ้น ซึ่งจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลช่วยเป็นงบประมาณ ก็ทำให้แต่ละจังหวัดยิ่งเกิดการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการเพิ่มสวัสดิการทั้งทางด้านรายได้สำหรับวัยแรงงานให้อยู่ในระดับสูงขึ้นทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้มีรายได้ไปเลี้ยงลูก และอีกมากมาย  

สิ่งที่ตามมาคือทำให้คนเริ่มอยากมีลูก ก็ตัดสินใจมีลูก คนที่ลังเลก็อาจตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และเกิดการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในจังหวัดที่มีศูนย์เด็กเล็กที่ดี ที่เหมาะสมกับครอบครัว หรือแผนของครอบครัว สำหรับให้ลูกได้เข้าไปอยู่ในสถานที่ดีๆ ซึ่งก็คือผลที่เกิดจากการแข่งขัน และน่าติดตามต่อไปว่าระบบนี้ที่ญี่ปุ่นเริ่มขึ้นจะได้ผลมากน้อยขนาดไหน

2

Google-Facebook ให้โควตา 'เก็บไข่' พร้อมเมื่อไหร่ไปท้อง

นพ.โอฬาริก ยกอีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจถึงแนวทางการกระตุ้นการเจริญพันธุ์ในองค์กรขนาดใหญ่ของต่างประเทศ อย่าง Google และ Facebook สององค์กรระดับโลก ที่มีการให้โควตา หรือสิทธิพิเศษสำหรับพนักงานหญิงสามารถ “เก็บไข่ที่พร้อม” เอาไว้ได้ระหว่างเป็นพนักงาน และเมื่อพร้อมต้องการมีลูกก็มานำไปดำเนินการต่อ 

"เพื่อให้บุคลการ หรือพนักงานพวกเขาได้ทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อพร้อมที่อยากท้องก็ค่อยไปท้อง แต่ประเด็นนี้ก็มีการพูดคุยในหลายเวที มีการดีเบตจากหลายองค์กร ทั้งภาคส่วน NGO ภาคการเมืองของสหรัฐอเมริกาเองก็เช่นกัน ที่มองว่าอาจะเป็นการไม่ยุติธรรม ที่องค์กรจะรีดความสามารถพนักงาน และดีเลย์การตั้งครรภ์ออกไปจากช่วงอายุที่เหมาะสม" นพ.โอฬาริก ชี้จุดที่ยังมีข้อถกเถียงของแนวทาง 

นอกจากมาตรการต่างๆ ขององค์กรแล้ว วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และแนวปฏิบัติก็เป็นอีกปัจจัยที่กำหนดอัตราการเกิด นพ.โอฬาริก ให้อีกมุมจากประสบการณ์ที่เคยได้เห็นว่า ในบางประเทศกลับมีแนววัฒนธรรมปฏิบัติดั้งเดิม หรือลงลึกไปถึงระดับท้องถิ่นที่มีเป็นส่วนช่วยเพิ่มอัตราการมีลูก เช่น อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในตัวอย่าง โดยเฉพาะภาคชนบท หรือนอกเมือง ที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อเป็นสาว ก็จะมีคู่และแต่งงานมีลูกเป็นครอบครัวเลย นั่นเพราะผู้หญิงต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูลูก ดูแลบ้าน

ทางออกสำหรับประเทศไทย

กลับมามองที่ประเทศไทย ตอนนี้สังคมเริ่มเห็นและรับรู้ถึงปัญหา บ้างเห็นถึงผลกระทบข้างหน้า บ้างเริ่มรับรู้ถึงปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญสุดคือในระดับผู้กำหนดนโยบายอย่างรัฐบาล ซึ่ง นพ.โอฬาริก เชื่อว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลก็เล็งเห็นถึงปัญหา และผลกระทบที่จะตามมาในระยะยาว 

สำหรับ โดยส่วนตัวของ นพ.โอฬาริก เขามีแนวคิดจะจัดการปัญหานี้เพื่อไปสู่ความยั่งยืนคือ ต้องมองในภาพรวมของปัญหา เพื่อให้เห็นโครงสร้างของประชากรที่พร้อมมีลูก กำลังจะพร้อม และนำตัวเลขนี้จัดกลุ่มประชากร ซึ่งจะทำให้รัฐบาลจัดนโยบายเพื่อกระตุ้นการมีลูกจากแคมเปญ-โครงการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

“เมื่อมีกรุ๊ปปิ้งของประชากร จะเห็นภาพของการที่ต้องลงลึกรายละเอียดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่จะชัดเจนขึ้น ซึ่งการจัดกรุ๊ปปิ้งจะช่วยรัฐบาลบริหารจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ของประเทศเพื่อมาเดินหน้าเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่รัฐบาลต้องกรุ๊ปปิ้งประชากรให้ชัดๆ” นพ.โอฬาริก กล่าว

ตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่ไม่อยากมีลูก รัฐบาลอาจตัดทิ้งไปได้เลย อาจไม่ต้องเน้นนโยบาย หรือสร้างการรับรู้ กลุ่มต่อมาคือคนที่อยากมีลูก รัฐบาลอาจเสริมด้วยการเข้าถึงเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ได้ แต่กลุ่มเป้าหมายต้องชัดเจน รวมถึงนโยบายการสนับสนุนเพื่อกระตุ้นว่าอย่างไร ช่วยทั้งหมด ช่วยส่วนมาก ประชาชนจ่ายส่วนน้อย และกลุ่มนี้ค่อนข้างสำคัญอย่างมาก 

3

นพ.โอฬาริก กล่าวต่อไปว่า หากเอานโยบายเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ไปเจาะกลุ่มนี้ ควรต้องดำเนินการผ่านแนวคิด 4P คือ 1. Patient ที่มองว่ากลุ่มนี้อาจเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะมีบุตรยาก และอาจต้องได้รับการรักษา ซึ่งจะนำไปสู่สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ต่างๆ 2. Provider ผู้ให้บริการที่ต้องมีบุคลากรด้านสูตินรีแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องเตรียมการ 

3. Public สร้างการรับรู้ให้กับสังคมเกี่ยวกับภาวะการมีบุตรยากครบทุกมิติ และ 4. Policymaker หรือผู้กำหนดนโยบายที่เห็นแล้วว่าจะต้องเสริมมาตรการเป็นนโยบายอื่นๆ เพื่อกระตุ้นไปพร้อมกันด้วย และนโยบายต้องมีความยั่งยืน เป็นสวัสดิการที่ “จุใจ” และ “ให้เต็มที่”

"รัฐบาลอาจเพิ่มเป็นเงินอุดหนุนที่เหมาะสมสำหรับเด็กแรกเกิด หรือให้ลดหย่อนภาษีค่าเทอมบุตรแบบจุใจ 100% ไปเลย ทุกโรงเรียนทุกระดับ คนที่ส่งลูกเรียนค่าเทอมเป็นล้านได้ก็ต้องได้รับสวัสดิการนี้เหมือนกัน หรือเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ขวบ เดือนละ 600 บาท แต่ไม่ใช่การให้ถ้วนหน้า ผมมองว่าก็ยังดีกว่าไม่มี แต่แน่นอนในความจริง เงิน 600 บาทต่อเดือนไม่ได้จูงใจให้อยากมีลูกเลย

“แม้แต่เรื่องสิทธิวันลา ที่ประเทศไทยมีกฎหมายให้ลาคลอดบุตรได้ 90 วัน แล้วต้องจำใจห่างลูกกลับไปทำงานไปก่อน แต่หากรัฐขยายวันลาให้ถึงจุดที่เหมาะสม หรือมีนโยบายให้คุณแม่เด็กเล็กเมื่อกลับไปทำงาน สามารถยืดหยุ่นเวลาทำงาน แต่รับค่าจ้างตามชั่วโมงที่ทำงานที่ลดลง ซึ่งสิ่งที่จะได้กลับมาคือเวลาไปเลี้ยงดูลูกได้ และก็ยังทำงานได้ เขามีโอกาสบาลานซ์ชีวิต อันนี้ก็น่าจะช่วยให้ผู้หญิงอยากมีลูก" นพ.โอฬาริก สะท้อนมุมมอง

นพ.โอฬาริก บอกว่า หากทำเหล่านี้ได้ก็อาจเป็นนโยบายการกระตุ้นให้มีลูก ที่ใช้เทคโนโลยีการแพทย์ และแรงขับทางสังคม โดยที่รัฐบาลเป็นคนออกแบบ เหมือนกับตัวอย่างที่อีกหลายประเทศที่เริ่มจัดการอย่างจริงจังกับปัญหานี้ 

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องนี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันจริงๆ สังคมอาจยังรับรู้น้อย หรือบางคนรู้สึกเฉยๆ เพราะคิดว่าไม่เป็นปัญหาของตัวเอง แต่จริงๆ คือเป็นปัญหาของทั้งสังคม ภาคเศรษฐกิจเริ่มรับรู้ ภาคอุตสาหกรรมเริ่มกังวล แต่ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลต้องเห็นก่อน และจำต้องขยับก่อนเพื่อแก้ปัญหา 

"สรุปคือเป็นปัญหาที่ทุกภาคตส่วนต้องมาช่วยกันแก้ แต่ถามว่าใครต้องเริ่มก่อน ก็ต้องรัฐบาลต้องเริ่มก่อนเลย" ผู้อำนวยการกองอนามัยมารดาและทารก ทิ้งท้าย