ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.พิษณุโลก ชี้แม้มีบัตรทองมานานกว่า 20 ปี แต่ประชาชนยังไม่เข้าใจสิทธิที่พึงมีโดยเฉพาะการร้องเรียน หวังเดินหน้าเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องสิทธิบัตรทองที่ลึกขึ้น ไม่ใช่รู้แค่รักษาฟรีอย่างเดียว 


นายรุ่งฤทธิ์ เรืองรุ่ง ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กล่าวถึงการดำเนินงานของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.พิษณุโลก ว่ามีการดำเนินงานมาเกือบ 20 ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเครือข่ายหลักที่ช่วยในการทำงานคือกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เนื่องจากตนเคยเป็นประธาน อสม.จังหวัดพิษณุโลก จึงมีข้อได้เปรียบในด้านคอนสายสัมพันธ์กับ อสม. ในแต่ละอำเภอ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ทางเครือข่าย อสม. ในพื้นที่นั้นๆ ก็จะติดต่อแจ้งข้อมูลรายละเอียดมาให้ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.พิษณุโลก ทันที และทางหน่วยก็จะดำเนินการช่วยเหลือ แก้ไข หรือส่งเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการมาตรา 41 ให้เลย

นายรุ่งฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนข้อจำนวนการร้องเรียนที่เกิดขึ้นนั้น แต่ละปีจะมีกรณีร้องเรียนเข้ามาปีละหลายกรณี โดยเฉพาะการขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้นตามมาตรา 41 มีประมาณปีละ 2-3 เคส เช่น การคลอดลูกแล้วเสียชีวิตก็มีกรณีร้องเรียนมากพอสมควร บางครั้งก็เป็นเคสแปลกๆ เช่น ลืมอุปกรณ์ไว้ในร่างกายหลังผ่าตัด ซึ่งทางศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.พิษณุโลก ก็พยายามสื่อสารกับโรงพยาบาลเพื่อให้มีระบบป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะนี้

1

“หลายๆเคสมีความยาก เช่น มีเด็กถูกงูเห่ากัดแล้วแพทย์ไม่ได้ฉีดเซรุ่มเพราะวินิจฉัยแล้วไม่มีพิษเข้าสู่ร่างกาย แต่ประชาชนไม่เข้าใจ ต่อมาเด็กเสียชีวิตซึ่งจากการชันสูตรพบว่าไม่เกี่ยวกับงูกัด แต่เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ก็ต้องเข้าไปไกล่เกลี่ย 2-3 เที่ยวกว่าจะทำความเข้าใจกันได้ ซึ่งเราไม่ได้ต้องการเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่นะ สิ่งที่เราต้องการคือทำให้เกิดความพึงพอใจกันทั้ง 2 ฝั่ง เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็พลาดจริงๆ มีเคสหนึ่ง เด็กวิ่งชนกระจกจนแตก ปรากฏว่าเศษแก้วทิ่มแก้วตา แต่แพทย์ไม่ได้สังเกตเห็น ทำแผลแล้วให้กลับบ้าน เด็กก็ยังเจ็บอยู่ จนต้องพาไปโรงพยาบาลอื่น สุดท้ายเด็กตาบอด จนเกิดการร้องเรียนกัน หรือล่าสุดก็มีกรณีคลอดลูกแล้วเสียชีวิตแต่ไม่กล้าร้องเรียนเพราะกลัวมีปัญหากับหมอ ทางผู้เสียหายก็แจ้งมาที่เรา เราก็ติดตามดำเนินการให้”นายรุ่งฤทธิ์ กล่าว

นายรุ่งฤทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการทำงานกับหน่วยบริการนั้น ด้วยความที่ตนทำงานมานานรวมทั้งเคยเป็นอนุกรรมการมาตรา 41 หลายปี ทำให้มีความคุ้นเคยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลในพื้นที่เป็นอย่างดี รวมทั้งทางหน่วยฯ จะมีโครงการในลักษณะที่เชิญผู้รับผิดชอบงานประกันสุขภาพของแต่ละโรงพยาบาลเข้ามาร่วมหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประเด็นปัญหา ทำให้เกิดความรู้จักกัน สามารถติดต่อประสานงานเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น โดยเน้นหลักการสำคัญคือการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน 

2

“โชคดีที่โรงพยาบาลรู้จักและสนิทกับเรา เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นก็มีการสื่อสารกัน บางทีโรงพยาบาลก็แจ้งให้เราเข้าไปช่วยดูแลผู้เสียหายเพราะทำได้เร็วกว่าโรงพยาบาลส่งเอง หรือถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานการให้บริการ เราก็จะพยายามสื่อสารกับโรงพยาบาลเพื่อขอให้มีการวางแนวทางหรือระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นซ้ำอีก”นายรุ่งฤทธิ์ กล่าว

สำหรับทิศทางการทำงานในอนาคตนั้น นายรุ่งฤทธิ์มองว่ายังคงต้องทำงานด้านการเผนแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจสิทธิของตัวเองในระบบบัตรทองให้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าแม้จะมีระบบนี้มานานกว่า 20 ปี แต่ถ้าไม่ได้เจอกับตัวเอง ประชาชนก็ยังไม่ค่อยทราบข้อมูลขั้นตอนการร้องเรียน ดังนั้นจึงยังต้องการทำเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจสิทธิที่พึงมีของตัวเองในขั้นที่ลึกขึ้น ไม่ใช่รู้แค่ว่ารักษาฟรีอย่างเดียว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw