ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

'หมอชลน่าน' เผยเลือก 'เขตดอนเมือง' นำร่องนโยบาย 50 รพ. 50 เขตในกทม. เพราะได้ที่ดินมาแล้ว เหลือแค่รองบพร้อมสร้างทันที ส่วนเขตอื่นถ้าพร้อมขึ้นได้เลย เผยสเปกโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ต้องมีขนาด 120 เตียง บางเขตต้องสร้างใหม่ บางเขตพัฒนารพ.สังกัดกทม. หวังเป็น 'บ้านแพ้ว' แห่งที่สองของประเทศ 


นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังการประชุมมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ถึง นโยบาย 50 เขตโรงพยาบาล 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า นโยบายดังกล่าวเกิดจากช่วงโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาด ประชากรที่อาศัยอยู่ใน กทม. ไม่มีโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิเพื่อรักษาตัว เนื่องจากจำนวนของหน่วยบริการมีจำกัด อีกทั้งโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ส่วนใหญ่ให้บริการระดับปฐมภูมิ ดังนั้น จึงนำไปสู่นโยบายให้มีโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง ประจำทุกเขตในพื้นที่ กทม. ให้ครบทั้ง 50 เขต 

"รูปแบบของโรงพยาบาลทั้ง 50 เขต จะเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง โดยบางเขตอาจจะสร้างขึ้นมาใหม่ หรือบางเขตจะใช้โรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมทั้งในส่วนของ กทม. และโรงพยาบาลสังกัด สธ. แต่พัฒนาให้ได้ตามเงื่อนไขที่ต้องการ หรือปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้บริการกับประชากรที่อาศัยในกรุงเทพฯ ทั้งหมด" นพ.ชลน่าน กล่าว 

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นพื้นที่นำร่อง ที่เลือกเขตดอนเมือง เป็นพื้นที่แรกในการทำนโยบาย 50 โรงพยาบาล 50 เขต กทม. นั้น เป็นเพราะขณะนี้ สธ. ได้ที่ดินในเขตดอนเมืองมาแล้ว ซึ่งพร้อมจะสร้างโรงพยาบาลขนาด 120 เตียงขึ้นมาใหม่เลย โดยไม่ใช่การใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลในสังกัดกองทัพอากาศ เพียงแต่ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดหางบประมาณเพื่อดำเนินการสร้าง ซึ่งหากมีความพร้อมครบทุกด้านก็สร้างได้เลย 

"โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มีเยอะ แต่การจัดการยังไม่เป็นระบบ เราจึงต้องเข้ามาแก้เรื่องนี้ ในการพัฒนา หรือสร้างอาคารสถานที่ ให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 120 เตียง แต่ช่วงนี้ถ้าเขตอื่นพร้อมก็พัฒนาเลย การให้บริการสุขภาพของประชาชนในกรุงเทพฯ จะช้าเกินไป"

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ต้องการให้โรงพยาบาลใน กทม. เป็นเหมือนโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ที่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ และยังป็นองค์กรมหาชน ถ้าหากทำได้ก็จะเป็นแห่งที่ 2 ของประเทศไทย และสธ.จะแก้ปัญหาการจัดการที่ผ่านมาในกรุงเทพฯ ทั้งหมด