ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลวิจัยในวารสาร Heliyon ซึ่งเป็นวารสารที่เกี่ยวกับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และสุขภาพระดับโลก เมื่อ 13 ส.ค. 2566 โดยค้นพบว่า ผู้สูงอายุที่เล่มเกม “ไขปริศนาดิจิทัล” จะมี “สมาธิและความจำ” ดีกว่า ผู้สูงอายุที่ “ไม่เล่นเกมดิจิทัล” หรือเกมอื่นๆ เลย 

นอกจากนี้ ในกลุ่มคนหนุ่มสาววัยรุ่น ยังพบว่าการเล่นเกม “แนววางแผน” ส่งผลให้พวกเขามี “ความจำที่ดี” ซึ่งเชื่อมมายังระบบการจัดการในการทำงานได้ดีกว่าเดิม เมื่อเทียบกับผู้ไม่เคยเล่นเกมใดๆ และดีกว่าผู้ที่เล่นเกมแนวแอคชั่นด้วย 

ทั้งนี้ ในการทดลอง ทีมนักวิจัยได้เริ่มตั้งต้นโจทย์จากกระบวนการพัฒนาความสามารถของหน่วยความจำในการทำงาน ที่สามารถเก็บเป็นข้อมูลเอาไว้ในใจ และสามารถเรียกหยิบข้อมูลนั้นมาต่อยอดให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ได้ 

สำหรับการนำ “วิดีโอเกม” มาเป็นเครื่องมือในการทดลอง เนื่องจากผู้ที่เล่นอาจได้รับผลกระทบต่อความทรงจำในการทำงาน และความสามารถในการรับรู้ ขณะที่มีสิ่งเร้าต่างๆ รบกวนสมาธิ โดยได้ทดลองกับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 482 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงจำนวน 297 คน ขณะที่อายุของผู้เข้าร่วมอยู่ระหว่าง 18-81 ปี แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามช่วงอายุ คือ อายุ 18-30 ปี และอายุ 60-81 ปี 

ส่วนการเก็บข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย ทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเล่นวิดีโอเกมในทุกรูปแบบอุปกรณ์ ประเภทของเกม และระยะเวลา ความถี่ที่เล่น รวมไปถึงการทดลองการเล่นเกมที่มีเงื่อนไขเพื่อประเมินสมาธิ และความจำของผู้เล่น

ดร.โจ คัทติง (Dr.Joe Cutting) หนึ่งในทีมนักวิจัย จากภาควิชากวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยยอร์ค กล่าวว่า เกมปริศนาสำหรับผู้สูงอายุ มีส่วนสนับสนุนทางด้านจิตใจ โดยเฉพาะในด้านความจำให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าได้กับคนอายุ 20 ปีที่ไม่เคยเล่นเกมปริศนาใดๆ มาก่อนเลย 

"เกมปริศนามีผลต่อความทรงจำของผู้สูงอายุ เพราะการเล่นเกมจะเพิ่มความจุในหน่วยความจำของสมอง และผู้สูงอายุที่เล่นเกมปริศนา จะเพิกเฉยต่อสิ่งรบกวนอื่นๆ ได้ดีกว่าผู้สูงอายุรายอื่นที่ไม่เล่นเกม" ดร.คัทติง กล่าว 

2

ขณะที่ในส่วนของคนหนุ่มสาวที่เล่นเกมปริศนาเหมือนกัน แต่ทีมนักวิจัยกลับไม่พบว่าเกมประเภทนี้มีส่วนเชื่อมโยงมายังประสิทธิภาพความจำของคนกลุ่มนี้ ซึ่งต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าเพราะเหตุใด เกมปริศนาจึงมีผลต่อผู้สูงอายุเท่านั้น และในทางกลับกัน เกมแอคชั่น กลับไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ต่อผู้สูงอายุหากเล่นเกมแนวนี้ 

ผลการศึกษาดังกล่าว ทำให้เกิดความสนใจขึ้นอย่างแพร่หลายจากนักวิชาการ รวมถึงในวงการแพทย์ ดร.เรฮาน อาซิซ (Dr.Rehan Aziz) จิตแพทย์ผู้สูงอายุ จากศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยเจอร์ซีย์ชอร์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผลการศึกษานี้น่าสนใจอย่างมาก ที่พบว่าการเล่นเกมมีผลต่อความจำในการทำงาน 

"หน่วยความจำในการทำงานเป็นระบบที่ซับซ้อนที่สุดระบบหนึ่งของเรา มนุษย์ใช้ความทรงจำหรือประสบการณ์ที่มีอยู่ในหัวสำหรับงานประจำวัน เช่น การคิดเลขในใจ การทำตามคำแนะนำ การแก้ปัญหา การเรียนรู้ และอื่นๆ” เขาอธิบาย “แต่ก็ยอมรับว่าประหลาดใจไม่น้อย ที่เกมวางแผนและเกมแอคชั่น ไม่มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ”

ทว่า สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ชอบเล่นเกมผ่านมือถือ อาจหันมาสนใจการออกกำลังกาย หรือเลือกทำกิจกรรมกระตุ้นสมอง เช่น  ซูโดกุ ปริศนาอักษรไขว้ และการอ่าน เป็นอาทิ ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพความทรงจำได้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมุมจาก ดร.สเตลลา ปาโนส (Dr.Stella Panos) ผู้อำนวยการฝ่ายประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยาศาสตร์แปซิฟิกซานตาโมนิกา สหรัฐอเมริกา ที่มองว่า การศึกษานี้ อาจต้องทำเพิ่มเติมให้ครอบคลุมมากขึ้นก่อนจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า วิดีโอเกมมีผลต่อความจำของผู้คนอย่างไร 

“สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่า การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงสังเกต และไม่ได้หมายความว่า การเล่นเกมจะนำไปสู่การทำงานที่ดีขึ้นเสมอไป อาจเป็นไปได้ว่า การตั้งค่าเกมแตกต่างกันไปตามความสามารถทางปัญญาและอายุ” ดร.ปาโนส สะท้อนมุมมอง 

อ่านบทความต้นฉบับและงานวิจัย : 
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2405844023063065
https://www.medicalnewstoday.com/articles/could-digital-puzzle-games-help-improve-memory