ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงบ่ายวันที่ 22 ก.ย. 2566 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างเป็นทางการของเบอร์หนึ่ง และเบอร์สองของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มาจากฝ่ายการเมือง อย่าง “หมอชลน่าน” หรือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) และ “สันติ” สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข

ที่ได้มอบนโยบาย ซึ่งจะเป็นเข็มมุ่งต่อจากนี้ไปอีก 4 ปี ให้กับบุคลากรในสังกัด สธ. ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคทั้ง 13 เขต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศราว 5 แสนคน ผ่านแนวคิด "พี่เล่าให้น้องฟัง รวมพลัง แล้วไปกันต่อ" 

ภายในหอประชุมใหญ่โอ่โถงสถานที่จัดงาน ด้านหน้ามีเวทียกพื้น ขนาบสองข้างด้วยจอแสงสีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นจุดดึงสายตาที่โดดเด่นก่อนทุกคนจะยหย่อนตัวนั่งลงบนเก้าอี้ ฝั่งซ้ายคือ โลโก้ “30 บาท Plus” ที่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ส่วนฝั่งขวาเป็นโลโก้ "MOPH Plus"  

ทั้ง 2 สัญลักษณ์ที่โชว์อยู่ในเวที บ่งบอกให้เห็นอย่างชัดเจนว่านโยบายของ “หมอชลน่าน” คือการยกระดับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ซึ่ง “หมอชลน่าน” เรียกว่า “30 บาท” โดยเคยให้เหตุผลว่าเป็นแบรนด์ดิ้ง ไม่ได้มีนัยยะใดๆ หรือต้องการเก็บค่าบริการเพิ่ม

2

นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความต้องการเปลี่ยนการทำงานของ สธ. ให้เป็น “สาธารณสุขยุคใหม่” ที่จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนงานด้านสาธารณสุข 

“สันติ” เป็นคนแรกที่เปิดวงประชุมมอบนโยบาย และยังเป็นเพียงไม่กี่ครั้งตั้งแต่รับตำแหน่งเบอร์สอง สธ. ที่ได้เผยถึงแนวทางการขับเคลื่อนของตน เพราะที่ผ่านมาน้อยครั้งที่จะเห็นเขาออกสื่อยืนเคียงคู่ “หมอชลน่าน” โดยบอกว่า ในฐานะ รมช.สธ. มีความตั้งใจ และ พร้อมสนับสนุนการทำงานตามนโยบายของ “หมอชลน่าน” ทุกอย่าง 

เพื่อยกระดับบริการสุขภาพ และสาธารณสุของประเทศ ให้มีความสามารถมากขึ้นในการดูแลสุขภาพอนามัย และนำไปสู่ความพึงพอใจของประชาชนคนไทยทุกคน 

นอกจากนี้ ยังยกว่าการดูแลสุขภาพถือเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ ที่จะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย โดยเฉพาะ “บุคลากรทางการแพทย์” ที่เป็น “ข้าราชการ” และ “ฝ่ายการเมือง” ที่ต้องมาทำงานร่วมกันผ่านการ “ยึดประโยชน์” ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งสองฝ่ายต้องทำงาน “คู่กัน” อย่างแยกจากกันไม่ได้ พร้อมทั้งชื่นชมการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นเลิศ 

“สันติ” ยังพูดถึงการยกระดับ “30 บาท” และที่สำคัญยังได้เน้นย้ำนโยบายสำคัญที่ตนอยากลุยขับเคลื่อน ซึ่งก็คือ “เติมแพทย์ลงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” (รพ.สต.) กว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ให้มีแพทย์หมุนเวียนประจำ รพ.สต. แห่งละ 3 คน ซึ่งเป็นโครงการและนโยบายที่จะผลักดัน โดยจะผลิตแพทย์เพื่อเข้าสู่ รพ.สต.ประมาณ 2.5 หมื่นคน ใช้ระยะเวลา 12 ปี กับงบประมาณ 1 แสนล้านบาท 

อันมีเงื่อนคือคัดเอา “เด็กเรียนเก่งที่สุด” ในภูมิลำเนาเข้ามาเรียนแพทย์ เมื่อเรียนจบออกมา ให้กลับไปประจำ รพ.สต. ในภูมิลำเนา พร้อมกับหมุนเวียนในจังหวัด 

"นพ.ชลน่านเห็นด้วยแล้วกับเรื่องนี้ และพร้อมจะผลักดันให้ รพ.สต. มีแพทย์ประจำอยู่ด้วย ซึ่งก็จะเป็นลูกหลานของชุมชน ของจังหวัดเองที่มาเรียนหมอ แล้วกลับไปเป็นหมอในพื้นที่ของตัวเอง แต่ละจังหวัดอยากได้กี่คนก็ให้ผลิตตามจำนวนที่ต้องการ" สันติ กล่าวในระหว่างมอบนโยบาย

2

พอจบช่วงของ “สันติ” ต่อไปคือคิวของ “หมอชลน่าน” ออกโรง โดยมาในสไตล์ทันสมัย สวมไมค์ลอยเป็นก้านติดแนบแก้มขึ้นเวที ไร้โพเดียมกั้น ให้สมกับ “พี่มาคุยกับน้อง” อย่างจริงใจ 

สิ่งที่น่าสนใจนอกจากนโยบายที่จะมอบ ซึ่งทุกคนพอเห็นทิศทางกันแล้วว่าจะเป็นอย่างไร ก็คือ การแนะนำ รมช.สธ. โดยเรียกว่า "หมอสันติ" รวมถึงย้ำถึงความสำคัญของ “หมอสันติ” ที่จะเข้ามาช่วยทำงานขับเคลื่อน และยกระดับกระทรวงไปด้วยกัน ปะหนึ่งเพื่อให้หมอทั่วประเทศยอมรับในตัว รมช.สธ. ที่ไม่มีคำว่า “นายแพทย์” นำหน้า

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือเสียงปรบมือที่ดังสนั่นในห้องประชุม พร้อมกับรอยยิ้มเต็มใบหน้าของ “หมอสันติ” 

หลังจากนั้น “หมอชลน่าน” ยังได้แนะนำที่ปรึกษา รมว.สธ. ที่มีอยู่ทั้งหมด 4 คน และแต่ละคนก็เรียกว่าเป็น "บิ๊กเนม" ในวงการเมือง วงการกฎหมาย และแม้แต่วงการหมอก็ด้วย 

เริ่มจาก “วิชาญ มีนชัยนันท์” อดีตนักการเมือง และยังเคยดำรงตำแหน่ง รมช.สธ. มาก่อน ต่อมาคือ หมอก้อย พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ซึ่งเป็นภรรยา “นอ.ต.นพ.พลเทพ สุนทโร” ทำหน้าที่เลขานุการ รมว.สธ. และสุดท้า “สุขุมพงศ์ โง่นคำ” อดีต ส.ส. และเป็นอาจารย์ด้านกฎหมายของ “หมอชลน่าน” 

อีกทั้งยังได้ทิ้งท้ายการแนะนำว่า "แต่หมอก้อยนี่ดังสุด ดังมา 3 วันแล้ว และมีแฮชแท็กด้วย คือ #ตั้งเมียเป็นที่ปรึกษา" เรียกเสียงฮือฮาจากห้องประชุมอีกรอบ 

“หมอชลน่าน” บอกว่าเป้าหมายวันนี้คือมาคุยบนบรรยากาศของพี่น้อง กับบุคลากรทางการแพทย์ของเราที่มาร่วมรับผิดชอบบ้านเมือง รับผิดชอบด้านสุขภาพของประเทศร่วมกัน 

ส่วนสิ่งที่ต้องการจากรัฐบาล ที่เข้ามาบริหารประเทศ หรือสิ่งที่คาดหวัง ก็ไม่ต่างจากบุคลากรของ สธ. ที่ต้องการเห็นคนไทยสุขภาพดีครบทุกมิติ และที่ผ่านมา บุคลากรทุกคนเข้าใจและเดินหน้าสุขภาพให้กับประชาชนอย่างเต็มกำลัง  

3

ในตอนหนึ่งของการมอบนโยบาย “หมอชลน่าน” ได้พูดถึงเรื่องการจัดการกำลังคน ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศจับตามองมาตลอด เพราะนี้ถือเป็นอีกหนึ่งจุดชี้ขาดก็ว่าได้ ว่า สธ. มีบุคลากรกว่า 5 แสนคน และยังมีหน้าที่ไม่เหมือนใคร หลายส่วนของหน้าที่ ไปใช้เทคโนโลยีไม่ได้ ใช้ระบบเพื่อทดแทนคนไม่ได้ เพราะ สธ. เป็นองค์กรวิชาชีพ ต้องใช้ความสามารถของบุคคลเป็นหลัก นั่นก็คือแพทย์ เครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาแบ่งเบางานเท่านั้น แต่แพทย์เองต้องเป็นคนให้การรักษาพยาบาล 

ที่ผ่านมา สธ. อยู่ภายใต้ “ก.พ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ที่ดูทั้งระบบของกำลังคน และในปี 2545 ซึ่งมีนโยบายลดกำลังคน ก็ส่งผลกระทบกับบุคลากรทางการแพทย์ยอย่างมาก เพราะจำกัดจำนวนคนโดยใช้งบประมาณ 

"แต่โชคดี ที่เรายังมีโอกาสอยู่ นั่นคือ เงินบำรุง กับเงินนอกงบประมาณ ที่ยังพอมีอยู่เพื่อมาบริหารจัดการ แต่หากเราแก้ปัญหาได้ในเรื่องของโครงสร้างบุคลากร ด้วยการจับมือกันเดินหน้า เอาเหตุผล เอาความจำเป็นของพวกเรา ไปสู้กับ ก.พ.” หมอชลน่าน กล่าว

เพื่อให้มีคณะกรรมการข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (.สธ.) เป็นของเราเอง เราจะมีกฎหมายตัวเอง สามารถจัดระบบการจัดสรรคกำลังคนลงไปในระบบบริการสุขภาพได้เอง เราจะไปต่อได้อย่างดี ผมเองจะดันเรื่องนี้" วรรคตอนหนึ่ง ที่ “หมอชลน่าน” ย้ำกับที่ประชุม และเรียกเสียงปรบมือดังสนั่นอีกครั้ง

ไม่รู้ว่าความพยายามครั้งนี้ของ “หมอชลน่าน” จะสำเร็จหรือไม่ แม้จะเคยพูดว่าภายในปี 2568 ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด สามารถตกลงกับ ก.พ. ได้ นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ ก.สธ. จะเกิดขึ้นก็ตาม เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว ก่อนที่จะถูกพับเก็บใส่ชั้นจนฝุ่นเกาะ

แต่ที่แน่ๆ ถ้าไม่สามารถทำได้ หลายอย่างที่ “หมอชลน่าน” อยากไปให้ถึง โดยเฉพาะยกระดับ “30 บาท พลัส” อาจต้องเจอแรงเสียดทานมากทีเดียวจากบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ เพราะมีหลายนโยบายที่หากไม่มีการจัดการในฝั่งผู้ให้บริการให้ดีจะกลายเป็นดาบสองคม ที่ฝั่งหนึ่งหันมาที่ตัวเองอย่างแน่นอน

3