ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สมุทรสาคร เดินหน้าให้ความรู้สิทธิบัตรทองแก่ประชาชน หวังช่วยประชากรย้ายถิ่น-แรงงานข้ามชาติ เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขมากขึ้น 


นางอรุณรัตน์ น้อมนพ ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กล่าวถึงภาพรวมการทำงานของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองภายในจังหวัดว่า จังหวัดสมุทรสาคร แม้จะมีขนาดเล็กเพียง 3 อำเภอ แต่ก็มีความซับซ้อนของประชากรสูงมาก เพราะประชากรส่วนมากไม่ใช่ผู้ที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม แต่เป็นคนที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในพื้นที่ มีทั้งแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งผู้ติดตามแรงงานทั้งที่เป็นคนไทยและชาวต่างชาติ การทำงานด้านการเผยแพร่ความรู้และคุ้มครองสิทธิจึงค่อนข้างยาก เช่นเดียวกับการใช้สิทธิรักษาในโรงพยาบาลที่ยังมีปัญหา ซึ่งทางศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทองและเครือข่ายก็พยายามให้ความรู้แก่คนที่เข้ามาทำงานในจังหวัดเพื่อให้ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล ไม่เช่นนั้นเวลาเจ็บป่วยก็ต้องจ่ายเงินเองทั้งๆ ที่มีโอกาสได้รับการดูแลในระบบบัตรทอง

2

นางอรุณรัตน์ กล่าวต่อไปว่า แนวทางการทำงานของศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สมุทรสาคร นั้น จะอาศัยเครือข่ายช่วยกันทำงาน ทั้งนี้เพราะเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่นั้นไม่ได้ขับเคลื่อนแค่เรื่องบัตรทองอย่างเดียว แต่ทำงานในประเด็นอื่นๆด้วย ดังนั้นในเวทีประชุมต่างๆจึงมีการหยิบยกเคสต่างๆเข้ามาพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ทำให้เครือข่ายมีความเข้มแข็งและไม่มีข้อติดขัดในการทำงาน ซึ่งเมื่อมีเครือข่ายที่เข้มแข็งแล้ว ในระยะที่ผ่านมาได้มีการขยายเครือข่ายการทำงานจากระดับอำเภอลงไปถึงระดับตำบล ทั้งเครือข่าย อสม. และภาคีภาคประชาชนอื่นๆ ในการลงไปให้ความรู้ ให้คำแนะนำ รวมทั้งรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาต่างๆจากในพื้นที่

“ถ้าเครือข่ายพบเคสและแก้ปัญหาได้ เขาก็ดำเนินการได้เลย แต่ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ก็จะส่งมาที่หน่วยระดับจังหวัด เราก็จะลงไปประสานงานช่วยเหลือเป็นเคสๆ ไป ปัญหาร้องเรียนไม่ค่อยมี หน่วยบริการก็ดำเนินการไปตามมาตรฐาน แต่ที่พบส่วนมากเป็นเรื่องการให้คำแนะนำและพฤติกรรมบริการ การใช้คำพูดกับผู้ป่วยไม่ดี แม้แต่เรื่องร้องเรียนตามมาตรา 41 ส่วนใหญ่ที่มีข้อติดใจก็ยังเป็นประเด็นเรื่องพฤติกรรมบริการ เช่น แจ้งข้อมูลไม่ครบ ซึ่งถ้าเจ้าหน้าที่พูดคุยอย่างครบถ้วนญาติก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ปัญหาเหล่านี้เราพยายามประสานให้โรงพยาบาลแก้ไข แต่มันก็ยังไม่เห็นผลทันตา”นางอรุณรัตน์ กล่าว

2

นอกจากนี้ เรื่องคนไร้สิทธิ ไม่มีเอกสารหรือบัตรประชาชน ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่พบปัญหาค่อนข้างมาก การแก้ปัญหานี้กทำได้เพียงเคสบายเคส เพราะไม่รู้ว่าคนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ที่ไหนบ้าง ถ้าพบตัวก็จะช่วยประสานงานให้ได้รับสิทธิ เช่นล่าสุด มีชาวบุรีรัมย์อายุ 76 ปี มาทำงานตั้งแต่อายุ 20 ปี แต่ลงเรือออกทะเลแล้วเอกสารหายหมด ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สมุทรสาคร พยายามช่วยเหลือให้ได้บัตรประชาชน แต่ก็ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการสืบค้น

“เราก็ค่อยๆทำไป พบตัวแล้วก็แก้ปัญหา เพราะถ้าให้ลงไปตามหาก็คงจะยาก พื้นที่เราเล็กก็จริงแต่ลักษณะประชากรมีความหลากหลาย”นางอรุณรัตน์ กล่าว

2

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนงานในอนาคต นางอรุณรัตน์ กล่าวว่า จะยังเน้นการขับเคลื่อนการทำงานใน 2 ประเด็นหลักข้างต้น รวมทั้งอยากให้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งสิทธิในสถานบริการด้วยเพื่อให้ประชาชนทราบว่าบริการได้ไหนใช้สิทธิได้ บริการไหนใช้ไม่ได้ เพราะแม้ศูนย์คุ้มครองสิทธิบัตรทอง จ.สมุทรสาคร จะทำเรื่องประชาสัมพันธ์อยู่ แต่จะให้เป็นที่รับรู้ในพื้นที่ทั้งหมดก็คงยาก รวมทั้งประเด็นเรื่องการเรียกเก็บเงิน extra billing เช่น เก็บค่ายานอกบัญชียาหลัก ซึ่ง จ.สมุทรสาครมีค่อนข้างมาก แต่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่ติดใจ คิดว่าเงินไม่กี่บาท ไม่อยากมีเรื่องร้องเรียน เลยยอมจ่ายไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw