ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘หมอชลน่าน-สันติ’ แจงนโยบายสาธารณสุข 13 ด้านแก่ผู้บริหารระดับสูง สธ. ชู ’30 บาทพลัส’ ยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพ พร้อมดูแล ‘บุคลากรทางการแพทย์-อสม.’ ส่งเสริมความก้าวหน้า-ความมั่นคง-ความเป็นมนุษย์


วันที่ 15 ก.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. วาระพิเศษ ในเรื่องแนวทางการบริหารงานสาธารณสุข ร่วมกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข พร้อมด้วย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษา รมว.สธ. และ น.ต.นพ.พลเทพ สุนทโร เลขานุการ รมว.สธ. ว่า วันนี้ในฐานะเจ้าภาพฝ่ายการเมือง ได้มาพบผู้บริหารทางด้านสาธารณสุข เพื่อพูดคุย ปรึกษาหารือถึงความพร้อมในการทำหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชน จนได้ออกมาเป็นแนวนโยบาย ซึ่งได้ยึดตามนโยบายของรัฐบาล 

ทั้งนี้ นโยบายสำคัญก็คือการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยจะใช้ชื่อว่า ‘30 บาท พลัส’ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค รวมถึงการดูแลรักษา ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพร่างกาย ซึ่งได้กำหนดนโยบายที่จะรองรับในส่วนนี้เป็นการเฉพาะไว้ทั้งหมด 13 ด้าน ได้แก่ 1. การดูแลสาธารณสุขในเขตเมือง ที่จะมุ่งเน้นไปที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามนโยบาย 50 เขต 50 โรงพยาบาล

2. สุขภาพจิต และยาเสพติดในขอบข่ายด้านสาธารณสุข ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางมา โดยมั่นใจว่าจะการทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะทำให้ผู้เสพ ที่ถือเป็นผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตสู่สังคมได้อย่างปกติ 3. มะเร็งครบวงจร โดยเป็นอีกส่วนที่ สธ. ค่อนข้างให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะโรคมะเร็งเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดเชื้อที่ทำลายชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งนโยบายเด่นที่ประกาศไว้คือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก สำหรับเด็ก 9-15 ปี โดยจะอยู่ในเป้าหมาย 100 วันแรก 

 4. สร้างขวัญกำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่แพทย์ ไปจนถึง อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) โดยจะทำให้คนที่ทำหน้าดูแลสุขภาพ ตลอดจนเป็นต้นแบบของคนสุขภาพดี ทำงานด้วยความสุข มีความก้าวหน้า มีความมั่นคง และอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี และมีความเป็นมนุษย์ 5. การให้บริการทางการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่ง สธ. จะใช้จุดนี้ในการขยายเครือข่ายเชื่อมโยงกับการขยายแม่ข่ายของโรงพยาบาลชุมชน 

6. สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ 7. สถานชีวาภิบาล สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงระยะสุดท้าย 8. พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย 9. ดิจิทัลสุขภาพ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกลาง เพื่อที่จะใช้ในการให้บริการดูแลประชาชน เพราะฉะนั้นมั่นใจว่านโยบายการใช้บัตรประชาชนใบเดียว จะช่วยให้เพิ่มการเข้าถึงบริการได้ตามความจำเป็นอย่างสะดวกยิ่งขึ้น 

“quick win ที่ตั้งเป้าหมายไว้ใน จะมีมากกว่า 1 ด้านของทั้ง 13 เรื่อง เรื่องที่สามารถทำให้เสร็จได้ภายใน 100 วัน หรือ 3 เดือนได้ เช่น เรื่องของวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV 4 ล้านโดสภายใน 3 เดือนอันนี้คือ quick win ที่สมบูรณ์แบบ” รมว.สาธารณสุข ระบุ

10. ส่งเสริมการมีบุตร รวมถึงการทำให้เด็กเกิดใหม่เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีปริมาณที่สอดคล้องเหมาะสม เนื่อจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมขณะนี้ไม่เอื้อเท่าไหร่นัก ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สธ. และหน่ววยงานที่เกี่ยวข้องที่จะขับเคลื่อนเพื่อทำให้เกิดความพร้อมในทุกมิติ ท้ายที่สุดเชื่อว่าการวางรากฐานหลังจากนี้จะทำให้โครงสร้างประชากรที่เริ่มแปรปรวนจะดีขึ้น 

ที่ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตใกล้เคียงกับอัตราการเกิด ซึ่งอัตราการเกิดควรจะอยู่ที่ 2.1 ต่อแสนประชากร เหล่านี้จึงทำให้ประชากรที่จะก้าวเข้าสู่วัยแรงงานน้อยลง ขณะที่ระบบการดูแลสุขภาพดีขึ้น ทำให้จำนวนผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นจนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ 11. เศรษฐกิจสุขภาพ โดย สธ. นอกจากจะดูแลด้านสุขภาพแล้วยังได้ประกาศในการเป็นกระทรวงทางเศรษฐกิจ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ด้วย และ 12. นักท่องเที่ยวปลอดภัย เพื่อให้ความมั่นใจว่าถ้ามาเมืองไทยแล้วจะได้รับการดูแลในมิติทางสุขภาพอย่างเต็มที่ 

“ในการเลือกนำร่องใช้บัตรประชาชนใบเดียวนั้นก็เป็นใน Quick win โดยอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอยู่ มีหลายพื้นที่ที่มีความพร้อม แต่เราจะดูว่าพร้อมและดีที่สุด อาจจะเลือกมาสัก 1-2 เขต

“สธ. จะเป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพ เป็นหลังบ้านให้กับประเทศไทย เฝ้าระวังความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนทุกคนบนแผ่นดิน เพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศควบคู่กันไป” นพ.ชลน่าน กล่าว