ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘แพทยสภา’ ประชุมร่วม ‘หมอชลน่าน’ ครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง พบมีหลายข้อเกี่ยวข้องผลิตแพทย์-พัฒนาแพทย์-ดึงแพทย์อยู่ในระบบ หวังนโยบายสร้างขวัญและกำลังใจช่วยแก้ปัญหาบุคลากร หากออกจาก ก.พ. อาจช่วยปรับตำแหน่ง-ค่าตอบแทน-ปรับบุคลากรเหมาะกับพื้นที่ง่ายขึ้น 


พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยกับ “The Coverage” ถึงการประชุมกรรมการแพทยสภาครั้งที่ 10/2566 เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) สภานายกพิเศษของแพทยสภาเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก ว่า ทาง รมว.สธ. ได้มีการนำเสนอนโยบายสาธารณสุข เพื่อขอความร่วมมือกับกรรมการแพทยสภา เพราะการทำงานจะต้องเชื่อมโยงกันระหว่างแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข แพทย์ทหาร แพทย์ตำรวจ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยแพทย์ในการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป 

1

สำหรับนโยบายที่ทาง รมว.สธ. ได้เสนอมานั้นพบว่ามีหลายข้อที่เกี่ยวโยงกับการผลิตแพทย์ พัฒนาแพทย์ และการทำให้แพทย์คงอยู่ในระบบ รวมไปถึงการพัฒนาระบบให้บริการประชาชนทั้งปฐมภูมิ การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย การดูแลผู้สูงวัย การแพทย์ชายแดน เทเลเมดิซีน ฯลฯ โดยทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนผ่านแพทยสภาทั้งในกระทรวงและนอกกระทรวง 

พล.อ.ท.นพ.อิทธพร กล่าวว่า โดยเฉพาะนโยบายข้อ 5 ที่ระบุถึงเรื่องการสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรแพทย์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของแพทย์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่แพทยสภาคาดหวังเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันภาระงานของแพทย์เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก และไม่ใช่เพียงแค่แพทย์อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงบุคคลากรทางการแพทย์ในวิชาชีพอื่นด้วย เพราะต้องทำงานกันเป็นทีม 

4

ทั้งนี้ ทาง รมว.สธ. เองก็มีนโยบายที่จะสร้างขวัญและกำลังใจ เช่น การเพิ่มบุคลากรให้เหมาะสม ลดภาระงาน ไปจนถึงนโยบายที่จะเคลื่อนออกจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นคณะกรรมการข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (ก.สธ.) ที่เคยมีการขับเคลื่อนมาแล้วหลายสมัย ซึ่งจะทำให้สามารถปรับบุคลากรให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงค่าตอบแทน หรือการปรับตำแหน่งได้สะดวกมากขึ้น

พล.อ.ท.นพ.อิทธพร กล่าวทิ้งทายว่า นอกจาก รมว.สธ. จะเคยเป็นแพทย์ใน สธ. มาแล้วก็ยังเคยเป็น รมช.สธ. มาก่อน ฉะนั้นจึงรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถสานต่อได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยังสามารถตอบรับปัญหาได้อย่างเข้าใจ ทั้งนี้แพทยสภาก็จะติดตามรายละเอียดของแต่ละนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่จะ ออกมาเพิ่มเติม และพร้อมจะสนับสนุนทุกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลวงการแพทย์เพื่อประชาชน