ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนกลุ่ม ‘Nurses Connect’ สะท้อน 5 มาตรการ สปสช.ช่วยลดภาระงาน เชื่อเป็นก้าวที่ดีให้บุคลากรการแพทย์ ชี้ เชื่อมโยงข้อมูลกับ สธ. ต้องระวังความปลอดภัย ส่วนการส่งเสริมสุขภาพประชาชน ต้องจับมืออีกหลายหน่วยงาน


น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ จากเครือข่ายกลุ่ม Nurses Connect เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่า 5 มาตรการลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ ของ สปสช. ที่ประกาศ เมื่อ 7 ส.ค. 2566  นับเป็นสัญญาณที่ดีอย่างมาก เพราะสะท้อนว่า สปสช. เห็นความสำคัญถึงประเด็นปัญหาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะมาตรการการพัฒนาระบบการบันทึกฐานข้อมูล และระบบ API เชื่อมโยงข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งจะช่วยลดภาระงานได้มาก   

ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังในเรื่องของข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นข้อมูลส่วนตัว โดยต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของข้อมูล และต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการโจมตีข้อมูลจากแฮกเกอร์ ซึ่งมักจะพบบ่อยครั้งในระยะหลัง ที่มีการแฮกเข้าระบบฐานข้อมูลของผู้ป่วย

"บ่อยครั้งในหน่วยบริการ หรือโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะต้องบันทึกข้อมูลของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมด หรือบางเคสอาจเริ่มต้นการรักษาใหม่และบันทึกข้อมูลใหม่เลย เพราะระบบข้อมูลที่ผ่านมาไม่ได้เชื่อมโยงกันระหว่างสองหน่วยงาน ซึ่งหากเป็นระบบเดียวกัน จะช่วยทั้งผู้ป่วยให้ไม่ต้องเสียเวลามาตรวจซ้ำ และต้องรอเวลานานเพื่อทำการรักษาใหม่ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ก็จะมีระบบที่กรอกข้อมูลได้สะดวกขึ้น" น.ส.สุวิมล ระบุ

น.ส.สุวิมล กล่าวต่อไปว่า ส่วนอีกมาตรการที่สำคัญจาก สปสช. อย่างการส่งเสริมสุขภาพในหมู่ประชาชนเพื่อป้องกันโรค ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยให้ระบบบริการสุขภาพมีความยั่งยืน ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์ และทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีด้วยตัวเอง  ทว่า อาจมีปัจจัยหลายอย่างที่ไม่สามารถทำให้ดูแลตัวเองได้ เช่น ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งไม่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพตนเอง ฉะนั้น สปสช. และ สธ. อาจต้องแสวงหาความร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงาน เพื่อให้มีการขับเคลื่อนประเด็นส่งเสริมสุขภาพให้มากขึ้น 

นอกจากนี้ ในส่วนการจะมีกลไกเพื่อหารือกับผู้ให้บริการสุขภาพ ก่อนมีชุดสิทธิประโยชน์ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ถือเป็นเรื่องดีที่จะมีการพูดคุยกันก่อนกับผู้ให้บริการ เพราะชุดสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ให้กับประชาชนสิทธิบัตรทอง ในบางพื้นที่อาจขาดบุคลากรที่จะขับเคลื่อน รวมถึงสถานการณ์บุคลากรทางการแพทย์ในปัจจุบันยังคงอยู่ในวิกฤตขาดแคลน 

น.ส.สุวิมล กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาภาระงานของพยาบาลวิชาชีพโดยเฉพาะ ปัจจุบัน สธ. อาจต้องมาดูอย่างจริงจังว่าพยาบาลมีภาระหน้าที่อย่างไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะกับงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบริบาลผู้ป่วย เพราะในสถานการณ์จริง พยาบาลยังต้องทำทั้งงานเอกสาร บันทึกข้อมูลต่างๆ หรือบางพื้นที่ยังต้องจดบันทึกด้วยมือ ไม่ใช่ระบบเทคโนโลยี