ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์โรงพยาบาลชุมชนสะท้อน ‘ผลิตหมอประจำถิ่น-หมุนเวียนหมอลง รพ.สต.’ ไม่ต่างกับสิ่งที่ สธ.เคยทำ แนะ ควรมีระบบอื่นสนับสนุนเพื่อให้ระบบดีขึ้น 


พญ.(ไม่ประสงค์ออกนาม) จากโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เปิดเผยกับ “The Coverage” กรณีที่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงแนวคิดการสร้าง “หมอประจำถิ่น” เพื่อกระจายลงสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยคัดเลือกเด็กมัธยมเข้ามาเรียนต่อในโรงเรียนแพทย์และกระจายออกตามพื้นเดิม รองรับแนวทาง 1 รพ.สต. มีแพทย์หมุนเวียน 3 คนว่า แนวคิดการผลิตแพทย์เพิ่มไม่ต่างจากสิ่งที่ สธ. เคยทำมาในการผลิตแพทย์ลงชุมชน หากทำแล้วไม่มีระบบอื่นสนับสนุนควบคู่กันมาก็เหมือนเป็นการเติมน้ำในถังที่รั่ว ส่วนตัวจึงมองว่าไม่ได้ต่างอะไรจากเดิมที่เคยทำ 

ทั้งนี้ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน สธ. มีโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) และก่อนหน้านั้นก็มีโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งชุมชน (ODOD) ส่วนตัวเข้าใจว่าต้องใช้ทุนนานมากกว่า ซึ่งเด็กบางคนอาจจะยังเห็นตัวเองไม่ชัด แต่เพียงเพราะอยากเข้าแพทย์จึงหาโครงการที่ทำให้ได้ติดแพทย์ ทำให้บางคนมีโอกาสเป็นทุกข์กับการติดทุน และเมื่ออยู่หน้างานก็คิดว่าอาจจะไม่ได้อยู่ที่นี่ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นหากทำระบบให้ดีเพื่อให้คนอยากอยู่ และเอื้อให้คนอยู่ได้อย่างมีความสุขก็ไม่จำเป็นต้องมีสัญญาผูกพัน 

“ตอนนี้เราจะมาจับต้นชนปลายตรงไหนเพื่อให้ระบบดีขึ้น ถ้าไปตั้งโจทย์ว่าเมื่อไหร่หมอจะพอก็เหมือนกับมาตั้งโจทย์ตรงกลางน้ำ แต่จริงๆ มันควรจะเปลี่ยนคำถามใหม่ให้กว้าง และองค์รวมกว่าเดิมว่าตอนนี้กำลังเผชิญกับอะไร ระบบสาธารณสุขกำลังจะล่มสลายหรือเปล่า และต้องการการสนับสนุนจากตรงไหนนอกจากผลิตแพทย์เพิ่ม” พญ.(ไม่ประสงค์ออกนาม) กล่าว 

พญ.(ไม่ประสงค์ออกนาม) กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีหมุนเวียนแพทย์ไปยัง รพ.สต. นั้น ส่วนตัวยกตัวอย่างจากโรงพยาบาลที่อยู่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่มีแพทย์ทั้งหมด 25 คน ดูแล รพ.สต. ทั้งหมด 18 แห่ง ขณะเดียวกันก็ต้องแยกแพทย์เฉพาะทางในแต่ละสาขาออกไป เนื่องจากข้อจำกัดในการตรวจผู้ป่วยประมาณกว่า 10 คน เพราะเมื่อเรียนลึกลงไปแล้วอาจจะไม่สามารถกลับมาตรวจทั่วไปได้ ก็ต้องเข้าจำกัดตรงนี้ ฉะนั้นจะเหลือแพทย์ที่สามารถตรวจทั่วไปได้ประมาณ 13 คน หากลองมองตัวเลข รพ.สต. 18 แห่งกับแพทย์ 3 คน เท่ากับว่าจะต้องใช้แพทย์ในโรงพยาบาลทั้งหมด 54 คน ซึ่งไม่พอ

นอกจากนี้ หากมีนโยบายดังกล่าวเข้ามาในรัฐบาลชุดนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเหมือนกับตอนเพิ่มแพทย์ ODOD ซึ่งใช้เวลาเกือบ 10 ปี ซึ่งกว่าจะเรียนจบก็อาจไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่แน่ว่านโยบายจะไม่ถูกเปลี่ยน ฉะนั้นอาจทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง ส่วนการหมุนแพทย์ลง รพ.สต. ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีตเคยมีการทำไปแล้ว

“บางครั้งก็ต้องมาดูอัตราการผลิตและรั่วไหลออกนอกระบบด้วยว่าทำไมทำการที่ผลิตแบบเพิ่มแบบนี้มากี่ปีแต่ก็ยังไม่พอสักที แม้จะมีข้อดี แต่บางครั้งก็อาจจะต้องมาดูว่าเราเคยมีความพยายามแบบนี้มาแล้วหรือไม่ หากมี แล้วอะไรที่ทำให้ตอนนี้ยังไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้

“ในฐานะที่เป็นหมอชุมชนมา 15 ปี การจะทำให้ระบบอยู่ได้มีหลายอย่าง ทั้งภาระงานที่เหมาะสม หรือมีสหวิชาชีพที่จะสนับสนุน” พญ.(ไม่ประสงค์ออกนาม) ระบุ